การวางอันดับ “ทายาท” ผู้สืบทอดธุรกิจ ไม่ใช่ดำเนินการกันข้ามวันข้ามคืน แต่องค์กรใหญ่ยักษ์ล้วนมี “ผู้นำใหม่” ในใจอยู่แล้ว เช่น ปูนซีเมนต์ไทยหรือเครือเอสซีจี จะมี Candidate ว่าใครคือ “แม่ทัพ” คนถัดไป แล้วนำไปลับคมการบริหารให้ฉกาจฉกรรจ์ หรือบมจ.บ้านปู ที่ผู้นำคนก่อนวางมือ คนใหม่ก็มาทำหน้าที่แทน แต่คนเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบใหญ่ในอนาคต
หากแต่การส่งมอบตำแหน่ง “เบอร์ 1” ให้กุมบังเหียนธุรกิจจะเกิดเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาที่เหมาะสม
และสำหรับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือซีพี ปี 2560 เป็นนิมิตรหมายอันดีแล้วว่า “เจ้าสัวน้อยศุภชัย เจียรวนนท์” ได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง “ประธานคณะผู้บริหารซีพี” ต่อจากบิดา “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นี่นับว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ของซีพี เพราะต้องยอมรับว่า “เจ้าสัวธนินท์” หรือที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี(ฝ่ายทุน)”ของเมืองไทย ได้สร้างอาราจักรซีพีในรุ่นที่ 2 ให้เติบใหญ่อย่างยิ่ง นับตั้งแต่เขาเข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวในวัย 19 ปี จวบจนวันนี้วัยย่าง 78 ปี
เมื่อ “เจ้าสัวน้อยศุภชัย” ต้องก้าวขึ้นมาเป็น “เจ้าสัวใหญ่” มีภารกิจอะไรรออยู่ คงต้องจับตาดู แต่ที่แน่ๆ BrandBuffet รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “แม่ทัพซีพี” ให้ผู้อ่านได้ติดตามดังนี้
-นับตั้งแต่ปี 2530 หลังบรรดาทายาทของเจ้าสัวธนินท์ จบการศึกษาจากต่างประเทศ เหล่าทายาทก็เริ่มเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในเครือซีพี ไม่ว่าจะเป็น “ณรงค์-สุภกิต เจียรวนนท์” รวมทั้ง “ศุภชัย” ด้วย
-ศุภชัย ถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 หรือรุ่น 3 ที่เข้ามาสานต่ออาณาจักรซีพี โดยมี “เจีย เอ็กซอ” เป็นรุ่นที่ 1 ปลุกปั้นธุรกิจในปี 2464 และรุ่น 2 คือ “จรัญ-ธนินท์ เจียรวนนท์”
-ศุภชัย นับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการโทรคมนาคมของเครือซีพี
-เมื่อก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอของเครือ “ศุภชัย” ต้องบริหารอาณาจักรธุรกิจที่มีมากถึง 200 บริษัท(ลดลงจากอดีตมีมากถึง 300 บริษัท) มีโรงงาน ฐานผลิตใน 17 ประเทศทั่วโลก(รวมไทย) มีการส่งออกสินค้าไปยัง 129 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญต้องดูแลพนักงานกว่า 3 แสนชีวิต
-จากเดิมศุภชัย ดูแลบมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น เป็นหลัก ซึ่งทำรายได้มากกว่า “1 แสนล้านบาท” เมื่อเข้ามาดูแลทั้งเครือ ต้องกุมอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะสินทรัพย์ รายได้ และกำไรสุทธิทั้งเครือเรียกว่า “มหาศาล” จริงๆ เห็นได้จากตัวอย่างงบการเงินของแต่ละบริษัทในเครือ 3 ไตรมาส ในปี 2559 เช่น ซีพีเอฟ มีสินทรัพย์กว่า 5.08 แสนล้านบาท รายได้กว่า 3.53 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1.29 หมื่นล้านบาท, ซีพีออลล์หรือผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเฟลเว่น มีสินทรัพย์กว่า 3.41 แสนล้านบาท รายได้กว่า 3.36 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1.23 หมื่นล้านบาท บมจ.สยามแม็คโครหรือรู้จักกันในนามห้างแม็คโคร มีสินทรัพย์รวมกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท รายได้กว่า 1.27 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 3.79 พันล้านบาท
และบมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น มีสินทรัพย์กว่า 4.41 แสนล้านบาท รายได้กว่า 9.56 หมื่นล้านบาท ขาดทุนกว่า 1.15 พันล้านบาท โดยปี 2558 มีสินทรัพย์รวมกว่า 2.82 แสนล้านบาท มีรายได้กว่า 1.22 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 4.4 พันล้านบาท ดีดลูกคิดคร่าวๆ ที่เห็น สินทรัพย์รวมก็มีมากกว่า 1.33 ล้านล้านบาท มีรายได้กว่า 9.11 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 2.78 หมื่นล้านบาท
อย่าลืม! นี่แค่ตัวเลขจาก 4-5 บริษัท จาก 200 บริษัท เท่านั้น!
