เป็นบิ๊กดีลในแวดวงธุรกิจที่น่าจับตามอง เมื่อกลุ่มทุนใหญ่อย่าง “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” และ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจสื่อชื่อดัง
“กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” โดยบริษัท วัฒนภักดี จำกัด เข้าถือหุ้น “บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ที่มีทั้งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจ New Media – Event และธุรกิจทีวีดิจิตอล ในสัดส่วน 47.62% มูลค่ากว่า 850 ล้านบาท
ขณะที่ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” โดยบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่มี “ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทดังกล่าว ได้เข้าถือหุ้นจากการเพิ่มทุนบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ผู้ประกอบกิจการช่อง ONE ในสัดส่วน 50% ทำให้ปัจจุบัน บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง จากเดิม 51% เหลืออยู่ที่ 25.50% กลุ่มถกลเกียรติ วีรวรรณ จากเดิมถือหุ้น 49% ลดเหลือ 24.50% และปรมาภรณ์ ถือหุ้น 50%
การที่ผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อ มีกลุ่มทุนใหญ่เข้าถือหุ้น ขณะเดียวกันกลุ่มนายทุน สนใจร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน (Win – Win Situation)
“เงินทุน” จากกลุ่มทุนใหญ่ ติดปีกธุรกิจสื่อ
การเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่ แน่นอนว่าผลประโยชน์หลักที่ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อจะได้ คือ “เงินลงทุน” เพราะในยุคที่ธุรกิจสื่ออยู่ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายครั้งใหญ่ ทั้งพฤติกรรการบริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันรุนแรง ทั้งยังเกิดสื่อดิจิตอลมากมาย ดังนั้น การจะเติบโตในอนาคตอย่างมั่นคง และต่อยอดธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “สานป่านยาว”
นั่นคือ มีเงินทุนหมุนเวียนใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจ “ทีวีดิจิตอล” ขึ้นชื่อว่าเป็นโจทย์หินที่สุด เพราะต้องมีเงินทุนสูง สำหรับพัฒนาคอนเทนต์, การสร้างแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจากสื่อโทรทัศน์, เทคโนโลยีการผลิตและการออกอากาศ, ด้านบุคลากร และการสื่อสารการตลาด ซึ่งการสร้างแบรนด์สถานียังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อทำให้ผู้บริโภคจดจำ ควบคู่ไปกับการโปรโมตคอนเทนต์ต่างๆ
อย่างกรณีการเพิ่มทุนและขายหุ้นของ “กลุ่มอมรินทร์” ให้กับ “บริษัท วัฒนภักดี จำกัด” ที่มี “ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าว มาจากการที่กลุ่มอมรินทร์ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ทั้งกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ และกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิตอล ช่อง “อมรินทร์ทีวี HD34” ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีต้นทุนดำเนินการสูง กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยความแข็งแกร่ง และผลักดันให้เป็น “ธุรกิจมีเดียครบวงจร” หลังจากในช่วงสองปีที่ผ่านมา กลุ่มอมรินทร์ได้ดำเนินกลยุทธ์ Omni-media ด้วยการเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยยังคงสนับสนุนการทำงานของทีมบริหารเดิม
ส่วนการเพิ่มทุนของ “ช่อง ONE” (วัน เอ็นเตอร์ไพรส์) แม้ปัจจุบันติด Top 5 ทีวีดิจิตอล และละครบางเรื่องได้รับความนิยมสูงจากผู้ชม เช่น พิษสวาท ที่ทำให้ช่อง ONE เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น แต่เพื่อทำให้สถานีแข็งแรงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในระดับการทำงานที่ใหญ่ขึ้น จึงได้ตัดสินใจเพิ่มทุน
โดยได้ “บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด” เป็น Holding Company ที่จะลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่เห็นว่ามีกำไรและมีอนาคต อย่างการร่วมทุนในครั้งนี้ เพราะมองเห็นศักยภาพของช่อง และโอกาสในธุรกิจสื่อ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ PPTV และไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหาร และทีมบริหารของช่อง ONE
กลุ่มทุนต้องการ “Own Media”
ขณะที่ประโยชน์หลัก “กลุ่มทุน” จะได้จากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ “การมีสื่อของตนเอง” (Own Media) สำหรับใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ รวมถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกลุ่มธุรกิจในเครือ
ทั้ง “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” และ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” ถือเป็น Big Conglomerate ของเมืองไทยที่มีธุรกิจในมือมากมาย
อาณาจักรของ “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” หรือ “กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” (TCC Group) มี 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า, กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน, กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
