การใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนในกลไกต่างๆ ของการทำงานแทนคนเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในทั่วโลก โดยเฉพาะจีนเองที่ติดอันดับหนึ่งของการจัดซื้อหุ่นยนต์เพื่อใช้ในโรงงานมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2013 และปีที่แล้วก็แซงหน้าญี่ปุ่นไปเป็นที่เรียบร้อยในแง่ของประเทศที่ใช้หุ่นยนต์เพื่อการทำงานมากที่สุด และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่
โดยตอนนี้ไม่เพียงแค่โรงงานผลิตสินค้าเทคโนโลยีเท่านั้น (อย่าง Foxconn ที่ผลิต iPhone) แม้แต่บริษัทออนไลน์ช้อปปิ้งก็มีอุปสงค์ในการนำมาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในธุรกิจด้วยเช่นกัน โดย Alibaba ใช้มันไปเพื่อการขนส่งสินค้าภายในโกดังที่ทำงานร่วมกับบริษัทขนส่งมากมายในจีน โดยผลงานของบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ที่สร้างหุ่นยนต์ขนาดกำลังดี ที่สามารถยกสินค้าและเคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆ ในโกดังได้ด้วยตัวมันเอง ผ่านสตาร์ทอัพท้องถิ่นที่ชื่อว่า Geek+
Greek+ เริ่มมากจากทีมเล็กๆ ที่รวมตัวกันในปี 2015 ที่ตอนนี้ได้เงินทุนกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐจากการฟันด์ดิ้งระดับ Serie A บวกกับกลุ่มลูกค้าเกรด A+ ที่ต้องการให้ช่วยพัฒนาหุ่นยนต์ ให้ตลาดหุ่นยนต์ของจีนเติบโต ซึ่งรายชื่อลูกค้ารายใหญ่ที่สุดที่ช่วยสนับสนุนเงินทุกในครั้งนี้คือ Alibaba โดยผลงานที่ Greek+ ทำออกมาครั้งนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับหุ่นยนต์ของ Amazon ที่ได้ให้การสนับสนุนและพัฒนาออกมาตั้งแต่ปี 2012
หุ่นยนต์ Greek+ ตัวใหญ่สามารถแบกสินค้าที่มีน้ำหนักมากถึง 1,000 กิโลกรัมได้สบาย ในขนณะที่ตัวเล็กได้สูงสุดที่ 100 กิโลกรัม โดยมันถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานในทุกๆ โกดังที่จำเป็นต้องมีการขนชิ้นส่วนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อการเข้าถึงของมนุษย์ในการทำงานต่อไป ซึ่งตอนนี้มีหุ่นยนต์ทำงานนี้แล้วกว่า 300 ตัวทั่วประเทศจีน
นอกจาก Alibaba ยังมีเงินทุนจากอีกหลายบริษัท บ้างก็เป็นบริษัทต่างชาติอย่างสิงคโปร์ ทำให้ตลาดการผลิตหุ่นยนต์ของจีนแข็งแกร่งขึ้น เพราะจากการประมาณการณ์แล้ว ตอนนี้หุ่นยนต์ 70% ที่ใช้ในจีนมาจากต่างชาติ Greek+ จะเป็นตัวจุดประกายใหม่ของวงการผลิตหุ่นยนต์ในจีน ที่จะท้าทายทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และเยอรมันในฐานะเจ้าตลาดโลกของการผลิตหุ่นยนต์ ส่วนจะทำได้หรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM