หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต คือ การขยายโรงภาพยนตร์ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงคนไทยให้มากขึ้น และรองรับเทรนด์ของอุตสาหกรรมหนัง ที่ขณะนี้ฮอลลีวูดกำลังโฟกัสมาที่ตลาดเอเชีย ย่อมทำให้หนังจากฮอลลีวูดเข้ามาฉายในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมทั้งในไทย
ยิ่งปีนี้เป็นปีทองของฮอลลีวูด เนื่องจากมีหนังฟอร์มยักษ์เข้าโรงจำนวนมาก และจะเห็นได้ว่าหนังหลายเรื่องทำเพื่อเจาะกลุ่มคนเอเชียโดยเฉพาะ
ประกอบกับทิศทางต่อไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทย จะต้องมี “หนังไทย” มากขึ้น จากปัจจุบันเมื่อเทียบกับหนังฮอลลีวูดแล้ว หนังไทยยังมีสัดส่วนน้อยอยู่มาก ซึ่ง “เมเจอร์ฯ” คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทย จะเหมือนกับญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่ Local Content มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% เพราะถึงอย่างไรหนังไทยย่อมถูกจริตคนไทยมากกว่าอยู่แล้ว
โรงหนังในไทย ถ้าจะโตต้องขยายเข้าตำบล – อำเภอ
ในขณะที่เทรนด์หนังฮอลลีวูดมุ่งมาที่ตลาดเอเชีย และการผลิตหนังไทยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมองไปยังจำนวนโรงภาพยนตร์ในไทยทั้งประเทศกลับมีเพียง 1,000 โรง โดยสัดส่วนประชากรต่อโรงภาพยนตร์ในไทยอยู่ที่ 1 ล้านคน : 15 โรง และยอดขายตั๋วทั่วประเทศ ประมาณ 40 ล้านใบ ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย
เช่น เกาหลีใต้ มีโรงภาพยนตร์ 3,000 โรง สัดส่วนประชากรต่อโรงภาพยนตร์ 1 ล้านคน : 50 โรง สอดคล้องกับยอดขายตั๋วต่อปีมากถึง 200 ล้านใบ, จีน ปัจจุบันอุตสาหกรรมหนังและโรงภาพยนตร์เฟื่องฟูมาก โดยมีมากถึง 40,000 โรง สัดส่วนประชากรต่อโรงภาพยนตร์ 1 ล้านคน : 25 โรง หรือข้ามไปยังประเทศผู้ผลิตหนังส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา สัดส่วนประชากร 1 ล้านคน : 125 โรง
เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์ในไทยยังมี “โอกาสมหาศาล” และกลยุทธ์ผลักดันให้เติบโตมากกว่านี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การขยายโรงภาพยนตร์ให้เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ
กลยุทธ์ของราชาตลาดโรงภาพยนตร์ในไทย “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” มุ่งสู่ตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ไม่ใช่แค่จังหวัดใหญ่เท่านั้น แต่เจาะลึกจังหวัดรอง ทั้งในระดับตำบลและอำเภอ
“สิ่งหนึ่งที่อุตสาหกรรมโรงหนังของไทยต้องโฟกัสมาก คือ เมืองไทยยังมีโรงหนังน้อย เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ จีน สหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นสำหรับอุตสาหกรรมโรงหนังในไทย น่าจะมีอย่างน้อย 2,000 โรง จากปัจจุบันทั่วประเทศอยู่ที่ 1,000 โรง ในจำนวนนี้เป็นของกลุ่มเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ 700 โรง
ดังนั้น ถ้าอุตสาหกรรมโรงหนังในไทยจะไปถึงจุดนั้น เราต้องขยายโรงหนังเข้าถึงตำบล และอำเภอ เหมือนอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส ที่ทุกวันนี้สามารถขยายสาขาในระดับตำบลและอำเภอ นั่นเท่ากับว่าถ้าเมืองไทยสร้างโรงหนังได้ 100 โรงต่อปี ภายใน 8 – 9 ปี ก็จะสามารถไปถึงระดับ 2,000 โรงได้” คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพโอกาสการเติบโต
จับมือ “เทสโก้ โลตัส” – “บิ๊กซี” ปูพรมต่างจังหวัด
วิสัยทัศน์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ตั้งเป้าหมายจะมีโรงงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรงในปี 2020 แบ่งเป็นในประเทศไทย 900 โรง และ กลุ่มประเทศ CLMV 100 โรง
สำหรับตลาดในประเทศ ในแต่ละปีเมเจอร์ฯ ขยายโรงภาพยนตร์ประมาณ 70 โรง โดยในปีที่แล้วสาขาใหม่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดทั้งหมด และในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเปิดเพิ่มอีก 70 – 80 โรง ยังคงโฟกัสตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ขณะที่กรุงเทพฯ มี 1 สาขาที่ ICON SIAM ที่คาดว่าจะสร้างเสร็จปลายปีนี้ หรือประมาณต้นปี 2561
“ในอดีตจังหวัดรอง และตามอำเภอ-ตำบลไม่มีโรงภาพยนตร์ การที่คนในจังหวัดนั้นๆ จะมาดูหนังสักเรื่อง เขาต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 45 นาที – 1 ชั่วโมงมายังจังหวัดที่มีโรงภาพยนตร์ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าทำไมโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัด รอบเช้าคนดูมากกว่าในกรุงเทพฯ เพราะผู้บริโภคที่นั่นไม่สามารถดูรอบดึกได้ เดี๋ยวจะเดินทางกลับลำบาก
