จากข้อมูลทางสถิติ ในปี พ.ศ. 2548 ที่พบว่า 500 บริษัทชั้นนำของสหรัฐมีอายุเฉลี่ย 90 ปี แต่เมื่อสำรวจอีกครั้งในปี 2548 บริษัท Fortune 500 อายุเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 15 ปี และแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ นั่นแปลว่าบริษัทเกิดใหม่มีแนวโน้มจะเติบโตและก้าวเข้ามาแทนที่บริษัทที่ทำธุรกิจมาอย่างยาวนาน
ดังนั้นเพื่อรักษาอัตราการเติบโตและความสำเร็จในอนาคต คุณโก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จึงเผยวิสัยทัศน์ก้าวต่อไปของอนันดา เพื่อการพัฒนาสู่อนาคตอย่างยั่งยืน อนันดา จะไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ แต่จะดึงเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริมพลังของธุรกิจ มุ่งเน้นให้เกิดการตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า, พันธมิตร และสังคมไทย เหตุผลที่ BrandBuffet ขอหยิบยกเอาเรื่องราวของซีอีโอจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้มานำเสนอ เพราะแนวคิดนี้น่าจะก่อแรงบันดาลใจให้กับคนทำธุรกิจและคนทำงานทุกคน
สร้าง S-Curve ใหม่ แต่ไม่ทิ้งภารกิจเดิม
ถ้าหากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของอนันดา ในตอนนี้ต้องบอกว่าสวยหรู ผลประกอบการในปี 2015 ปิดปีด้วยยอดโอนราว 9,500 ยูนิต และสิ้นปี 2016 ก็จบลงที่ 15,100 ยูนิต ในขณะที่แผน 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2020 ก็คาดว่าจะมียอดโอนเพิ่มขึ้น 300% ตามอัตราการเติบโตของสถานีรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 80 สถานีและจะกลายเป็น 300 สถานี ด้วยอัตราการเติบโตขนาดนี้ แค่ทำงานให้ Achieve KPI ตามภาษาที่เราได้ยินกันในห้องเวลาประชุมก็ว่ายากแล้ว แต่อนันดากลับตั้งโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้น
จากเดิมที่ธุรกิจอัสงหาริมทรัพย์ แข่งขันกันที่การออกแบบ การใช้วัสดุใหม่ๆ เพื่อให้ก่อสร้างได้เร็ว แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และการทำการตลาดให้โดนใจ เรียกได้ว่าวนอยู่ในแวดวงของการก่อสร้างหรือที่เรียกว่า Construction Tech/ Property Tech
แต่จากตัวอย่างของธุรกิจระดับโลก สถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ เกิดการ Disrupt กันเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น การเกิดขึ้นของกล้องดิจิทัล จนความต้องการกล้องฟิล์มและฟิล์มลดลง การแทนที่เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ธุรกิจอย่าง AirBnB ยังนำเอาไอเดีย Sharing Economy มาใช้จนธุรกิจโรงแรมสะเทือน ยังมีเคสของ UBER ที่กลายเป็นเครือข่ายรถแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่เริ่มต้นไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์เลย นั่นแปลว่าธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งไม่ได้จำกัดแค่การแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ก้าวข้ามการแข่งขันไปท้าชิงกับธุรกิจอื่น ขอเพียงแค่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมได้ หรือเป็นโซลูชั่นที่แก้ปัญหาของผู้บริโภคได้ ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่แจ้งเกิด
ด้วยเหตุนี้เอง อนันดา จึงขอก้าวข้ามความเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งหน้าพัฒนาแต่ Construction Tech/ Property Tech เพียงอย่างเดียว เริ่มต้นสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่ง เช่น ซัพพอร์ตเรื่องของสถานที่การทำงานของ SeekSter บริการจัดหาแม่บ้าน ทำความสะอาดและช่างเพื่อซ่อมแซมบ้าน และ ReFinn สตาร์ทอัพ ที่เป็นผู้ช่วยทำให้เรื่องการรี-ไฟแนนซ์บ้านเป็นเรื่องง่ายและคุ้มค่ามากขึ้น โดยหวังว่าเมื่อบริษัทเหล่านี้แจ้งเกิดก็จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในสังคม และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีไอเดียรายอื่นๆ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาตลอดจนคิดค้นโซลูชั่นที่เหมาะสมจนสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ เหมือนกรณีของ Haupcar ผู้ให้บริการรถฮอปคาร์ บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยระบบ Car-Sharing ล้ำหน้าด้วยการเปิดใช้รถผ่านสมาร์ทโฟน
โดยอนันดาจะเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริการที่เกี่ยวข้องกับ “ที่อยู่อาศัย เพื่อเรียนรู้, แนะนำ หรือไปจนถึงขั้นร่วมทุนกับสตาร์ทอัพเหล่านั้น นับแต่นี้ อนันดาจึงไม่ใช่ Construction Tech/ Property Tech เท่านั้น แต่เป็น Tech Company ที่ในอนาคตจะมีความเข้าใจหรือแม้แต่มีส่วนทั้ง Fin Tech ช่วยให้การกู้เงินมาซื้อบ้านง่ายขึ้น, Health Tech เมื่ออาศัยอยู่ในบ้านแล้ว มีเครื่องชี้วัด ดูแลสุขภาพของคนในบ้านได้ดีขึ้น, IoT Tech การใช้ชีวิตในบ้านสะดวกสบายมากขึ้น จนกลายเป็น #UrbanTech สร้าง S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจของตัวเอง ตามวงจรธุรกิจที่เมื่อเติบโตถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะเริ่มถดถอย แต่ถ้าหากว่าองค์กรนั้นยังสร้างคลื่นลูกใหม่เข้ามาทดแทนธุรกิจเดิมที่ยังดำเนินอยู่ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นองค์กรที่เติบโตไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งยังมีส่วนทำให้ชีวิตของผู้บริโภคคนไทยดีขึ้นในภาพรวม ตามที่ คุณชานนท์เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าจะทำงานหนักอยู่แล้วในการบริการงานแบบเดิม แต่เขาก็ต้องแบ่งเวลาเพื่อมองหาวิธีการต่อยอดธุรกิจเดิมอยู่ตลอด อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนหรือช่วยเหลือสตาร์ทอัพเหล่านี้ไม่ได้จำกัดสตาร์ทอัพเหล่านั้นต้องนำเอาบริการมาใช้กับธุรกิจของอนันดาเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้เป็นไปตามข้อตกลงของสตาร์ทอัพแต่ละราย
3 กลยุทธ์ สู่ความเป็น UrbanTech Company
เพื่อที่จะผลักดันองค์กรให้เป็นไปตามแนวทางนั้น อนันดา ได้บริหารการจัดการเข้าถึงเทคโนโลยี และจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าถึงนวัตกรรม ด้วยกลยุทธ์ภายนอก 3 ประการ
1.การสนับสนุน Ecosystem หรือระบบนิเวศน์ของนวัตกรรม ผลักดันและสนับสนุนผู้ริเริ่มนวัตกรรมอื่นๆ ในระบบนิเวศน์มากกว่าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก หรือกิจกรรมการแข่งขันให้ผู้ริเริ่มนวัตกรรมอื่นๆ โดยอนันดาฯ ใช้วิธีการสนับสนุนผู้อื่นมากกว่าการลงมือทำเอง ทั้งการบ่มเพาะทางธุรกิจ และการเฟ้นหาธุรกิจใหม่ๆ มากกว่าการทำโดยลำพัง สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ความคิด ความรู้ และผู้คนได้อย่างกว้างขวางโดยมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านสถานที่ ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ พันธมิตรเข้ามาใช้พื้นที่ภายในออฟฟิศใหม่ของอนันดาได้ รวมทั้งผู้บริหารหลายท่านของอนันดา ก็เข้ามาเป็นโค้ชแนะนำ แลกเปลี่ยนไอเดียกับเหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่
2.การจัดตั้งเงินกองทุน (Fund of Funds) ซึ่งเป็นการลงทุนในกองทุนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านนวัตกรรมใหม่ๆ และเพื่อร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ
3.การบริหารกิจการร่วมทุน (Corporate Venture Capital) คือ การร่วมลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพ และมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาเสริมธุรกิจขององค์กรในอนาคตได้
โดยในส่วนที่ต้องมีการลงทุน ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเข้าประชุมภายในบอร์ดบริหารว่าจะต้องใช้งบลงทุนเท่าไหร่ รวมทั้งจะโฟกัสไปที่ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการอยู่อาศัยของผู้คนเป็นหลัก เพราะสามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจหลักของตัวเองได้ อีกทั้งประสบการณ์หรือมุมมองที่ทางอนันดามีก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับสตาร์ทอัพรายนั้นๆ อย่างเต็มที่ด้วย
สำหรับเหตุผลที่เชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือและเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพ แทนที่จะกระโจนเข้าไปลงทุนทั้งหมดด้วยตัวเองก็เพราะ “ผมคิดว่าเราควรมองภาพใหญ่ ภาพรวมของสังคม เราไม่ควรคิดว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราไม่ใช่คนแรกที่คิด เราคือคนที่ Adapt/ Adopt แล้วนำมาใช้ในโครงการของเรา และทุกๆ ครั้งของการ Sharing มีคุณค่า การแชร์หรือว่าซัพพอร์ตกันก็ทำให้องค์กรของไทยเติบโต จับมือกันแล้วไปแข่งขันในระดับโลกให้ได้” คุณชานนท์กล่าว
ก้าวแรกของ “นวัตกรรม” เริ่มจากภายในองค์กร
