ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในปี 2560 ของ “กลุ่มอาร์เอส” ตั้งเป้าหมายรายได้ 3,576 ล้านบาท มาจากกลุ่มธุรกิจมีเดีย 75%, ธุรกิจเฮลท์ แอนด์ บิวตี้ ภายใต้บริษัท “ไลฟ์สตาร์” 15%, เพลง 5% และอื่นๆ 5% ซึ่งในแต่ละธุรกิจ ต้องตอบโจทย์ “Bottom Line” นั่นคือ การมองไปที่ “ผลกำไร” เป็นหลัก เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนั้นๆ ให้เดินหน้าต่อไป
เมื่อเจาะลึกกลุ่มธุรกิจในเครืออาร์เอส พบว่ามีทั้งธุรกิจที่มีการเติบโต เป็นไปตามเทรนด์ของอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยมี 2 กลุ่มธุรกิจที่เป็น “ดาวเด่น” ในการสร้างรายได้และกำไรให้กับ “อาร์เอส” ในปีนี้ คือ “ช่อง 8” เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลยังคงแข่งขันกันรุนแรง และ “ไลฟ์สตาร์” ธุรกิจสุขภาพและความงาม สอดคล้องกับทุกวันนี้ที่คนหันมาสนใจและใส่ใจสุขภาพและความงามกันมากขึ้น จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมไปแล้ว
แต่ขณะเดียวกันพบว่ามีธุรกิจที่ไม่มีการเติบโตด้านรายได้ รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในภาวะขาลง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น “กลุ่มธุรกิจเพลง” ในอดีตเคยเป็นธุรกิจทำรายได้ให้กับอาร์เอสเป็นกอบเป็นกำ วันนี้กลับลดสัดส่วนลงเหลือ 5% และต่อไปมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หากไม่ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์, “ธุรกิจทีวีดาวเทียม” ที่อาร์เอสมีช่องอยู่ในมือถึง 3 สถานี
อย่างไรก็ตามในธุรกิจที่ไม่มีการเติบโตด้านรายได้ หรือเติบโตลดลง สิ่งที่ “อาร์เอส” ทำในขณะนี้ คือ การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีกำไรเลี้ยงตัวเองได้
Brand Buffet จะพาไปผ่ากลยุทธ์ในแต่ละกลุ่มธุรกิจของ “อาร์เอส” ในปี 2560
“ช่อง 8” ดาวรุ่ง ทำรายได้หลัก
กลุ่มธุรกิจมีเดีย สื่อหลักที่ทำรายได้ให้กับ “กลุ่มอาร์เอส” ยังคงเป็นธุรกิจทีวี นำโดย “ช่อง 8” ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2560 กว่า 1,945 ล้านบาท ขณะที่ 3 ช่องทีวีดาวเทียม ได้แก่ สบายดีทีวี คาดว่ารายได้ 240 ล้านบาท, ช่อง 2 ตั้งเป้า 68 ล้านบาท และ You Channel 36 ล้านบาท
เมื่อดูตัวเลขรายได้ ชัดเจนว่า “ช่อง 8” เป็นธุรกิจดาวรุ่งที่อาร์เอสตั้งความหวังไว้สูง ซึ่งที่ผ่านมา แนวทางการดำเนินธุรกิจของ “ช่อง 8” ใช้กลยุทธ์ “The8perience” นำเสนอผ่าน 4 คอนเทนต์หลัก คือ ละคร, ข่าว, กีฬา, วาไรตี้ และพยายามทำให้ทุกคอนเทนต์ มีฐานแฟนประจำให้ได้ เพื่อเป็นแรงส่งสำคัญผลักดันให้ฐานคนดูของช่องเติบโต
โดยเมื่อปี 2559 มีจำนวนสายตาผู้ชม (Eye ball) อยู่ที่ 350,000 รายต่อนาที ขณะที่ปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 500,000 รายต่อนาที โดยคาดหวังว่าภายในครึ่งปีแรก จะสามารถทำได้ 450,000 รายต่อนาที ขณะที่งบประมาณด้านคอนเทนต์อยู่ที่ 700 ล้านบาท
ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับราคาโฆษณาเพิ่มให้สอดรับกับเรตติ้งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่อัตราค่าโฆษณาที่ขายสูงสุดอยู่ในช่วงช่วงละคร Prime Time และรายการกีฬายอดนิยมของช่องอย่าง 8 แม็กซ์ มวยไทย
