เพราะว่าปัจจุบันข้อมูลในโซเชี่ยลมีเดียเกิดขึ้นมากมายมหาศาล ในปี 2016 พบว่าใน 1 นาที มีผู้กดไลก์บน Facebook มากกว่า 4 ล้านครั้งต่อนาที และมีความข้อที่ถูกทวีตบน Twitter ถึง 340,000 ครั้ง (ข้อมูลจาก contently.com) แน่นอนว่าเมื่อมาถึงปี 2017 และนับรวมทุกๆ พื้นที่สื่อออนไลน์ก็จะยิ่งมีจำนวนมากกว่านั้นมาก ท่ามกลางคอนเทนท์เหล่านั้น ก็จะมีข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงผสมปนเปอยู่ด้วย ในฐานะคนหนึ่งที่เป็นผู้ใช้งานการสื่อสารออนไลน์ คุณเช็กข้อมูลเหล่านั้นให้ดีก่อนที่จะเผยแพร่ต่อหรือไม่? เพราะถ้าแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จ คุณรู้หรือไม่ว่ากระทบกับชีวิตคนได้เลย
เพื่อกระตุ้นให้คนไทย “เช็กก่อนแชร์” 3 เอเจนซี่โฆษณาชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด, บริษัท มูนช็อท ดิจิตอล จำกัด และ บริษัท ครีเอทีฟ จูซ แบงคอก จำกัด ผนึกกำลังกับองค์กรเอกชน เอสซีจี, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (TWA) จัดทำโครงการ “เช็กก่อนแชร์.com” ขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสังคมออนไลน์ของไทยสู่สังคมนักคิด วิเคราะห์ และตระหนักถึงผลกระทบจากข่าวสารอันเป็นเท็จ ที่ขาดการคัดกรองก่อนแชร์ออกสู่วงกว้าง จนเกิดความเสียหายแก่สังคมส่วนรวม
คุณสุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบริษัท แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทย และเริ่มมีอิทธิพลต่อผู้ใช้มากขึ้น จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหา และผลกระทบของการส่งต่อข่าวสาร ข้อความและ/ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ขาดข้อเท็จจริงมากมาย บนโลกออนไลน์ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปเกิดการรับรู้ที่ผิด จึงร่วมกันจัดทำโครงการ “เช็กก่อนแชร์.com” ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ผลักดันคุณภาพให้สังคมออนไลน์ของไทยดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียใช้กันอย่างสร้างสรรค์ มีสติ และเช็กก่อนแชร์ข้อมูลต่าง ๆ บนโลกออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ เพื่อพัฒนาสังคมออนไลน์ให้ที่ดียิ่งขึ้น”
โดยเว็บไซต์ดังกล่าว จะรวบรวมข้อมูลที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคม จากการรวบรวมของ Social Monitoring Tool แล้วทีมงานก็จะเช็กข้อมูลดังกล่าวกับสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ 2 รายขึ้นไป ต่อจากนั้นก็จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในแต่ละสาขาอาชีพ อาทิเช่น ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ด้านวิทยาศาสตร์, พญ.เสาวภา พรจินดารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็ก, ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ฯลฯ และนำเอาข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ ถ้าหากว่าผู้ใช้งานเว็บไซต์พบข้อมูลที่น่าสงสัยว่าถูกต้องหรือไม่ ก็สามารถนำเอา Keyword หรือ URL ของเว็บไซต์ต้นทางเสิร์ชในเว็บไซต์ได้เลย
ด้าน คุณพงษ์สุรีย์ อาศนะเสน Chief Executive Officer บริษัท ครีเอทีฟ จูซ แบงคอก จำกัด จำกัด กล่าวว่า “แค่ชื่อของเว็บไซต์ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีแล้ว เว็บไซต์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนไทยเข้ามาเช็กข้อมูลก่อนที่จะแชร์ออกไป แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่เราต้องการคือ การฉุกคิด ว่าต้องเช็กก่อนถึงจะแชร์ข้อมูลออกไปได้ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้โซเชี่ยลมีเดียอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์”
แม้ว่าหลายครั้งๆ อินไซต์ของคนที่แชร์ข้อมูลจะมีเจตนาที่ดี หวังให้ข้อมูลที่ต้นเผยแพร่เป็นประโยชน์กับคนรอบข้างและสังคม แต่กลับลืมเช็กข้อมูลให้ดีก่อน เพื่อทำให้คนไทยเข้าใจความสำคัญของข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้ง 3 ดิจิทัลเอเจนซี่ ใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการตั้งใจปั้นข้อมูลกึ่งเท็จขึ้นมา โดยโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพว่าการกลั้นตดเอาไว้อาจจะก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้ ซึ่งปรากฏว่าคอนเทนท์ดังกล่าวมีผู้คนแชร์ไป จนประเมินได้ว่าผู้พบเห็นข้อมูลดังกล่าวถึง 1,100,000 คน หลังจากนั้นก็เผยแพร่ข่าวสารที่แท้จริงออกไป ปรากฏว่ามีการแชร์ต่อน้อยกว่าข่าวหลอกถึง 10 เท่า