สิ่งที่ต้องจับตา หลังจากประกาศให้ทายาทมาขับเคลื่อนอาณาจักร มีมากมาย ได้แก่
-การประกาศวิสัยทัศน์เคลื่อนอาณาจักรสู่ปีที่ 100 ในปี 2564 เพื่อสืบสานอาณาจักร “ล้านล้านบาท”
-ภารกิจแรกที่เจ้าสัวน้อยศุภชัย จะให้น้ำหนักหรือโฟกัส จะเป็นธุรกิจไหน รวมถึงการรวมพลัง(Synergy) บริษัทในเครือไปในทิศทางใด
-การได้รับการยอมรับจากผู้บริหารทั้งอาณาจักร เพราะต้องยอมรับว่าเครือซีพี เต็มด้วยไปนักธุรกิจผู้เป็น “ขุนพล” ที่มากด้วยประสบการณ์ ความรู้ ศาสตร์บู๊และบุ๋น นำพาธุรกิจให้ซีพี ร่ำรวย มั่งคั่ง ติดอันดับ “มหาเศรษฐีโลก” อาทิ “อดิเรก ศรีประทักษ์” ผู้กุมบังเหียนซีพีเอฟ, “ธนากร เสรีบุรี” ผู้กุมบังเหียนอาณาจักรซีพีในแดนมังกร “สุนทร อรุณานนท์ชัย” ผู้กุมบังเหียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
-เจ้าสัวธนินท์ ติดอันดับมหาเศรษฐีโลกมายาวนาน อนาคตจะได้เห็นชื่อ “เจ้าสัวน้อย” ขึ้นทำเนียบซีอีโอ เศรษฐีโลกเมื่อไหร่
-เมื่อบิดาได้สมญานาม “นายกรัฐมนตรี(ฝ่ายทุน)” ก็ต้องมาดูว่า เจ้าสัวน้อยศุภชัย จะมีวิวาทะด้านเศรษฐกิจการเมืองอย่างไรบ้าง
–“ตลาดทั่วโลก วัตถุดิบทั่วโลก คนเก่งทั่วโลก การเงินทั่วโลกล้วนเป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์” มาดูกันว่า การสยายอาณาจักรเจาะขุมข่ายการค้าโลกของเจ้าสัวน้อยจะเป็นอย่างไรบ้าง
-การเติบโต ความสำเร็จ ผลงานชิ้นโบแดงที่จะได้เห็นจาก “ฝีมือ” ทายาทคนนี้จะมีอะไรบ้าง เพราะเรื่องนี้ต้องนับว่ามีความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากคำกล่าวของชาวจีนรุ่นเก่าบอกว่าธุรกิจครอบครัวมักจะอยู่ไม่เกินรุ่น 3 หรือแม้แต่ระดับโลก ก็มีการพูดว่าวัฏจักรธุรกิจครอบครัวจะตกต่ำในรุ่น 4 ดังนั้น ศุภชัย ต้องปูรากฐานองค์กรให้แกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้รุ่นถัดไปต่อยอด
แฟน BrandBuffet.in.th ลองวิเคราะห์กันดูว่า มีอะไรที่ท้าทายทายาทอย่าง “ศุภชัย เจียรวนนท์” อยู่บ้าง??
เรื่อง: นายบุญจันทร์