ตรงกันข้ามกับ “ธุรกิจทีวีดาวเทียม” เวลานี้ภาพรวมอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในทิศทางขาลง จากเดิมเคยมีไม่ต่ำกว่า 300 ช่อง ปัจจุบันเหลืออยู่รอดเพียง 50 ช่อง ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ “อาร์เอส” จึงต้องปรับตัวในธุรกิจนี้ โดยปรับกลยุทธ์ให้ “ช่อง 2” กลายเป็นช่อง Rerun คอนเทนต์ของช่อง 8 ทำให้ไม่มีต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ ขณะที่ช่อง “สบายดีทีวี” ไม่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทีวีดิจิตอล โดยยังคงเป็นอันดับ 1 ช่องเพลง ส่วน “You Channel” เป็นอีกช่องที่ทำการลดต้นทุนเช่นกัน
“เรายังใช้จุดแข็งของช่อง 8 คือ “ละคร” เป็นอาวุธสำคัญช่วยสร้างการรับรู้และจดจำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ทำได้ดี และมีความแข็งแกร่งพอตัว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับกีฬาและข่าวที่ตอนนี้ยึดหัวหาดเหนือคู่แข่ง เพราะทำเรตติ้งขึ้นอันดับ 1 ของกลุ่มรายการนั้นๆ แล้ว
กลุ่มกีฬา มีมวยเป็นพระเอก ไม่ว่าจะเป็น 8 แม็กซ์ มวยไทย, เดอะแชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก, มวยไทยแบทเทิล ศึกค่ายชนค่าย รวมไปถึงมวยระดับโลกที่ได้ลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง ส่วนกลุ่มข่าวย่อยให้ดูง่าย เข้าใจง่าย ทำให้ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะ “คุยข่าวเช้า” ต้นแบบรายการข่าวช่วงเช้าที่มีเวลาออกอากาศยาวที่สุดในประเทศในปัจจุบันกำลังไปได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ “ปากท้องต้องรู้” รายการข่าวเศรษฐกิจน้องใหม่ที่เพิ่งเติมเข้ามาเมื่อช่วงเดือนธันวาคมก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี” “เฮียฮ้อ – สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าว
“ธุรกิจสุขภาพและความงาม” น้องใหม่ มาแรง !
เมื่อปี 2558 “อาร์เอส” ขยายไลน์มาลงทุนในธุรกิจสุขภาพและความงาม ภายใต้บริษัท “ไลฟ์สตาร์” เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มตลาดสุขภาพและความงามมีโอกาสทางการตลาดสูง เป็นผลมาจากคนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและความงามมากขึ้น ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยหลังจากเปิดตัว ในปีที่แล้วได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์และผลิตภัณฑ์ พบว่ามีกระแสตอบรับที่ดี
ดังนั้นในปีนี้ จึงได้เวลาเปิดเกมรุกทำตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ วางแผนรุกขยายช่องทางกระจายสินค้าเข้าสู่โมเดิร์นเทรด และร้านผลิตภัณฑ์ความงามครบวงจรทั่วประเทศ เพื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายของทุกผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาแต่ละแบรนด์สินค้าผ่านทางสื่อดิจิตอลทีวีช่องหลักๆ เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำในวงกว้างให้รวดเร็วที่สุด
ขณะเดียวกันจะใช้โซเชียลมีเดีย ได้แก่ เฟสบุ๊ค, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ รวมทั้งบล็อกเกอร์ผลิตภัณฑ์ความงามร่วมโปรโมท ตลอดจนติดตั้งบิลบอร์ดทั้งขนาดยักษ์และบริเวณริมทางเท้าบนถนนเส้นหลักกระจายอยู่ตามจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 437 ล้านบาท
“ธุรกิจเพลง” ปรับโมเดลธุรกิจ เปิดให้ “ศิลปิน” ร่วมทุน เพื่อลดต้นทุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกลับมายัง “ธุรกิจเพลง” ที่เคยเป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยง “อาร์เอส” ในอดีต มาวันนี้กลับเป็นธุรกิจที่เผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเมื่อรายได้จากธุรกิจมีเดียโตขึ้น ย่อมส่งผลให้รายได้ธุรกิจเพลงไม่โต และมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2560 สัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจเพลงจะเหลือเพียง 5% หรือคิดเป็น 194 ล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนี้ “อาร์เอส” คงไม่ยอมปิดฉากธุรกิจนี้ไปตามกระแสธุรกิจเพลงทั่วโลกที่ค่อยๆ ทยอยล้มหายไป อีกทั้งที่ผ่านมา “อาร์เอส” มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเปลี่ยนจากยุคเทปคาสเซ็ท มาเป็นซีดี และจากซีดี เป็น MP3 กระทั่งปัจจุบันเป็น Digital Download และ Music Streaming
สำหรับการปรับตัวครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ศิลปินมีส่วนร่วมในการลงทุนผลิต และวางแผนผลงานเพลง ในลักษณะกึ่งพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อตัวศิลปินได้ทั้งในด้านการวางแผนงาน การดูแลรักษาคุณภาพ และมาตรฐานของชิ้นงาน ตลอดจนพัฒนาตัวเองกับการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันทำให้บริษัทฯ บริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ด้วยโมเดลนี้ ทำให้ในปี 2560 อาร์เอสจะมี Single เพลงเพิ่มขึ้น เป็น 30 Single ต่อไตรมาส หรือเฉลี่ย 10 เพลง 10 ศิลปินต่อเดือน จากปีที่ผ่านมามี 4 – 5 Single ต่อเดือน ดังนั้น ปีนี้จะได้เห็นผลงานเพลงทั้งลูกทุ่งแท้ หมอลำ เพื่อชีวิต ป๊อบ แดนซ์ ตอบโจทย์กลุ่มผู้ฟังทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงเพลงประกอบละครอีก 9 เพลง โดยยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางการเข้าถึงผู้ฟังผ่านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกช่องทางชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยูทูบ rsfriends, welovekamikaze, rsiammusic
“โมเดลใหม่นี้ ทำให้เราสามารถลดต้นทุน และส่งผลให้ธุรกิจนี้ยังคงมีกำไร นอกจากนี้เป็นการเพิ่มโอกาสจัดเก็บลิขสิทธิ์ และงานโชว์ตัวจะมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้นักร้องใหม่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการทำธุรกิจเพลงแบบเดิม เพราะโมเดลในอดีต การจะเป็นนักร้องได้ เป็นการพิจารณาจากค่ายเพลงเพียงฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบัน ศิลปินที่ต้องการมีผลงานเพลง หรือใครที่อยากเป็นศิลปิน สามารถมาร่วมลงทุนกับเรา”
“วิทยุ” ยึดโมเดล On Air – Online – On Ground
ขณะที่ธุรกิจวิทยุ “คูล93ฟาเรนไฮต์” ยังคงเติบโตสวนกระแสภาพรวมธุรกิจวิทยุ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ ซึ่งเป็นสถานีที่พัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นฟังเพลงด้วยระบบคมชัดสูงสุดเอชดีพลัส ดูได้จากเรตติ้งช่วงที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฐานผู้ฟังรวมทุกช่องทางทั่วประเทศกว่า 4 ล้านคนต่อเดือน เป็นผลจากการปรับตัวเองเป็น Music Station สถานีเพลงที่รับฟังได้ทุกช่องทาง
ครอบคลุมทั้ง “On Air” ซึ่งรับฟังทางคลื่น FM ที่มีฐานเหนียวแน่นมากถึง 1.5 ล้านรายต่อเดือน และ “Online” มีฐานผู้ฟังพุ่งทะยานสู่ 2.5 ล้านรายต่อเดือน ประกอบกับการจัด “On Ground” หรือกิจกรรมการตลาดร่วมกับผู้ชม โดยในปีนี้จะยังคงจัด 2 กิจกรรมหลักๆ คือ COOL Outing และ COOL Degree เพื่อขยายฐานผู้ฟังเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งอาร์เอสมั่นใจจะสามารถรักษาแชมป์เรตติ้งอันดับ 1 คลื่นวิทยุได้แน่นอน และตั้งเป้ารายได้ 404 ล้านบาทในปีนี้