พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต หนึ่งในผู้ให้บริการด้านประกันชีวิตชั้นนำของโลกและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 22 ปี เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียลประจำปี 2559[1] (PRI – Prudential Relationship Index) เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานะความสัมพันธ์ส่วนบุคคลทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยประเทศไทยมีอัตราความสมหวังในความสัมพันธ์ในเกณฑ์ที่ดี สามารถรั้งอันดับ 5 จาก 10 ประเทศที่ร่วมสำรวจในเอเชีย และอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ซึ่งชาวไทยได้คะแนนความสัมพันธ์ 71 จาก 100 คะแนน ถือได้ว่ามีความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนอยู่ในเกณฑ์สูง (ประเทศเวียดนามได้คะแนนสูงสุดที่ 83 จาก 100 คะแนน) ทั้งนี้ ผลสำรวจสะท้อนหลากหลายแนวคิดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของคนไทย ทั้งของคู่รัก ครอบครัว เพื่อนและเพื่อนร่วมงาน
ผลสำรวจได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของชาวไทยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ซึ่งระบุว่าคนไทยมีปากเสียงกันบ่อยที่สุดในเอเชีย และสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการทะเลาะกันของคู่รัก นอกเหนือจากเรื่องเงิน เหล้าและบุหรี่ โดยคนไทยมากกว่าครึ่งระบุว่าคู่รักของตนชอบใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากกว่าใช้เวลากับตน
ผลสำรวจยังสะท้อนความเป็นวัฒนธรรมสังคมแบบอุปถัมภ์ของชาวไทย ที่ให้ความสำคัญกับพ่อแม่และลูก โดยระบุว่าพ่อแม่ชาวไทยใจดีที่สุดในทวีปเอเชีย ด้วยความถี่ในการมอบของขวัญให้แก่ลูกของตนสูงที่สุด และคนไทยยังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อพ่อแม่ของตนสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย แต่ในขณะเดียวกัน คนไทยกลับมีปากเสียงกับพ่อแม่ของตนบ่อยที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ เพื่อนฝูงก็เป็นอีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่คนไทยให้ความสำคัญ โดยคนไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับเพื่อนสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย
มร.อาเธอร์ เจ เบลเฟอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ดัชนีความสัมพันธ์ของพรูเด็นเชียลทำให้เราทราบถึงสภาวะความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไทยให้ความสำคัญกับทุกรูปแบบของความสัมพันธ์
“ความสัมพันธ์คือ หัวใจสำคัญในธุรกิจของเรา เราตระหนักว่าลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ของเราเพื่อส่งมอบความคุ้มครองแก่คนที่พวกเขารัก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความสัมพันธ์ที่พวกเขาใส่ใจมากที่สุด สำหรับพรูเด็นเชียล นอกเหนือจากจุดยืนที่เราจะอยู่เคียงข้างทุกความสัมพันธ์ของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว เราเชื่อว่าการช่วยทำให้คนไทยมีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ รวมถึงปัจจัยบวกและลบที่มีผลต่อทุกความสัมพันธ์ จะช่วยทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาระดับความสัมพันธ์และมีความสุขในชีวิตมากยิ่งขึ้น”
“ผลการวิจัยชี้ให้เห็นทั้งสิ่งที่น่ายินดีและสิ่งที่น่าวิตกกังวล สิ่งที่น่ายินดีคือ ดัชนีความสัมพันธ์ของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศในทวีปเอเชีย ทว่าก็ยังมีโอกาสในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเลือกใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ข้างๆ คุณ การให้เวลากับคนที่คุณรักมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้มีกิจกรรมที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความสุข” มร.อาเธอร์ กล่าว
ผลการสำรวจความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ในประเทศไทย
คู่รัก:
ทะเลาะกันบ่อยที่สุดในเอเชีย เพราะแฟนติดมือถือ
ดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียลประจำปี 2559 ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีปากเสียงกับคู่รักของตนเองบ่อยที่สุดในเอเชีย โดย 37% ระบุว่าคู่รักของตนทำให้รู้สึกหงุดหงิดได้ทุกสัปดาห์ 28% ระบุว่ามีความคิดจะเลิกรากับคู่รักอย่างจริงจังทุกสัปดาห์ ซึ่งสาเหตุหลักของการทะเลาะกันของคู่รักได้แก่เรื่องเงิน(45%) เหล้าและบุหรี่(35%) และที่น่าตกใจคือการใช้เวลากับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนมากเกินไป (32%) กลายมาเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการทะเลาะกัน
จะคบกันให้ราบรื่น นิสัยเราต้องเข้ากันได้ดีด้วย
คนไทยให้ความสำคัญกับ “ความเข้ากันได้” สูงสุดในทวีปเอเชีย โดยคู่รัก 77% ระบุว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทั้งคู่ต้องเข้ากันได้ นอกจากนี้ การหัวเราะร่วมกัน คู่รักที่มีอารมณ์ขัน (75%) และหลากหลายกิจกรรมที่สามารถเซอร์ไพรส์อีกฝ่าย (73%) ก็เป็นคุณสมบัติที่คู่รักใฝ่หาเพื่อกระชับความสัมพันธ์อีกด้วย
พ่อแม่กับลูกเล็ก:
พ่อแม่คนไทยพอใจกับความสัมพันธ์ที่มีกับลูก
ความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกของคนไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย ด้วยคะแนน 51/100 โดยพ่อแม่ชื่นชอบการทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกมากที่สุด (68%) ตามมาด้วยกิจกรรมที่ลูกๆ ทำให้พ่อแม่สนุกสนาน หัวเราะ (61%)
พ่อแม่คนไทยใจดีที่สุดในเอเชีย
คนไทยเป็นพ่อแม่ที่ใจดีที่สุดในเอเชีย โดยพ่อแม่กว่า 76% มอบของขวัญเพื่อเซอร์ไพรส์ลูกทุกอาทิตย์ โดยพบว่า 43% ของพ่อแม่เหล่านี้ให้ของขวัญลูกทุกวัน ซึ่งนับว่าสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย
ลูกกับพ่อแม่สูงวัย:
สำหรับคนไทย พ่อแม่ต้องมาก่อน แต่งแล้วยังอยู่บ้านกับพ่อแม่
คนไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เกี่ยวกับพ่อแม่ของตนสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย (54%) รองจากประเทศกัมพูชา โดยครึ่งหนึ่ง (50%) ของคนไทยที่แต่งงานแล้วยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนหรือของคู่สมรส อย่างไรก็ตาม พบว่า คนไทยมีความถี่ในการมีปากเสียงกันกับพ่อแม่สูงที่สุดในเอเชียด้วยเช่นกัน โดย 22% มีปากเสียงกันทุกอาทิตย์
ลูกคนไทยอยากให้พ่อแม่สนับสนุนและยืนหยัดเพื่อลูกๆ สูงสุด
ลูกๆ ในวัยผู้ใหญ่ คาดหวังให้พ่อแม่คอยให้การสนับสนุนและยืนหยัดเพื่อพวกเขาสูงสุด (73%) โดยกว่า 78% ยังคาดหวังความช่วยเหลือในเวลาฉุกเฉินจากพ่อแม่ ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของเอเชีย
เพื่อนและเพื่อนร่วมงาน:
ขำๆ เพื่อนกันอย่าซีเรียส
คนไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับเพื่อนสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย (46%) โดยเป็นรองเพียงประเทศฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งนี้ คนไทยเห็นว่าเสียงหัวเราะและรอยยิ้มเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์กับเพื่อน โดยกว่า 2 ใน 3 ( 68%) ของคนไทยวัยผู้ใหญ่เห็นว่าการทำให้เพื่อนหัวเราะหรือยิ้มได้เป็นสิ่งสำคัญ
การเงินและความสัมพันธ์:
เงินทองของนอกกาย ฉุกเฉินพึ่งพากันได้
คนไทยค่อนข้างช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงิน โดยผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ รู้สึกว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาพ่อแม่ (78%) ญาติ (66%) หรือเพื่อน (62%) หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงิน
นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความกตัญญู ตอบแทนบุพการีให้เงินพ่อแม่ใช้ โดยพบว่าคนไทย 79% ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่พ่อแม่ของตน และขณะเดียวกัน 51% ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่ของตนอยู่เช่นกัน และในส่วนของคู่รัก พบว่ามีการช่วยเหลือทางการเงินจากทั้งฝ่ายสามีและภรรยา โดยสามีให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภรรยามากกว่าที่ 73%
เทคโนโลยีและความสัมพันธ์:
คนไทยส่วนใหญ่คิดอยากจะลด ละ เลิก เล่นมือถือเพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น!
ท่ามกลางวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่พึงพาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ทำให้ยุคดิจิตัลส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของชาวไทยโดยตรง คนไทยต้องแข่งขันกับสมาร์ทโฟนเพื่อดึงความสนใจจากคนใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นคู่รักหรือคนในครอบครัว โดยผลสำรวจที่น่าตกใจเปิดเผยว่า คนไทยกว่าครึ่ง (51%) ระบุว่าคู่รักของตนชอบใช้เวลากับโทรศัพท์มากกว่าใช้เวลากับตน และพ่อแม่เกือบครึ่ง (42%) คิดว่าลูกของตนใช้เวลากับคอมพิวเตอร์มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่พร้อมจะลดการใช้เทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น โดยคนไทยเกือบทั้งหมด (93%) ระบุว่าจะพิจารณาการงดใช้เทคโนโลยี 1 วัน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นๆ ให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น
“นอกเหนือจากการรุกล้ำเข้ามามีผลต่อความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีแล้ว อีกประเด็นที่ผมสนใจคือ คนไทยมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงินค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ดูจะมีบทบาทสูงที่สุด ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ในการย้ำเตือนถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อทุกความสัมพันธ์ โดยแน่นอนว่าประกันชีวิต ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่คุณสามารถใช้ในการวางแผนและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี ” มร.อาเธอร์ กล่าวสรุป
[1] ดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียล ประจำปี 2559 ประเมินค่าจากการสัมภาษณ์ผู้ตอบแบบสอบถาม 5,000 คนในกัมพูชา จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และ เวียดนาม ระหว่างวันที่ 13 – 31 กรกฎาคม 2559 โดยในประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 500 คนเข้าร่วมในการสัมภาษณ์
การสำรวจดำเนินการโดย IPSOS บริษัทวิจัยชั้นนำของเมืองไทย