HomeBrand Move !!“ภาษีสินค้าแบรนด์เนม” ดับฝันไทยเป็น “Shopping Destination” เทียบชั้นฮ่องกง – สิงคโปร์

“ภาษีสินค้าแบรนด์เนม” ดับฝันไทยเป็น “Shopping Destination” เทียบชั้นฮ่องกง – สิงคโปร์

แชร์ :

resize-shutterstock_137472656

ปัจจุบันธุรกิจศูนย์การค้า เป็นภาคธุรกิจอันดับ 2 ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ รองจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่อันดับ 3 คือ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันนี้พัฒนาการของศูนย์การค้าในประเทศไทย กำลังก้าวมายืนบนเวทีการแข่งขัน ทั้งระดับเอเชีย และระดับโลก เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นหนึ่งใน “World-class Shopping Destination” 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“สมาคมศูนย์การค้าไทย” หรือ “TSCA” นำโดย คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย เผยถึง “จุดแข็ง” ที่สร้างความได้เปรียบ และ “ข้อจำกัด” ของการผลักดันให้ศูนย์การค้าไทย ก้าวเป็น “Shopping Destination” เทียบชั้นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง “ฮ่องกง” และ “สิงคโปร์” โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจของกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการศูนย์การค้าไทย ในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่โฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของประเทศ และมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี

จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว ปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยมากถึงเกือบ 30 ล้านคน เติบโตเพิ่มจากปี 2557 ถึง 20.44% และทำรายได้ทะลุเป้าสูงถึง 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งหลังจากเปิดตลาด AEC อย่างเต็มรูปแบบ มีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มอีกอย่างมหาศาล ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอันเข้มข้นยิ่งขึ้นระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เราจึงต้องเร่งเครื่องพัฒนาธุรกิจศูนย์การค้าให้มีความโดดเด่น เพื่อสร้างจุดแข็งให้ประเทศไทย สามารถแข่งขันบนเวทีการค้าระดับภูมิภาค และระดับโลก

“จุดเด่น” ธุรกิจศูนย์การค้าไทย สร้างโอกาสการแข่งขัน

“จุดแข็ง” หรือความโดดเด่นของธุรกิจศูนย์การค้าไทย ที่ทำให้สามารถแข่งขันได้กับ Shopping Destination อันดับต้นๆ ของโลก ประกอบด้วย

1. ผู้ประกอบการศูนย์การค้าทุ่มเงินลงทุน พัฒนาโครงการ ทั้งในกรุงเทพฯ เช่น ย่าน Central Bangkok (ราชประสงค์ – เพลินจิต), ย่านสยามสแควร์ ที่ผู้ประกอบการค้าปลีกผนึกกำลังกันเป็น Siam Synergy และโซนสุขุมวิท ที่มี EM District, เมืองท่องเที่ยวหลัก และหัวเมืองสำคัญที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบัน ศูนย์การค้าในประเทศไทยมีพื้นที่ Retail GFA รวมทั้งหมดกว่า 18 ล้านตารางเมตร โดยมีพื้นที่ Retail GFA ของศูนย์การค้าในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ รวมกันกว่า 7.6 ล้านตารางเมตร จาก 91 ศูนย์การค้า คิดเป็น 42% ของพื้นที่ Retail GFA ของศูนย์การค้าในประเทศไทยทั้งหมด

ภายในปี 2560 ศูนย์การค้าในประเทศไทยจะมีพื้นที่ Retail GFA เพิ่มขึ้นเป็น 18.7 ล้านตารางเมตร โดยเป็นพื้นที่ของสมาชิกสมาคมฯ 8 ล้านตารางเมตร ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกันกว่า 70,000 ล้านบาท

resize-shutterstock_449839378

2. ความหลากหลายของประเภทศูนย์การค้า ทำให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ทั้งผู้บริโภคไทย และคนต่างประเทศ ซึ่งตามข้อมูลของสมาคมศูนย์การค้ไทย ฉายภาพประเภทศูนย์การค้าในประเทศไทย แบ่งเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่

– Regional Mall ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ให้เช่าตั้งแต่ 40,000 – 100,000 ตารางเมตรขึ้นไป ครอบคลุมกำลังซื้อ 400,000 คนขึ้นไป โดยอาจมีห้างสรรพสินค้า หรือไม่มีห้างสรรพสินค้าก็ได้

– Mega Mall ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มี Theme Concept ของศูนย์ที่ชัดเจน อาจจะมีห้างสรรพสินค้า หรือไม่มีห้งสรรพสินค้าก็ได้ แต่จะมีผู้เช่ารายใหญ่ (anchor) เป็นแม่เหล็กดึงดูด โดยมีพื้นที่ให้เช่าตั้งแต่ 260,000 ตารางเมตรขึ้นไป ครอบคลุมกำลังซื้อ 1,000,000 คน

