HomeBrand Move !!เปิดบันทึกสุดยอด Mega Deal 2016 ! เมื่อยักษ์จับมือกัน สะเทือนวงการธุรกิจไทย

เปิดบันทึกสุดยอด Mega Deal 2016 ! เมื่อยักษ์จับมือกัน สะเทือนวงการธุรกิจไทย

แชร์ :

brand-records_2016_megadeal

ในช่วงปี 2016 เป็นอีกหนึ่งปีที่ภาคธุรกิจมี “Mega Deal” ของบรรดายักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ การเข้าถือหุ้น รวมไปถึงการซื้อหุ้นจากการเพิ่มทุน เพื่อจับมือเป็นพันธมิตรกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Brand Buffet ได้รวบรวมการผนึกกำลังกันระหว่างองค์กรครั้งใหญ่ ทั้งบริษัทไทยด้วยกันเอง บริษัทไทยกับบริษัทต่างชาติ หรือแม้แต่บริษัทต่างชาติสร้างความรวมมือกัน แล้วมีผลมายังตลาดประเทศไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วงการธุรกิจไทย !!

“กลุ่มเซ็นทรัล” ซื้อ “Zalora” ประเทศไทย เสริมแกร่งธุรกิจออนไลน์central-zalora

“กลุ่มเซ็นทรัล” เข้าซื้อกิจการ “ซาโลร่า ประเทศไทย” (Zalora Thailand) เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจออนไลน์ เนื่องจากเล็งเห็นความแข็งแกร่งของซาโลร่า ซึ่งเป็นออนไลน์แฟชั่นยอดนิยมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ หนุ่มสาวออฟฟิศ หรือผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่น อีกทั้งมีจุดแข็งการเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายสินค้าและไอเทมแฟชั่นต่างๆ ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลก กว่า 80,000 รายการ รวมทั้งมีระบบออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็ว จึงสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคนี้

เมื่อมารวมกับความน่าเชื่อถือของ “กลุ่มเซ็นทรัล” จึงคาดว่าจะก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยแบบไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-channel) และทำให้กลุ่มเซ็นทรัลเข้าถึงฐานข้อมูลลูกค้าออนไลน์ และฐานข้อมูลของซัพพลายเออร์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันมุ่งหวังว่าจะทำให้ยอดขายของเซ็นทรัลออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

“Alibaba” ควบรวมกิจการ “Lazada” รุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

alibaba-lazada

นับเป็น Mega Deal ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจ E-Commerce ทั้งในไทย และทั่วโลกเลยทีเดียว สำหรับกรณี “Alibaba” ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของจีน ทุ่มเงินถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการ “Lazada” เพราะหลังจาก “Alibaba” มีฐานธุรกิจแข็งแกร่งในจีนแล้ว สเตปต่อไป คือ พุ่งทะยานสู่ตลาดต่างประเทศ และ “ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คือ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่มังกรรายนี้ต้องการปักธง

การซื้อกิจการธุรกิจออนไลน์ “Lazada” ที่แจ้งเกิดในภูมิภาคนี้ได้สำเร็จแล้ว ทำให้ “Alibaba” ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นจากศูนย์ และเป็น “ทางลัด” ที่จะรุกตลาดได้เร็วและแรงที่สุด

“Alibaba” ควง “กลุ่มซีพี” รุกการเงินดิจิทัลเอเชีย

alibaba-cp-www-gmbizmagazine-com_01

Photo Credit : www.gmbizmagazine.com

เป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือครั้งใหญ่แห่งปีก็ว่าได้ เมื่อ “บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป” ผู้ให้บริการทางการเงินดิจิทัล “Alipay” ในเครือ “Alibaba Group” ประกาศความร่วมมือกับ “บริษัท แอสเซนด์ มันนี่” ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้บริการธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) ทั้งในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อ “ทรู มันนี่” บริการทางการเงินดิจิทัล และ “แอสเซนด์ มันนี่” ธุรกิจเงินกู้รายย่อย

การจับมือกันครั้งนี้ “แอนท์ ไฟแนนเชียล” จะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 20%  “แอสเซนด์ มันนี่” และมีโอกาสเพิ่มเป็น 30% ในปี 2561 โดยทั้งสองฝ่ายต่างมองว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน เพื่อสานฝันของตนเองให้เป็นจริง

