ดีแทคชูงานเสวนา “ผ่าทางตัน 5G คลื่นความถี่นำไทยสู่ 4.0 อย่างยั่งยืน” ชี้ไทยกำลังเผชิญหน้ายุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทุกภาคส่วน ทางออกต้องเร่งวางแผนชัดเจนสู่อนาคต พลิกธุรกิจให้แข่งขันด้วยเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ควงผู้เชี่ยวชาญโทรคมนาคมจากสมาคมจีเอสเอ็ม ไอทียู หัวเหว่ย และอีริคสัน ร่วมชี้ความท้าทายและโอกาสของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อนำสู่ความร่วมมือทุกภาคส่วน ย้ำการวางแผนจัดสรรคลื่นความถี่รองรับ 5G คือตัวแปรแจ้งเกิดเศรษฐกิจไทยยุคใหม่แบบก้าวกระโดด
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความท้าทายของ 5G เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังกำหนดมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยจะผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงกับอุปกรณ์สิ่งของทุกสรรพสิ่ง หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) มาสู่นวัตกรรมใช้ให้เกิดประโยชน์กับคุณภาพชีวิตมากที่สุด ดีแทคได้เดินหน้าสนับสนุนประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงร่วมผลักดันและร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ”
สำหรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน เศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาค โดยดีแทคได้ร่วมมุ่งเน้นที่จะสรรหาแผนงานในอนาคต ซึ่งสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ. 2563
“เมื่อเข้าสู่ยุค 5G เราจะเห็นการพัฒนาด้านการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดช่วยชีวิตคนไข้ โดยเป็นการผ่าตัดที่มีความแม่นยำอย่างสูงและสามารถวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้อย่างถูกต้องในพริบตา รถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับที่ขับเคลื่อนสู่จุดหมายได้เอง ทั้งการรายงานสภาพการจราจรอย่างทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งแจ้งที่ว่างในลานจอดรถให้ทราบล่วงหน้า ส่วนในอุตสาหกรรมประมง เทคโนโลยี 5G ยังสามารถถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลกำไร ผ่านระบบเซ็นเซอร์และระบบวิเคราะห์ภาพอันทันสมัย ในการตรวจสอบและคัดแยกปลาที่มีคุณภาพเพื่อนำออกขายตั้งแต่แรก บริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมายจะเกิดขึ้นและกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในระดับองค์กรและไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของผู้คนทั่วไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากปราศจากเทคโนโลยี 5G” นายลาร์ส กล่าว
ตัวอย่างการเริ่มทดสอบอย่างจริงจังในต่างประเทศ เช่น ในประเทศนอร์เวย์ ทางเทเลนอร์และหัวเหว่ยได้ร่วมจัดการทดสอบระบบ 5G ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศนอร์เวย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่านสัญญาณวิทยุ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในบริการสื่อสารไร้สายความเร็วสูงในอนาคตอันใกล้ พร้อมการสาธิต 5G ตามแผนการผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัล และการเปิดให้บริการ 5G ในอนาคต
นายลาร์ส กล่าวต่อไปว่า “ที่ผ่านมาดีแทคในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลได้ทดลองการนำ IoT มาใช้นำร่องให้เกษตรกรไทยก้าวสู่ความเป็น Smart Farmer ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทคด้วยการพัฒนาโซลูชั่น IoT เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ สภาพแสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ โดยได้ทำโครงการดังกล่าวนำร่องไปกับ 2 โครงการเกษตรกรคือฟาร์มแตะขอบฟ้า ปลูกมะเขือเทศ เชอร์รี่ และโคโค่ เมล่อน ซึ่งปลูกเมล่อน ที่ จ.สุพรรณบุรี โดยได้รับผลสำเร็จจากการนำ IoT มาใช้งานได้เป็นอย่างดีตามแผนการผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัลและการเปิดให้บริการ 5G ในอนาคต”
5G จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้ใช้งานจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ด้วยแบนด์วิธและอัตราการส่งถ่ายข้อมูลความเร็วสูง แม่นยำ และความน่าเชื่อถือที่ดีเยี่ยม คุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องการช่วยให้ “ทุกสรรพสิ่ง” สามารถเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่าย 5G หรือ IoT ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการเตรียมพร้อมวางแผนคลื่นความถี่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่อนาคตของ 5G ได้แบบก้าวกระโดด
“ในขณะที่หลายประเทศกำลังเดินหน้าสู่ 5G และประเทศไทยกำลังเตรีมความพร้อมสู่นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่จะพัฒนาให้ทันกับแนวโน้มของโลก พร้อมทั้งกำหนดทิศทางมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) หลายสิ่งที่จะถูกสร้างขึ้นด้วยนวัตกรรมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รองรับทุกภาคส่วนในประเทศ ความเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้นจะลดช่องว่างที่ประชาชนไทยกับธุรกิจกำลังประสบอยู่ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อทุกสิ่งในโลกดิจิทัลถูกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง สู่นวัตกรรมดิจิทัล การจะพัฒนาสู่ 5Gได้นั้นประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์การจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) อย่างชัดเจนในระยะยาว” นายลาร์ส กล่าวในที่สุด