ถึงแม้ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่นัก แต่เมื่อมองมายังการลงทุนของภาคเอกชน ช่วงปีที่ผ่านมา ได้เห็นความคึกคักของการเปิดตัวแบรนด์ใหม่จากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งจากคนไทย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ
Brand Buffet ได้รวบรวม 10 แบรนด์ใหม่มาแรงที่เปิดตัวในปี 2559 และเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ ทั้งอาหารการกิน ไปจนถึงสถานที่ช้อป ชิม ชิลล์ มาดูกันว่ามีแบรนด์อะไรกันบ้าง!!
เปิดบ้าน “Moomin Café” ครั้งแรกในไทย
เป็นคาเฟ่สุดน่ารักแห่งปี 2559 ก็ว่าได้ สำหรับร้าน “Moomin Café” (มูมิน คาเฟ่) เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เป็นร้านคาเฟ่คาแรคเตอร์การ์ตูนจากเรื่อง “The Moomins” ครอบครัวตัวโทรล์ หรือภูตพิทักษ์ป่าสีขาว อ้วน จมูกใหญ่ ที่ถือกำเนิดในฟินแลนด์ จากปลายปากกาของ Tove Jansson ผู้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1945 กระทั่งโด่งดังไปทั่วโลกถึงวันนี้ รวมทั้งในประเทศไทย ก็มีสาวกมูมินเช่นกัน
ปัจจุบัน “Moomin Cafe” เปิดสาขาในหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, เกาหลี, จีน, สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ขณะที่ในไทย เป็นสาขาแรกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเข้ามาเปิดโดย “บริษัท เพรสเซนท์ เทล จำกัด” ซึ่งต่อยอดธุรกิจ จากก่อนหน้านี้เป็นผู้ได้รับลิขสิทธ์ผลิตตุ๊กตามูมิน จำหน่ายที่สยามพารากอน
“Ben & Jerry’s” ไอศกรีมพรีเมียมจากอเมริกา เสิร์ฟความเย็นถึงไทย
หลังจาก “ยูนิลีเวอร์” ซื้อกิจการ “Ben & Jerry’s” (เบน แอนด์ เจอร์รีส) ไอศกรีมสัญชาติอเมริกันอายุกว่า 40 ปี จากสองผู้ก่อตั้ง “เบน โคเฮน” (Ben Cohen) และ “เจอร์รี กรีนฟิลด์” (Jerry Greenfield) ในที่สุด “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” ตัดสินใจนำแบรนด์นี้ เข้ามาเปิดสาขาแรกในไทย ที่สยามพารากอน รวมทั้งขยายเข้าช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต
ความน่าสนใจของแบรนด์นี้อยู่ตรงที่จุดขายการเป็น “แบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคม” เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ ทำจากนมวัวที่ไม่ถูกฉีดสารเร่งโต และไม่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม นอกจากนี้ เบน และ เจอร์รี ได้ร่วมก่อตั้งโครงการ Caring Dairy ที่ใส่ใจทั้งระบบธุรกิจฟาร์มนม ช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงวัวให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการ และมีเวลาเพียงพอสำหรับดูแลครอบครัว ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ เช่น น้ำตาล โกโก้ กาแฟ วานิลลา และกล้วย ได้มาโดยหลักการค้าที่เป็นธรรม
การเอาแบรนด์นี้มาแนะนำสู่ตลาดไทย “ยูนิลีเวอร์” มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดไอศกรีม เซ็กเมนต์พรีเมียมในไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดกว่า 6,800 ล้านบาท ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก เพราะแม้จะมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งและทำตลาดมานานก็ตาม แต่ทุกวันนี้วิถีชีวิตของคนไทยนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และร้านไอศกรีมที่อยู่ตามศูนย์การค้า เป็นหนึ่งในทางเลือกของหวาน ที่คนไทยใช้บริการหลังจากรับประทานอาหารมื้อหลัก หรือในเวลาพักผ่อนเวลามาเดินศูนย์การค้า
ขณะเดียวกันการขายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต สำหรับซื้อกลับไปบ้าน เพื่อเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอกลุ่มผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในการเจาะทุกตลาด ครอบคลุมตั้งแต่แมส ที่ใช้แบรนด์ “วอลล์” รุกตลาด ไปจนถึงเซ็กเมนต์พรีเมียม ใช้แบรนด์ “Ben & Jerry’s”
“Godiva” ช็อกโกแลตในตำนานจากเบลเยียม สู่ไทย
ทำเอาเหล่า Chocolate Lover เฮไปตามๆ กัน เมื่อแบรนด์ช็อกโกแลตในตำนานอย่าง “Godiva” จากกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1926 ถึงวันนี้เป็นเวลา 90 ปีแล้ว เข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ และได้ขยายอีก 2 สาขา คือ สยามพารากอน และ เซ็นทรัลชิดลม จากปัจจุบัน Godiva มีสาขาเปิดให้บริการมากกว่า 600 ร้านทั่วโลก
การเข้ามาของแบรนด์ระดับตำนาน สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางสังคมของประเทศไทย ที่นับวันความเป็นเมือง (Urbanization) และกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle Class) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้สังคมเมืองของไทยกำลังก้าวไปสู่ความเป็น “Premiumization” ที่สินค้าและบริการยกระดับจากทั่วไป (Mainstream) ไปสู่ความเป็นพรีเมียมมากขึ้น
“Think Space B2S” การปรับตัวครั้งใหญ่ของร้านหนังสือและเครื่องเขียน
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามา Disrupt ธุรกิจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ร้านหนังสือ-เครื่องเขียน และสื่อบันเทิง เมื่อต้องเผชิญกับภาวะออนไลน์กลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญ อีกทั้งไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคซับซ้อนขึ้น ทำให้ “B2S” กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล ต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาคอนเซ็ปต์ใหม่ “Think Space B2S” ตั้งอยู่ในโครงการเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ โดยต้องการให้เป็น “Third Place” ที่นำเสนอประสบการณ์ และไลฟ์สไตล์ให้กับลูกค้า
ภายในแบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ (1) LIFESTYLE BOOK SPACE พื้นที่ “Book Terraces” หรือภูเขาหนังสือไทยและต่างประเทศมากกว่า 100,000 เล่ม โดยแบ่งพื้นที่ย่อยเป็น 12 ไลฟ์สไตล์โซน (2) ART X IDEA SPACE พื้นที่งานศิลป์ และมีสเปซสำหรับสินค้าดีไซน์ที่ได้รางวัล ไม่ว่าจะเป็น Furniture Design, Design Stationery และ Office Accessories
(3) ENTERTAINMENT SPACE พื้นที่หนังและเพลงทั้งไทยและต่างประเทศ และมีร้านเครื่องเสียง B&O Play by Bang & Olufsen (4) PLAY X LEARN SPACE แหล่งรวมโรงเรียนสอนทักษะเพื่อการเรียนรู้และเสริมจินตนาการสำหรับเด็ก และ (5) NETWORKING SPACE พื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดและไอเดียใหม่ๆ ก่อให้เกิดคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนต่างๆ
“Starbucks Teavana” ได้เวลารุกตลาดชา
เป็นที่ฮือฮาพอสมควร เมื่อ “Starbucks” ประกาศลุยตลาดเครื่องดื่มชา ธุรกิจขาที่สองต่อจากเครื่องดื่มกาแฟที่ประสบความสำเร็จไปแล้วนั้น ด้วยการนำแบรนด์ชา “Teavana” (ทีวาน่า) รุกตลาด 16 ประเทศ 6,200 สาขา ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
