สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เป็นสมาคมยาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีเกณฑ์จริยธรรมเป็นแนวทางให้แก่เหล่าสมาชิก ได้จัดงานเสวนาในเรื่องธรรมาภิบาลในระบบยาในโอกาสที่สมาคมมีการใช้เกณฑ์จริยธรรมโดยสมัครใจมาร่วม 30 ปี
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์และนักวิชาการอาวุโส พร้อมทั้งภาคเอกชนในแวดวงสาธารณสุขเข้าร่วมการเสวนา ทางพรีม่าจึงถือโอกาสนี้เป็นเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการกำกับตนเอง เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ระบบยาของประเทศไทยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการปัจจุบันของหลักธรรมาภิบาลในหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา
โดยโอกาสพิเศษครั้งนี้ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นผู้นำการเสวนาและแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงหลักธรรมาภิบาลว่าเป็นภารกิจสำคัญในระดับต้นๆ สิ่งที่ท้าทายคือการนำเกณฑ์จริยธรรมไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันท่านได้กล่าวว่าแบบอย่างของหลักธรรมาภิบาลที่ดีคือการใช้เกณฑ์จริยธรรมในการทำงานและการควบคุมกันเองในการดำเนินธุรกิจ
ในช่วงเสวนา ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะอนุกรรมการการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวว่าเครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์มีการพิจารณาว่าควรมีการรับรองให้แก่บริษัทที่มีแนวทางการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือในขณะนี้
นอกจากนี้ ดร. ภักดี โพธิศิริ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยังได้เน้นย้ำถึงแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกาศเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมทั้งได้กระตุ้นให้ภาคเอกชนดำเนินการตามมาตรฐานขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
“พรีม่าได้พัฒนาแนวเกณฑ์จริยธรรมของสมาคมอย่างน้อยทุกๆ สองปี โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล การพัฒนาภายในประเทศ และแนวโน้มของธุรกิจ ดังนั้น เกณฑ์จริยธรรมของเราจึงมีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ และเป็นเทคนิคการตลาดที่เหมาะสมที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการใช้ยาต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย” ภญ.บุษกร เลิศวัฒนสีวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) และในฐานะผู้จัดงานครั้งนี้ได้กล่าวว่า “เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากการแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมตนเอง เพื่อทำให้แน่ใจว่าปฏิสัมพันธ์ต่างๆเป็นไปอย่างมืออาชีพตามหลักจริยธรรม”
เกณฑ์จริยธรรมของพรีม่าปัจจุบันดำเนินมาถึงฉบับที่ 10 โดยเนื้อหาสาระครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสมาชิกและบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วย อีกทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทและบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปบนพื้นฐานว่าข้อมูลต้องถูกต้องเป็นจริง และมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