สำหรับกลยุทธ์ภายใน อนันดา ปรับทั้งเรื่องคนในส่วนของผู้บริหารระดับสูง ดึงตัว ดร.เชษฐ์ ยง มาร่วมงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม (Chief Innovation Officer) เพื่อเป็นหัวเรือใหญ่ผลักดันเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเต็มตัว ครอบคลุมการเป็น Think Tank ศูนย์รวมทางความคิดเพื่อเสริมเข้ากับนวัตกรรมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คุณชานนท์ไม่เชื่อว่าการที่มีผู้บริหารเพียงไม่กี่คน หรือหน่วยงานเดียวที่ทำเรื่องนวัตกรรมแล้วจะสำเร็จ แต่ต้องเป็นเรื่องของทุกคนในองค์กร ” ถ้าเราจะสร้างนวัตกรรมได้ มันต้องไม่ใช่แค่ผู้บริหาร ต้องเป็นทั้งองค์กร ทั้งวัฒนธรรมของเรา แค่ซูเปอร์สตาร์ไม่กี่คน ไม่มีทางจะทำได้ และ S-Curve ไม่น่าจะเกิดขึ้นในองค์กรแบบเดิมๆ แต่ต้องเป็นองค์กรที่กล้า Challenge ตัวเองตลอดเวลา”
เพื่อทำให้วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลง ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีมากขึ้น อนันดา ได้ยกเครื่องออฟฟิศใหม่ทั้งหมด ย้ายพนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ภายใต้บรรยากาศที่มีความทันสมัย ที่อาคาร FYI Center ด้วยงบประมาณการตกแต่งและลงทุนเรื่องอุปกรณ์กับพันธมิตรอย่าง Samsung, Cisco และ Fujisu ปั้นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ภายใต้ชื่อ “Ananda Campus” เน้นการประสานความร่วมมือกัน (Collaboration) มีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน ทั้งเพื่อการทำงาน จุดพักผ่อนส่วนรวม และมุมทำงานส่วนตัว โดยนอกจากห้องทำงานกับห้องประชุมแล้ว ก็ยังมีมุมให้พนักงานเลือกพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย เพื่อลดปัญหาการสื่อสารภายใน รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคนในบริษัท ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับออฟฟิศระดับเวิลด์คลาสในต่างประเทศ
ที่ทำงานแห่งนี้ใช้ระบบจองโต๊ะทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นทั้งทางสมาร์ทโฟน, หน้าจอสัมผัสเมื่อมาถึงออฟฟิศแล้ว แต่ละคนจะไม่มีที่นั่งประจำ แม้แต่ซีอีโอก็หมุนเวียนโต๊ะทำงาน เพื่อทำให้แต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ผู้บริหารระดับสูงเข้าถึงง่าย เข้าใจปัญหาของพนักงาน
ขณะที่ห้องประชุมก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน จะส่งไฟล์, เขียนข้อความบนจอสัมผัสได้เลย เพื่อให้การประชุมราบรื่น และระบบเชื่อมต่อไร้สายที่วางแผนเอาไว้แล้วก็ทำให้คอมพิวเตอร์ของพนักงานสามารถแสดงผลบนจอโปรเจคเตอร์ได้โดยที่ไม่ต้องหาสายมาเสียบต่อให้วุ่นวายว่าเครื่องไหนใช้สายแบบไหน
ในส่วนของพื้นที่พักผ่อนมีทั้งโมเดิร์น และต้นไม้ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย พื้นที่ส่วนกลางสามารถดัดแปลงกลายเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ที่รองรับคนได้หลักพันคน และเมื่อมีกิจกรรม เช่น งานคอนเสิร์ตภายใน คลาสออกกำลังกาย ก็รองรับได้เลย ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์พื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมส่วนอื่นๆ ที่ช่วยหล่อหลอมความเป็น Tech Company ทั้งหลาย เช่น Power Lunch จัดอาหารกลางวันพนักงานให้พนักงานฟรี จาก Kloset Café เพื่อประหยัดเวลาและมีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่ ในส่วนของการเดินทางก็สนับสนุนการใช้ขนส่วนมวลชน มีบัตรรถไฟใต้ดินและแอร์พอร์ตลิงค์ให้พนักงานใช้ฟรีทุกเดือน สมกับที่เป็นหนึ่งในเจ้าตลาดคอนโดมิเนี่ยมติดรถไฟฟ้า พนักงานก็ต้องรู้อินไซต์ของคนใช้รถไฟฟ้าสิ หรือถ้าหากว่าจะงีบหลับออฟฟิศแห่งนี้ก็อนุญาตให้ทำได้ เพราะใช้ผลงานในการประเมินคุณภาพการทำงานเป็นหลัก รวมทั้งยังเป็นบริษัทแรกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ Workplace by Facebook เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน สื่อสารภายในอย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในออฟฟิศ สะท้อนให้เห็นว่าอนันดาไม่เคยหยุดเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ทั้งๆ ที่บริการนี้ของ Facebook เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง พื้นที่ของอนันดา ยังมีไว้แบ่งปันให้กับพันธมิตรธุรกิจหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว LINE Finance ในประเทศไทย ก็เคยใช้พื้นที่ตรงนี้มาแล้ว
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงมือเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์การก้าวเข้าสู่ #UrbanTech ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ฉีกกรอบแนวคิดเดิมๆ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจของ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์
และเพื่อทำให้เข้าใจคอนเซ็ปท์ทั้งหมดมากขึ้น นี่คือ วิดีโอที่รวบรวมแนวคิดของการขับเคลื่อนธุรกิจของอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์