ในฝั่ง “แอนท์ ไฟแนนเชียล” มีเป้าหมายใหญ่ต้องการขยายบริการทางการเงินไปสู่คนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านคน ภายในสิบปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น “พันธมิตรธุรกิจ” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อจิ๊กซอว์เป้าหมายนี้ให้เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันตลาดการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพสูง และหลายประเทศยังเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่กำลังเริ่มใช้ Digital Wallet ซึ่ง “แอสเซนด์ มันนี่” เครือซีพี มีฐานลูกค้าในอาเซียนอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่บริการ “Alipay” จะขยายเข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ อีกทั้งรองรับนักท่องเที่ยวจีน ที่เข้ามาเที่ยวในประเทศแถบนี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ฝั่ง “แอสเซนด์ มันนี่” หมายมั่นว่าภายในปี 2563 จะขยายบริการทางการเงินดิจิทัลไปยังผู้บริโภคทั่วไป และผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านราย ครอบคลุมทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นการผนึกกำลังกัน จะทำให้ “แอสเซนด์ มันนี่” ได้รับการสนับสนุนด้านกลยุทธ์และเทคนิคที่เป็นนวัตกรรมระดับโลกจากแอนท์ ไฟแนนเชียล

ตำนานบทใหม่ “บิ๊กซี” ภายใต้ชายคา “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ”

resize-big-c-%e0%b8%a5%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%b53

หลังจาก “คาสิโน กรุ๊ป” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ “บิ๊กซี” ในประเทศไทย ประกาศขายหุ้น ก็มีข่าวมาเป็นระยะๆ นับเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ว่ากลุ่มทุนใดจะเป็นผู้คว้า “บิ๊กซี” ในไทยไปครอง กระทั่งเมื่อต้นปี 2559 ในที่สุดผู้ที่ได้ไป คือ “บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “BJC” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (บริษัทในเครือ “ทีซีซี กรุ๊ป” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) โดยถือหุ้นในนามสองบริษัทย่อยของ BJC คือ “บริษัท บีเจซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จํากัด” และ “บริษัท สัมพันธ์เสมอ จำกัด”

ขณะที่ต่อมากลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถือหุ้นในบิ๊กซีในไทย สัดส่วน 25% ได้ขายหุ้นที่มีอยู่ให้กับกลุ่มเจ้าสัวเจริญ จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัล ได้ร่วมกับกลุ่มเหงียนคิม พันธมิตรธุรกิจในเวียดนาม เข้าซื้อกิจการบิ๊กซี ประเทศเวียดนาม

การได้บิ๊กซีในไทย ค้าปลีกในเซ็กเมนต์ดิสเคาน์สโตร์มาครอบครองได้สำเร็จ เป็นการต่อจิ๊กซอว์ใหญ่ของ “ธุรกิจปลายน้ำ” ในเครือทีซีซี กรุ๊ป ที่ต้องการสร้างอาณาจักรให้มีความครบวงจรและครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การผลิต“กลางน้ำ” คือ จัดจำหน่าย และ “ปลายน้ำ” คือ ธุรกิจค้าปลีก ที่จะผลักดันให้สินค้าและบริการต่างๆ ในเครือเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “บิ๊กซี” ภายใต้ชายคาของเจ้าสัวเจริญ จะสามารถประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ แข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีกประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด !!

“เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ” ฮุบ “ปาร์คนายเลิศ” สร้างศูนย์สุขภาพครบวงจร

resize-swissotel-nai-lert-park-bkk

อีกหนึ่งดีลใหญ่ที่ช็อควงการธุรกิจ และคนทั่วไปไม่น้อย เมื่อ “บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)” หรือคุ้นเคยกันในนาม “เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ” ของ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ให้บริษัทย่อย เข้าซื้อที่ดินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศกว่า 15 ไร่ จากที่ดินทั้งหมดเกือบ 40 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมบ้านปาร์คนายเลิศ และสวน ที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ปาร์คนายเลิศ ยังคงเป็นมรดกของตระกูลสมบัติศิริ) ด้วยมูลค่า 10,800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเป็น “BDMS Wellness Clinic” โครงการศูนย์สุขภาพครบวงจร รวมทั้งให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และฟื้นฟูสุขภาพแบบครบวงจรรายแรกในภูมิภาคเอเชีย

นับถอยหลังอีกไม่นาน ตั้งแต่ต้นปี 2560 จะปิดฉากตำนาน “โรงแรมปาร์คนายเลิศ” ที่ดำเนินธุรกิจมาได้ 36 ปี ก่อตั้งโดย “ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ” บุตรสาวของ “นายเลิศ เศรษฐบุตร” หรือ “พระยาภักดีนรเศรษฐ” ผู้ให้กำเนิดรถเมล์นายเลิศ หรือรถเมล์ขาว จากนั้น “คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ” ได้สืบทอดบริหารกิจการโรงแรมต่อ กระทั่งผู้บริหารคนล่าสุดคือ “เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” หลังจากประคับประคองสถานการณ์และความอยู่รอดของโรงแรมมาโดยตลอด ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจโรงแรมที่รุนแรง ในที่สุดได้ตัดสินใจขายที่ดิน 15 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเพื่อพัฒนาที่ดินผืนนี้ให้มีศักยภาพมากขึ้น