ขณะที่ อาณาจักรของ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” ครอบคลุมทั้งธุรกิจ Health & Wellness ดำเนินการภายใต้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ Bangkok Dusit Medical Service (BDMS), ธุรกิจสายการบิน โดย บมจ.การบินกรุงเทพ ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์, ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ “PPTV” ดำเนินการภายใต้บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (BMB)
“การเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่ใน “ธุรกิจสื่อ” เป็นการเสริมซึ่งกันและกัน เพราะเป็น Win-Win คนในธุรกิจสื่อไม่ได้ทุนหนาเท่ากับนักลงทุน และเงินทุนก็หายาก แต่การมีกลุ่มทุนรายใหญ่มาร่วมลงทุนด้วย ทำให้สถานีโทรทัศน์มีเงินทุนไปพัฒนาเทคโนโลยี และคอนเทนต์ หรือแม้แต่ซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศ ทำให้เกิดการกระตุ้นอุตสาหกรรมสื่อ และวงการนี้จะพัฒนาและเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันช่องทางเหล่านี้สามารถเป็น “Own Media” ให้กับกลุ่มทุนได้ เพื่อใช้สำหรับสื่อสารสินค้าและบริการของตนเอง โดยสามารถทำได้เชิงลึก และยืดหยุ่นมากกว่าการไปซื้อสื่อ (Paid Media) โดยสื่อโทรทัศน์มี Penetration สูง และยังคงเป็นสื่อหลักของประเทศไทยที่สามารถเข้าถึงคนได้ทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ที่โทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลัก
ดังนั้นถ้ากลุ่มทุน ต้องการสื่อสารสินค้าและบริการของตนเองไปสู่กลุ่มกว้าง (Mass Consumer) โทรทัศน์จึงเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันทุกวันนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ ไม่ได้มีเฉพาะสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อประเภทใดประเภทหนึ่งอย่างเดียว แต่ได้ขยายแพลตฟอร์มไปหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือสื่อดิจิตอล ที่คอนเทนต์บนโทรทัศน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสื่อดิจิตอลเช่นกัน” คุณธราภุช จารุวัฒนะ CEO , IPG Mediabrands ประเทศไทย แสดงทรรศนะ
Content is King – Platform is Queen
ด้วยพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้มี Journey สำเร็จรูปแบบในสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะผู้บริโภคแต่ละคน แต่ละกลุ่ม มีการรับสื่อที่หลากหลาย และแตกต่างกัน
หัวใจหลักจึงอยู่ที่การขยายให้เป็น “Multi-Platform” และ “ผสมผสาน” แต่ละประเภทเข้าด้วยกัน เพื่อนำพา “คอนเทนต์” ไปอยู่ใกล้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด เช่นกรณี “ทีวีดิจิตอล” ผสานเข้ากับสื่อออนไลน์ โดยสื่อทีวี มีประสิทธิภาพเข้าถึงคนกลุ่มกว้าง ขณะที่สื่อออนไลน์ เหมาะสำหรับการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
“วันนี้ทุกคนเจอการเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน ผู้บริโภคเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน มีเดียเปลี่ยน แต่ละฝ่ายต้องหาวิธีการปรับตัว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิด Ecosystem ที่บูรณาการร่วมกันทั้งฝั่งของสื่อ, เอเยนซี่ และผู้ลงโฆษณา เนื่องจากสื่อทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่ Offline Platform เท่านั้น แต่ต้องผสมผสานเข้ากับ Online Platform
ในประเทศไทย “ทีวี” เป็นสื่อหลักมาโดยตลอด แต่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทีวีมี Fragmentation มากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของออนไลน์ ดังนั้นสื่อทีวีต้อง Plus กับออนไลน์ ไม่ใช่แค่ออกอากาศบนแพลตฟอร์มทีวีอย่างเดียว แต่ต้องนำคอนเทนต์ไปอยู่บนออนไลน์ ทีวี เช่น YouTube เพื่อเอาคอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มผู้ชม” คุณสรรค์ฉัตร จันทร์สระแก้ว Managing Director, Dentsu 360 กล่าว
ที่สำคัญ ไม่ว่าจะบูรณาการสื่อแต่ละแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันอย่างไร “คอนเทนต์” ยังคงเป็นกุญแจที่ทำให้ช่องทีวีดิจิตอลได้รับการยอมรับจากผู้ชม
ที่ผ่านมา พบว่ากระแส Talk of the town ของบางคอนเทนต์ มาจากช่องทางออนไลน์ เช่นกรณีซีรีย์ Hormones หรือบางคอนเทนต์ ได้ออนไลน์มาช่วยจุดพลุให้กระแสเป็นที่พูดถึงมากขึ้น อย่างละครพิษสวาท นี่เป็นตัวอย่างของ Content is King
“Online กับ Offline ปัจจุบันไม่สามารถแยกกันได้ ต้อง Synergy เพราะบางครั้งกระแส Online ทำให้ดึงคนไปดูใน Offline ขณะเดียวกันกระแส Offline ก็สามารถดึงคนไปดูบน Online ได้เช่นกัน” คุณสรรค์ฉัตร สรุปทิ้งท้าย
เพราะฉะนั้น ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิตอลในปี 2560 และต่อไปในอนาคต หลังจากกลุ่มทุนใหญ่เข้ามา คาดว่าจะมีการแข่งขันด้าน “คอนเทนต์” ที่รุนแรงขึ้น และจะมีการลงทุนพัฒนาสู่ “Multi-Platform” อย่างเต็มรูปแบบ เพราะในสนามการแข่งขันของธุรกิจสื่อรายใหญ่ แต่ละค่ายต้องการเป็น “ธุรกิจสื่อครบวงจร” ที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านคอนเทนต์ และมีครบทุกแพลตฟอร์มหลัก เพื่อผลักดันให้คอนเทนต์ของตนเองเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ชมให้ได้มากที่สุด
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand