HomeBrand Move !!รื้อโมเดล “โรบินสัน” ก้าวสู่ยุคใหม่ ยกเครื่ององค์กร ไม่จำกัดแค่การเป็น “ห้างสรรพสินค้า”

รื้อโมเดล “โรบินสัน” ก้าวสู่ยุคใหม่ ยกเครื่ององค์กร ไม่จำกัดแค่การเป็น “ห้างสรรพสินค้า”

แชร์ :

ถ้าพูดถึง Retailer ไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง คือ “โรบินสัน” ในฐานะเป็น “ห้างสรรพสินค้า” ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานเกือบ 40 ปี กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น 4 หน่วยธุรกิจ และในปีนี้ได้เปลี่ยนชื่อ จากเดิม “บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน)” ไปสู่การเป็น “บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)” เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว และเพื่อให้รองรับกับการดำเนินธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ที่จะขยายต่อไปในอนาคต

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ก่อนจะเจาะลึกรายละเอียดทั้ง 4 หน่วยธุรกิจ เรามาย้อนอดีต “ห้างสรรพสินค้า” ในไทย และเส้นทางจะมาเป็น “บมจ.โรบินสัน” ในวันนี้ ?!?

“ห้างสรรพสินค้า” จุดเริ่มต้นค้าปลีกสมัยใหม่ไทย

หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 – 50 ปีที่แล้ว โครงสร้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ในไทย ยังไม่แบ่ง Segmentation ยิบย่อยอย่างทุกวันนี้ ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นในรูปแบบ “ห้างสรรพสินค้า” (Department Store) เช่น ห้างไดมารู จากญี่ปุ่นเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อน, เซ็นทรัล ที่เปิดห้างสรรพสินค้าสาขาแรกที่ชิดลม, เดอะมอลล์, โรบินสัน, เมอร์รี่คิงส์ บางลำพู, ห้างคาเธ่ย์ และยังมีห้างท้องถิ่นอยู่ในต่างจังหวัดอีกมากมาย

ในบรรดาห้างสรรพสินค้าใหญ่-เล็กที่เกิดขึ้นมากมาย มี 3 ผู้เล่นรายหลักของตลาด คือ เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ และ โรบินสัน

“โรบินสัน” เปิดสาขาแรกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อปี 2522 วางตำแหน่งเป็นห้างสรรพสินค้า เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง แตกต่างจากเซ็นทรัล ที่เน้นเจาะกลุ่มบน

ต่อมาราวปี 2537 ได้เกิดปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ของวงการค้าปลีกไทย เมื่อ “เซ็นทรัล” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “โรบินสัน” เป็นไปตามนโยบายธุรกิจของเซ็นทรัลยุคนั้น ที่อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ “สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์” เล็งเห็นว่าต่อไปธุรกิจค้าปลีกในไทย จะเข้าสู่ยุค Segmentation เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก

เพราะฉะนั้น “กลุ่มเซ็นทรัล” จึงกำหนดยุทธศาสตร์ค้าปลีกแบบ Segmentation หนึ่งในนั้นคือ การดึง “โรบินสัน” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคา

ทั้งนี้ ในระหว่างยุคห้างสรรพสินค้าเฟื่องฟู นับตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา วิวัฒนาการของ Modern Trade ในไทย ได้เกิดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ศูนย์การค้า” (Shopping Mall หรือ Shopping Center) ซึ่งมีโมเดลและคอนเซ็ปต์แตกต่างจาก “ห้างสรรพสินค้า”

กล่าวคือ “ศูนย์การค้า” เป็นโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์ มุ่งตอบโจทย์ “ความครบวงจร” ของการใช้ชีวิต หรือ “One Stop Shopping” พื้นที่ภายในเปิดให้แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ เข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อทำให้ตัวศูนย์การค้ามีความหลากหลายของสินค้าและบริการ ทั้งกิน ช้อป เอนเตอร์เทนเม้นต์ ความรู้ การเงิน กีฬา ฯลฯ โดยที่ “ห้างสรรพสินค้า” ได้กลายเป็นหนึ่งในแม่เหล็กหลักของตัวศูนย์ฯ

ขณะที่ “ห้างสรรพสินค้า” มุ่งตอบโจทย์การช้อปปิ้งเป็นหลัก ภายในแบ่งออกเป็นแผนกต่างๆ เช่น แผนกเสื้อผ้าสตรี แผนกเสื้อผ้าเด็ก แผนกเสื้อผ้าบุรุษ แผนกเครื่องครัว หนังสือ-อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

เมื่อพัฒนาการ “ค้าปลีกไทย” ในวันนี้ ไม่ได้มีเพียง “ห้างสรรพสินค้า” แต่ยังแตก Segmentation มากมาย อีกทั้งเข้าสู่ยุคออนไลน์ และความต้องการของผู้บริโภคซับซ้อนขึ้น จึงทำให้ “โรบินสัน” ไม่ได้จำกัดตัวเองแค่การเป็นเชนห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ได้ขยายเข้าสู่การพัฒนาโครงการศูนย์การค้า ภายใต้ชื่อ “ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์” และยังขยายธุรกิจอื่นๆ

เจาะลึก 4 ธุรกิจหลัก “โรบินสัน”

ปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่ “โรบินสัน” ประสบความสำเร็จ ด้วยรายได้กว่า 30,187 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวม 2,815 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้ เดินหน้า “Transforming Robinson 2017” ภายใต้ชื่อใหม่ “บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)”

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจ “โรบินสัน” แบ่งเป็น 4 หน่วยธุรกิจชัดเจน ประกอบด้วย

1. ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ปัจจุบันประกอบธุรกิจค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 26 สาขา โดยจำหน่ายสินค้าแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศที่ครบทุกความต้องการ หลากหลาย และเน้นสร้างประสบการณ์ที่มากกว่าการช้อปปิ้งให้แก่ลูกค้า (Making Retail More Than Just Shopping)

2. ธุรกิจศูนย์การค้า (Shopping Mall) ภายใต้ชื่อ “ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์” เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 18 สาขาทั่วประเทศ โดยได้เริ่มพัฒนาครั้งแรกในปี 2553 ที่จังหวัดตรัง

ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าเต็มรูปแบบ และมีผู้เช่าเต็มพื้นที่ ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร ร้านอาหารชั้นนำ โรงภาพยนตร์ ธนาคารพาณิชย์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพลย์แลนด์ สวนน้ำ ฟิตเนส เป็นต้น โดยมีแนวคิดที่จะให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน (Center of Community) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “EAT-SHOP-PLAY”

การเปิด “ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์” เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้ “กลุ่มเซ็นทรัล” มีศูนย์การค้าครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากกลยุทธ์การพัฒนาโครงการศูนย์การค้าของเซ็นทรัล กำหนด Positioning ชัดเจนระหว่างแบรนด์ “เซ็นทรัล เฟสติวัล” เน้นขยายในโลเกชั่นจังหวัดใหญ่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และ “เซ็นทรัล พลาซา” ขยายไปตามหัวเมืองหลัก

ด้วยความที่เซ็นทรัลเป็นแบรนด์ใหญ่ และเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง – บน ทำให้ไม่สามารถเอาแบรนด์นี้ขยายไปในจังหวัดรอง และโลเกชั่นเล็กได้ จึงได้ใช้ “ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์” ของโรบินสัน ทำหน้าที่บุกตลาดหัวเมืองรอง โลเกชั่นเล็ก รวมถึงพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตรัง, บุรีรัมย์, ถนนศรีสมาน, แม่สอด จังหวัดตาก และล่าสุดกำลังจะเปิดสาขาที่ 19 ในชื่อ “ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี” วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 นี้

3. การบริหารแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้รับลิขสิทธิ์ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายเฉพาะในสาขาของโรบินสัน เช่น จัสท์บาย (Just Buy) , เพย์เลส ชูซอร์ส (Payless Shoe Source), เบบี้ช้อป (Babyshop) เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ (House Brand) ภายใต้คอนเซ็ปต์ เกรทแวลู (Great Value) ในแนวคิด 365 วันราคาเดียว ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้า 4 หมวด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับบ้าน, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายบุรุษ-สตรี และผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายเด็ก และจะเปิดตัวอีก 2 หมวดสินค้าเพิ่มเติม คือ เครื่องใช้ในห้องน้ำ และเครื่องครัวและชุดโต๊ะอาหาร กว่า 400 รายการ ในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้

4. โรบินสันในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ มีการลงทุนเปิดห้างสรรพสินค้าในเวียดนาม 2 แห่ง ที่เมืองฮานอย และเมืองโฮจิมินส์ ตั้งแต่ปี 2557

Credit : Robinson

“ในปี 2560 บริษัทฯ พร้อม “Transforming Robinson 2017” ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)” โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตังแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ซึ่งมีความหลากหลาย และไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเพื่อให้รองรับกับการดำเนินธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” มร. อลัน ทอมสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like