ในส่วนของความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชน คุณประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากความตั้งใจของ ปตท. ที่จะร่วมรณรงค์ให้คนไทยในสังคมออนไลน์มีการตรวจสอบข้อมูล และข่าวสารต่าง ๆ ก่อนการเชื่อและแชร์ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เกิดความร่วมมือในโครงการ “เช็กก่อนแชร์.com” ช่วยสร้างความตระหนัก ส่งเสริมพฤติกรรมการเสพ และเผยแพร่ข่าวสารอย่างรู้ทัน ภายในองค์กร ปตท. เองก็มีการรณรงค์ในเรื่องนี้เช่นกันโดยมีการกำหนดนโยบายการใช้สื่อไอทีและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังได้จัดทำMobile Applicationในชื่อว่า “PTT Insight” เพื่อการรับรู้ข้อมูลพลังงานที่ถูกต้อง โดยให้พนักงานและประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานได้อีกด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนของสังคมไทยจะเกิดการตื่นตัว และเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานของความคิด ค่านิยม และพฤติกรรมสังคมออนไลน์ให้มีการตรวจสอบข้อมูลและข่าวต่าง ๆ ก่อนที่จะแชร์มากขึ้นต่อไป”
คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี เปิดเผยถึงนโยบายของ เอสซีจี ในเรื่องโซเชี่ยลมีเดียว่า “เอสซีจี ตระหนักดีถึงภัยคุกคามทาง CYBER ที่มาควบคู่กับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จึงได้มีการจัดตั้ง IT Governance Committee ขึ้นภายในบริษัทฯ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และรณรงค์ปลูกฝังให้พนักงาน กว่า 54,000 คน ใช้อุปกรณ์ไอทีอย่างปลอดภัย คำนึงถึงการรักษาข้อมูลความลับของบริษัทฯ การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างระมัดระวัง และการใช้ Social Media อย่างสร้างสรรค์ ทั้งระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายของโครงการเช็กก่อนแชร์.com เพื่อสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในการรับและส่งต่อข่าวสารบนโลกออนไลน์ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงร่วมกันในวันนี้ด้วย”
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ โดย คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้บริหารสูงสุดการตลาด กล่าวว่า ธนาคารในฐานะองค์กรที่ใช้โซเซียลมีเดียในการสื่อสารสร้างความผูกพันกับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ต้องการส่งเสริมให้สังคมไทยมีการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแชร์ข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง การมีเว็บไซต์ “เช็กก่อนแชร์.com” เข้ามาช่วยกรองข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างนิสัยในการใช้สื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณ ทั้งการเสพและการส่งต่อ ทั้งยังอาจรวมไปถึงต้นตอคือการสร้างเนื้อหาที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย การมีแหล่งตรวจสอบข้อมูลที่เชื่อถือได้ แล้วเราช่วยกันใช้ ช่วยกันตรวจสอบกลั่นกรอง น่าจะมีส่วนส่งเสริม เพื่อให้สังคมออนไลน์และสังคมไทยของเรา มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (Thai Webmaster Association) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเนื้อหาในโลกออนไลน์ได้ส่งผลต่อสังคม และการใช้ชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ในนามของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จึงมีภาพกิจและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนและผลักดันเนื้อหาที่มีความถูกต้อง สร้างจริยธรรมที่ดีให้กับผู้นำเสนอและส่งต่อเนื้อหาบนโลกออนไลน์ไทย ทางสมาคมจึงเห็นว่าแคมเปญดี ๆ อย่าง เช็กก่อนแชร์.com นั้นน่าสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดภาพที่ดีบนโลกออนไลน์ไทยได้เป็นอย่างดี