– Community Mall และ Neighborhood Mall กำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการในปัจจุบัน มีพื้นที่ให้เช่าตั้งแต่ 5,000 – 40,000 ตารางเมตร และมีห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กอย่างน้อย 1 ห้าง หรืออย่างน้อยต้องมีซูเปอร์มาร์เก็ต ครอบคลุมกำลังซื้อ 5,000 – 20,000 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ซึ่งกำลังซื้ออยู่ในบริเวณรัศมี 4 – 6 กิโลเมตร

– Specialty Mall ศูนย์การค้าที่มีลักษณะธุรกิจเฉพาะ มีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 – 37,500 ตารางเมตร มักจะไม่มีห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ครอบคลุมกำลังซื้อ 1,000 – 150,000 คน

– Luxury Mall ศูนย์การค้าที่เจาะกลุ่มไฮเอนด์ ประกอบด้วย ร้านค้าแบรนด์หรูหรา แบรนด์เนมระดับโลก หรือ Top Brand ในเมืองไทย มักสร้างติดกับโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ดึงดูดนักท่องเที่ยว และลูกค้ากลุ่ม A+

3. การผนึกกำลังกันของผู้ประกอบการศูนย์การค้าในประเทศไทย เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ และทิศทางให้ตอบรับนโยบายภาครัฐ ทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยว และส่งเสริม SME ขณะเดียวกันผู้ประกอบการศูนย์การค้าแต่ละราย สื่อสารการตลาดและจัดกิจกรรม ดึงดูดทั้งลูกค้าไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาช้อปปิ้ง

“ข้อจำกัด” ผลักดันไทยเป็น Shopping Destination

คุณวัลยา กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งช้อปปิ้ง ศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ และความบันเทิงหลากหลาย บวกกับการพัฒนาของระบบคมนาคมขนส่ง ที่สร้างความสะดวกในการเดินทางได้มากขึ้น แต่ “ข้อจำกัด” ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “Shopping Destination” หรือ “Tourist Destination” เทียบชั้นสิงคโปร์ และฮ่องกง คือ “ราคาสินค้า Luxury Brand และ Brand Name” ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบทางการแข่งขัน

“ปัจจุบันไทยเก็บภาษีสินค้า Luxury Brand และ Brand Name อยู่ที่ประมาณ 30 – 70% โดยขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า หากเราสามารถข้ามขีดจำกัดภาษีสินค้า Luxury Brand และ Brand Name ไปได้ จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Tourist Destination ที่ดีที่สุด สามารถแข่งขันได้ เทียบเท่าชั้นสิงคโปร์ และฮ่องกง”

resize-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%a2%e0%b8%b2-%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b9%8c-%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%aa

คุณวัลยา จิราธิวัฒน์

ภารกิจสำคัญของสมาคมฯ ในขณะนี้ คือ การผลักดัน “นโยบายลดภาษีสินค้า Luxury Brand และ Brand Name” เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยล่าสุดทางสมาคมฯ ได้มีการเข้าพบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง และกระทรวงพานิชย์ เพื่อหารือ และผลักดันให้เกิดนโยบายนี้ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยเทียบชั้น Destination ระดับโลก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลก และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

“ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาไทย 30 ล้านคน ตัวเลขการใช้จ่ายนักท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45,000 – 49,000 บาทต่อคนต่อทริป หรือคิดเป็น 5,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยในจำนวน 5,000 บาท เป็นการช้อปปิ้งประมาณ 1,200 บาทต่อคน ดังนั้นนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ใช่แค่มาท่องเที่ยวอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน คนไทยเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมแล้วมีการใช้เงินประมาณ 170,000 ล้านบาท มีการช้อปปิ้งประมาณ 51,000 ล้านบาท และจากการสำรวจ พบว่าสินค้าที่นิยม คือ Luxury Brand ซึ่งประเทศไทยมีราคาแพง และภาษีนำเข้าสูงมาก

ดังนั้น ถ้าเราสามารถปรับลดภาษีสินค้ากลุ่มนี้ นอกจากกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวช้อปปิ้งมากขึ้นแล้ว เราสามารถใช้ Luxury Brand หรือสินค้า Brand Name ที่นักท่องเที่ยวรู้จักอยู่แล้ว ดึงให้เข้ามาเมืองไทย พอเข้ามาเที่ยวแล้ว เขาจะเห็นสินค้าแบรนด์ไทย สินค้า SME ของไทย ก็ทำให้คนต่างชาติรู้จักแบรนด์ไทยมากขึ้น เกิดความสนใจ และซื้อกลับไป อีกทั้งยังทำให้คนไทยหันมาซื้อสินค้า Luxury Brand และ Brand Name ในประเทศ มากกว่าค่านิยมช้อปปิ้งต่างประเทศ เพื่อทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ”

 

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like