แต่วันนี้ Landscape เปลี่ยนไปหมดแล้ว เมเจอร์ฯ ไม่ได้ทำโรงภาพยนตร์เฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเดียว เรายังเข้าไปถึงตำบล และอำเภอแล้ว เช่น อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม มีประชากร 300,000 คน, สระบุรี, ลพบุรี, ปราจีนบุรี ขณะที่ปีนี้จะเปิดสาขาเพิ่มไม่ต่ำกว่า 10 อำเภอ และจะลงไปถึงระดับตำบล โดยเราเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ “บิ๊กซี” และ “เทสโก้ โลตัส” ทุกที่ที่บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เปิดสโตร์ขนาดเล็ก 6,000 – 8,000 ตารางเมตรในอำเภอ และตำบล เราจะไปสร้างโรงหนังที่นั่น โดยเป็นขนาด 1 – 2 โรง มี 150 – 200 ที่นั่งต่อโรง
ในการทำธุรกิจเราต้องเข้าใจผู้บริโภค แม้รายได้จากโรงหนังในอำเภอ ตำบล อาจสู้ในเมืองไม่ได้ เพราะทั้งจำนวนประชากรในพื้นที่ ราคาตั๋วแตกต่างจากกรุงเทพฯ และจำนวนโรง แต่ถ้าเรามีหนังเข้าฉายตลอด เฉลี่ย 4 – 5 เรื่องต่อสัปดาห์ ถึงจะมี 2 โรง สาขานั้นๆ ก็สามารถเติบโตได้”
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ฯ ระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีสัดส่วน 50 : 50 เปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่เป็น 80 : 20 และค่อยๆ ปรับเป็น 60 : 40
จะสังเกตได้ว่าแนวทางการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีลักษณะคล้ายกับธุรกิจ Retail นั่นคือมี Store Format หลากหลาย เพื่อนำแต่ละโมเดลมา Match กับพื้นที่ของ Retail โดยมีตั้งแต่ขนาดใหญ่ ที่เป็นสาขาเรือธง ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เช่น พารากอนซีนีเพล็กซ์ เอ็มควอเทียร์, สาขาขนาดกลาง ที่ขยายไปตามศูนย์การค้าทั่วไป และไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่(20,000 ตารางเมตร) และ โมเดลสาขาขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในมินิไฮเปอร์มาร์เก็ต
Movie Experience แรงดึงดูดคนซื้อตั๋วดูหนังโรง
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในยุคดิจิทัล ธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ ที่ถือว่าเป็น “คู่แข่งทางอ้อม” อย่างในเวลานี้เกิดผู้ให้บริการดูหนังแบบ Streaming มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, iflix หรือแม้แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นมี Cable TV, Video Online
แต่กุญแจสำคัญที่ทำให้ “อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์” ทั่วโลกยังคงเติบโต มาจากการยกระดับให้เป็นมากกว่าการนำเสนอ “ภาพยนตร์” ไปสู่การนำเสนอ “Movie Experience” แบบครบองค์รวม ทั้งบรรยากาศภายในโรง, เทคโนโลยีระบบเสียงกระหึ่มรอบทิศทาง ระบบภาพคมชัด และบริการ ที่หาไม่ได้จากการดูหนังในบ้าน หรือดูผ่าน Smart Device ทั้งหลาย
“เมเจอร์ฯ” ในฐานะที่เป็นเจ้าตลาด ย่อมต้องนำตลาดด้วยการเอาเทคโนโลยีระดับโลกจากฮอลลีวูดเข้ามาในไทย เพื่อยกระดับประสบการณ์การดูหนังของผู้บริโภค
“ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่คุณภาพหนัง แต่ยังมีเรื่องคุณภาพภาพและเสียง ความสวย ความคมชัด เพราะวันนี้ถ้า Movie Screen ไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้น ผู้บริโภคจะไม่ออกจากบ้านมาเข้าโรงภาพยนตร์ ที่ผ่านมาเราได้นำระบบการฉายภาพยนตร์จอยักษ์ 3 มิติไอแมกซ์ นำรูปแบบการฉายระบบดิจิทัล 2D, 3D และโรงภาพยนตร์ดิจิทัล 4DX เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกที่ปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล
ในปีนี้ เราต้องการก้าวสู่ “Major 5.0 Digitalization Society” คือ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ที่ทันสมัยเข้ามาให้บริการลูกค้า ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก เราต้องปรับองค์กรให้ทันสมัยตลอดเวลา ให้ทันกับความต้องการของลูกค้า”
ด้วยเหตุนี้จึงได้นำเข้าระบบการฉายจากอเมริกา “ระบบเลเซอร์ โปรเจคเตอร์” ให้ภาพที่คมชัดขึ้นในระดับ 4k หรือมากกว่าระบบเดิม 2 เท่า ความสว่างเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากเดิม และให้เฉดสีเพิ่มมากขึ้นเป็น 35 ล้านล้านเฉดสี จากเดิมเพียง 16 ล้านเฉดสี
โดยเริ่มนำมาใช้กับ 3 โรงภาพยนตร์ในพารากอน ซีนีเพล็กซ์ คือ Siam Pavalai, Bangkok Airways Blue Ribbon Screen, Enigma โดยงบลงทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อโรง ก่อนจะทยอยนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับโรงที่เป็น Premium Screen เช่นที่เอ็มควอเทียร์, เวสต์เกต, อีสต์วิลล์, รัชโยธิน
สำหรับผลประกอบการของเมเจอร์ฯ ในปี 2559 รายได้รวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจากการขายตั๋วหนัง และอาหาร-เครื่องดื่ม 6,500 ล้านบาท / สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 1,000 ล้านบาท / ค้าปลีก 1,000 ล้านบาท / โปรดักชั่น และธุรกิจจัดจำหน่ายหนัง 1,500 ล้านบาท