สำหรับการนำแบรนด์ “Teavana” เข้ามาให้บริการในประเทศไทย จำหน่ายผ่านร้าน Starbucks ทั้ง 275 สาขาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของแบรนด์ “Teavana” ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินธุรกิจร้าน “Teavana” จำหน่ายเครื่องดื่มชา และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชาจากแหล่งปลูกทั่วโลก ต่อมาในปี 2012 “Starbucks” ได้เข้าซื้อกิจการ เพื่อเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอกลุ่มเครื่องดื่มให้มีมากกว่ากาแฟ ทำให้สามารถตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่ดื่มกาแฟ และกลุ่มที่ไม่ดื่มกาแฟ ซึ่งเครื่องดื่มชา ในตลาดโลกถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากน้ำดื่ม
“PABLO” ชีสทาร์ตจากญี่ปุ่น ท้าชิงตลาดเบเกอรี่ในไทย
เป็นอีกแบรนด์ที่สร้างปรากฏการณ์ต่อแถวยาวหน้าสยามพารากอน ทันทีที่ร้าน “PABLO” (พาโบล) ชีสทาร์ตชื่อดังจากเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย “บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” ที่มีทายาทกลุ่มโรงแรมใบหยก “ปิยะเลิศ ใบหยก” เป็นประธานบริหาร ได้รับสิทธิ์จาก “บริษัท DOROQUIA HOLATHETA” ประเทศญี่ปุ่น ในการนำเข้าแบรนด์ชีสทาร์ต “PABLO” เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 4 ของตลาดนอกญี่ปุ่น ต่อจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันยังได้ตั้งเป้าขยายสาขา ให้ได้ 8 สาขา ภายใน 5 ปี
“LeTAO” ชีสเค้กจากญี่ปุ่น ร่วมเขย่าตลาดเบเกอรี่และเค้ก
ปี 2559 เป็นปีทองของเบเกอรี่สัญชาติญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะนอกจาก PABLO แล้ว ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่เข้ามาบุกตลาดไทย หนึ่งในนั้นคือ “LeTAO” (เลอ ทา โอะ) แบรนด์ชีสเค้กและเบเกอรี่จากเมืองโอทารุ เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ที่มีสาขาทั้งในไต้หวัน, เกาหลีใต้, ฮ่องกง ขณะที่ไทย “บริษัท ดีบี กรุ๊ป จำกัด” ได้ไลเซนส์นำเข้ามาทำตลาด ปัจจุบันเปิดแล้ว 3 สาขา ที่สยามพารากอน, ดิ เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลลาดพร้าว คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ จะมี 6 สาขา
“บลูพอร์ต หัวหิน” แลนด์มาร์คใหม่ใจกลางหัวหิน
หลังจากปี 2558 “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เปิดตัวโครงการศูนย์การค้า ภายใต้แบรนด์ใหม่ “ดิ เอ็มควอเทียร์” (The EmQuartier) หนึ่งในจิ๊กซอว์ของการสร้างย่าน EM District ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มาปี 2559 ได้เปิดตัวโครงการศูนย์การค้าแบรนด์ใหม่ที่เป็นการร่วมทุนกับ “พราว เรียล เอสเตท” ก่อตั้ง “บริษัท หัวหิน แอสเสท จำกัด” ร่วมกันสร้าง ศูนย์การค้า สไตล์รีสอร์ทมอลล์ “บลูพอร์ต หัวหิน” ด้วยมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท พัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางเมืองหัวหิน ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากทั่วโลก
เหตุผลที่กลุ่มเดอะมอลล์ และพราว เรียล เอสเตท ต้องการปักธงที่เมืองหัวหิน เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพทางธุรกิจของเมืองหัวหินจากปัจจัยบวกด้านต่างๆ ทั้งการเป็นเมืองท่องเที่ยว และเมืองตากอากาศยอดนิยมของคนไทย ทำเลที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่เชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคใต้ และยังมีระบบคมนาคมที่เดินทางสะดวก
“U Beer” แบรนด์เบียร์น้องใหม่จากสิงห์
นอกจากกิจกรรมการตลาดของแบรนด์เบียร์จาก 3 ค่ายหลักในไทย (สิงห์, ไทยเบฟ, กลุ่มทีเอพี) ก็แทบไม่ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของการเปิดตัวแบรนด์ใหม่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว กระทั่งเมื่อไม่นานนี้ “สิงห์” ได้เผยโฉมแบรนด์น้องใหม่ ชื่อว่า “U Beer” เป็นลาเกอร์เบียร์ ปริมาณแอลกอฮอล์ 5% จำหน่ายในราคาชนกับเบียร์ช้างโดยตรง ส่งเข้าสู่ตลาดเพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
เหตุผลสำคัญที่ “สิงห์” ต้องงัดแบรนด์น้องใหม่เข้าสู้ มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. เพื่อตีกันคู่แข่งรายสำคัญอย่าง “ช้าง” ค่ายไทยเบฟ เพราะหลังจากเบียร์ช้างปรับโฉมแบรนด์และสินค้าครั้งใหญ่ โดยกระชากลุคให้มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเวลานี้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 38 – 39%
2. มีแบรนด์และสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยความที่แบรนด์ “สิงห์” มีภาพลักษณ์เป็นผู้ใหญ่ ขณะที่ “ลีโอ” แม้จะมีกลุ่มผู้ดื่มหลักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงานก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล มีพฤติกรรมและความต้องการเปลี่ยนแปลงเร็วและซับซ้อนขึ้น จึงเริ่มมองหา “ทางเลือกใหม่” ในการดื่ม โดยตัวเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมในคนกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คือ “Craft Beer” เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทยเช่นกัน
นั่นหมายความว่า สิ่งที่บรรดาเบียร์แบรนด์หลักของตลาดต้องเผชิญ ไม่ได้มีเพียงคู่แข่งทางตรงเท่านั้น แต่ยังต้องเจอกับคู่แข่งทางอ้อมอย่าง “Craft Beer” ที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภค Explore ออกไปสู่ประสบการณ์การดื่มใหม่ๆ นี่จึงทำให้การใช้ “แบรนด์ลีโอ” มาเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล จึงไม่ใช่สิ่งที่ Wow! อีกต่อไปแล้ว
ดังนั้นการส่งแบรนด์ “U” เข้าสู่สมรภูมิฟองเบียร์ แม้ไม่ใช่ Craft Beer เพราะด้วยขนาดธุรกิจ จำเป็นต้องมี Economy of Scale แต่ค่ายสิงห์ หวังว่าแบรนด์ใหม่นี้จะเชื่อมต่อกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคนี้ได้สำเร็จ
“โออิชิ อีทเทอเรียม” การกลับมา Disrupt ร้านอาหารญี่ปุ่นอีกครั้ง!
ก่อนส่งท้ายปี 2559 กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร “โออิชิ” เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “โออิชิ อีทเทอเรียม” (Oishi Eaterium) หวังเข้ามา Disrupt ธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟต์ในไทยอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 17 ปีที่แล้ว “โออิชิ” เป็นผู้เปิดตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบบุฟเฟต์
จากวันนั้นถึงวันนี้ ร้านอาหารหลายรายให้บริการบุฟเฟต์มากมาย จนทำให้ผู้บริโภคมองว่าวัฒนธรรมการกินแบบบุฟเฟต์ เป็นกินเยอะ ราคาถูก ประกอบกับในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย มีแบรนด์ใหม่ๆ ที่เป็นต้นตำรับจากญี่ปุ่นเข้ามาให้บริการมากขึ้น
นี่จึงเป็นความท้าทายของ “โออิชิ” ในฐานะผู้นำตลาด จึงได้ปั้นแบรนด์ใหม่ “โออิชิ อีทเทอเรียม” (Oishi Eaterium) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ยาไต” (Yatai) เสมือนว่า เดินอยู่บนย่านอาหารการกินในญี่ปุ่น ที่สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านอาหารหลายสิบร้าน สาขาแรกที่เซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 และปี 2560 เตรียมขยายเพิ่มอีก 4 สาขา