“คิง เพาเวอร์” ลงทุนใน “ไทยแอร์เอเชีย” ต่อจิ๊กซอว์ท่องเที่ยวครบวงจร

king-power-thai-airasia_02-resize01

ทันที่ที่ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ของตระกูลศรีวัฒนประภา ซื้อหุ้น “บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น” หรือ AAV (ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นร้อยละ 55 ของไทยแอร์เอเชีย) ในสัดส่วน 39% มูลค่ารวมประมาณ 7,945 ล้านบาท จากธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และครอบครัว ส่งผลให้ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” กลายเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย

เหตุผลสำคัญที่ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ทุ่มเงินเข้ามาซื้อหุ้นในครั้งนี้ เพราะเล็งเห็นโอกาสของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย หนึ่งในรายได้หลักของประเทศ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย คาดการณ์ว่าปี 2559 ไม่ต่ำกว่า 32 ล้านคน ตลาดหลักยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของทั้งคิง เพาเวอร์ และกลยุทธ์การตลาดของไทยแอร์เอเชีย มุ่งเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากขึ้น

ประกอบกับ ผลการดำเนินธุรกิจของ “ไทยแอร์เอเชีย” เติบโตมาโดยตลอด “คิง เพาเวอร์” จึงมองว่าการผนึกกำลังกับสายการบิน Low-cost Airline รายนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจให้แก่กัน ทำให้ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” กลายเป็นผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวครบวงจร ที่ครอบคลุม 3 ขาสำคัญ คือ ธุรกิจ Retail (Duty Free), ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจโรงแรม

“กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” ต่อลมหายใจ “กลุ่มอมรินทร์”

resize-amerin-group

ภาวะผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาของ “บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)” เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจ New Media – Event และธุรกิจทีวีดิจิทัล Amarin TV ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุน โดยเฉพาะการเอาไปลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง

ด้วยเหตุนี้เอง “กลุ่มอมรินทร์” ตัดสินใจเพิ่มทุนและขายหุ้นให้กับ “บริษัท วัฒนภักดี จำกัด” จำนวน 200 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 850 ล้านบาท ซึ่งบริษัทดังกล่าว มี “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” และ “ปณต สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทำให้ “บริษัท วัฒนภักดี จำกัด” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ในสัดส่วน 47.62% โดย “กลุ่มอมรินทร์” มีแผนการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนนี้ ภายในต้นปี 2561 เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้

ขณะเดียวกันในภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันสูง “กลุ่มอมรินทร์” มองว่าการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ

“กลุ่มปราสาททองโอสถ” ถือหุ้นใหญ่ “ช่อง ONE”

one-channel

เขย่าวงการทีวีดิจิทัลอีกครั้ง เมื่อ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” โดย “บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด” เป็น Holding Company ที่ลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่เห็นว่ามีกำไรและมีอนาคต ซึ่งมี “ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทดังกล่าว ได้เข้าถือหุ้นจากการเพิ่มทุน “บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด” ผู้ประกอบกิจการช่อง ONE ในสัดส่วน 50% ทำให้ปัจจุบัน บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง จากเดิม 51% เหลืออยู่ที่ 25.50% กลุ่มถกลเกียรติ วีรวรรณ จากเดิมถือหุ้น 49% ลดเหลือ 24.50% และปรมาภรณ์ ถือหุ้น 50%

ทาง บอย-ถกลเกียรติ ให้สัมภาณ์กับสื่อมวลชนว่า “บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด” ไม่ได้มีความเกี่ยวกับช่อง PPTV (ทีวีดิจิทัลของกลุ่มปราสาททองโอสถ) และไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหาร และทีมบริหารของช่อง ONE ส่วนการเพิ่มทุนของช่องในครั้งนี้ แม้ปัจจุบันติด Top 5 ทีวีดิจิทัล และละครบางเรื่องได้รับความนิยมสูงจากผู้ชม เช่น พิษสวาท ที่ทำให้ช่อง ONE เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น แต่เพื่อทำให้สถานีแข็งแรงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในระดับการทำงานที่ใหญ่ขึ้น จึงได้ตัดสินใจเพิ่มทุน

จะเห็นได้ว่าทิศทางของธุรกิจสื่อต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะสื่อทีวี จะอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพราะสงครามการแข่งขันในธุรกิจนี้อยู่ที่ความพร้อมด้านเงินทุน บุคลากร และคอนเทนต์คุณภาพ


แชร์ :

You may also like