HomeBrand Move !!ผ่าแผน TCDC พลิกฟื้น “เจริญกรุง” จากย่านเก่า สู่ “ย่านความคิดสร้างสรรค์” แลนด์มาร์คกรุงเทพ

ผ่าแผน TCDC พลิกฟื้น “เจริญกรุง” จากย่านเก่า สู่ “ย่านความคิดสร้างสรรค์” แลนด์มาร์คกรุงเทพ

แชร์ :

“เจริญกรุง” หนึ่งในถนนเก่าแก่ของไทย ที่ในอดีตคลาคล่ำไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้า และเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ทำให้ถนนเส้นนี้ มีผู้คนมากมาย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ กระทั่งต่อมาย่านธุรกิจได้ขยายไปยังถนนสีลม สาทร ทำให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ย้ายไปอยู่ย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ นับจากนั้นเป็นต้นมา ถนนเจริญกรุงเงียบเหงาไปมาก ทว่ายังคงหลงเหลือธุรกิจบางประเภท เช่น จิวเวลรี่ และการท่องเที่ยว โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้เกิด Hostel มากมายบนถนนเส้นนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ถนนเจริญกรุงยังคงมี “ทุนทางวัฒนธรรม” หลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัด โบสถ์ มัสยิด อาคารเก่า บางอาคารยังมีการใช้งานอยู่ ขณะที่บางตึกถูกปล่อยร้างไว้ และตามตรอกซอกซอย ยังปรากฏให้เห็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

สิ่งเหล่านี้คือ “เสน่ห์” ที่กำลังจะถูกนำมาผสมผสาน เพื่อปลุกตำนาน “เจริญกรุง” จากย่านการค้าเก่าแก่ ที่ปัจจุบันมีประชากรไม่ต่ำกว่า 72,000 คน (2 เขต : บางรัก และสัมพันธวงศ์) ให้เป็น “ย่านความคิดสร้างสรรค์” หรือ Creative District ที่จะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ

หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” (TCDC) ที่มาเปิด “TCDC กรุงเทพฯ” ณ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง พร้อมทั้งปรับบทบาทและภารกิจการทำงานให้เข้มข้นขึ้น เพื่อตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 ที่ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ

3 ยุทธศาสตร์ ความท้าทายใหญ่

TCDC ตั้งเป้าผลักดันศูนย์ฯ แห่งใหม่ ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ คือ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์, เป็นแหล่งบ่มเพาะนักสร้างสรรค์และธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้ภาคการผลิตนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และเป็นผู้ผลักดันระบบนิเวศพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุง โดยสร้างความร่วมมือกับทั้งภาคประชาชน, หน่วยงานรัฐ, ภาคเอกชน ในการร่วมกันเนรมิตย่านการค้าเก่าแก่แห่งนี้ ให้เป็น “ย่านความคิดสร้างสรรค์” ของกรุงเทพฯ

คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) และ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ขยายความบทบาทและภารกิจว่า โจทย์เดิมของ TCDC มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ แต่ปัจจุบันนอกจากโจทย์เดิมแล้ว เรายังมีโจทย์ใหม่ คือ กระจายความหมายของความคิดสร้างสรรค์ ไปยังกลุ่มคนหลากหลาย เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์ ใช้ประโยชน์ ซึ่งการมาอยู่ที่นี่ ทำให้ได้ผู้ใช้บริการกลุ่มใหม่ สามารถครอบคลุมถึงฝั่งธนบุรี

“ประกอบกับถนนเจริญกรุง มีทั้งทุนวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ไม่วาจะเป็นระบบโลจิสติกส์ของไปรษณีย์ไทย และระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ CAT ถ้าเราสามารถเชื่อมต่อส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้ จะเอื้อต่อการดึงดูด บ่มเพาะ “ผู้ประกอบการ ธุรกิจใหม่” ซึ่งเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ และดิจิทัล เช่น สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการที่พัฒนา Digital Platform อาทิ E-Commerce, Animation, Advertising ให้เข้ามาตั้งสำนักงานในย่านเจริญกรุง เป็นออฟฟิศขนาดย่อมๆ มีพนักงาน 10 – 30 คน หรือ 3 คน และใช้ประสิทธิภาพของเครื่องมือดิจิทัล และโลจิสติกส์ ทำงานเร็วขึ้น สะดวกขึ้น นอกจากนี้เรายังมองถึงกลุ่มทำงานออกแบบโดยตรง ที่จะมาใช้ประโยชน์จาก TCDC

ขณะนี้เราเป็นคนกลางในการเจรจากับหลายที่ เช่น เราเข้าไปคุยกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีอาคารเก่าในย่านนี้ เพื่อทำให้ราคาเช่า อยู่ในระดับไม่แพงมาก คนรุ่นใหม่สามารถเช่าได้”

หลังจากบ่มเพาะ และดึงธุรกิจใหม่เข้ามาในย่านนี้ สเตปต่อไปที่ TCDC อยากให้เกิดขึ้น คือ การยกระดับย่านเจริญกรุง ให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยต้องเข้าไปคุยกับหน่วยงานรัฐ เช่น สภาพัฒน์ และ BOI เพราะการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีสิทธิพิเศษที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน

“นอกจากนักลงทุนไทยแล้ว ในอนาคตข้างหน้า ถ้ามีเงื่อนไขการลงทุนดี ประกอบกับย่านนี้มีวัฒนธรรมเดิมที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานดี เราเชื่อว่าจะมีต่างชาติเข้ามาลงทุน สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้ประโยชน์จากต่างชาติคือ ทักษะ และวิธีคิดต่างๆ”

สร้างความร่วมมือ ปั้นฝันให้เป็นจริง!

การผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ คงไม่ได้มาจาก TCDC เพียงฝ่ายเดียว ทว่าเกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ – หน่วยงานภาครัฐ – ภาคเอกชน

ก่อนเปิด TCDC อาคารไปรษณีย์กลางอย่างเป็นทางการ ได้เข้าไปพูดคุยกับชุมชน เนื่องจากคนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจความหมายของการพัฒนาเจริญกรุง ให้เป็น “Creative District” จึงได้ทำกิจกรรมในพื้นที่ร่วมกัน เช่น ขอเช่าพื้นที่อาคารเก่า ทำเป็น Common Space หรือพื้นที่ของชุมชน ทดลองเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พบว่ามีคนในย่านนี้เข้ามาใช้ แสดงให้เห็นว่าชุมชนต้องการพื้นที่ชุมชน

“อนาคตเร็วๆ นี้ TCDC จะร่วมมือกับคนในชุมชน เพื่อจัดทัวร์พาเที่ยวในย่านนี้ หรือกิจกรรม “Redefining the District สรรค์สร้าง…เจริญกรุง” ได้เชิญคนในชุมชนเข้าร่วม เช่น ให้เขามาเปิดขายอาหาร ทำให้เกิดการอยู่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน”

รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานเขต และผู้ประกอบการภาคเอกชนในย่านนี้ เช่น โรงแรม และต่อไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมี Mega Project มากมาย “TCDC” จะสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้าง Impact ทำให้คนรู้จัก Creative District มากขึ้น

“เจริญกรุง ย่านสร้างสรรค์ แผนดำเนินการในช่วงแรก เริ่มตั้งแต่บีทีเอสสะพานตากสิน จนถึงริเวอร์ซิตี้ ขณะที่แผนใหญ่ เราอยากครอบคลุมพื้นที่ถึงตลาดน้อย เพราะบริเวณนั้นมีร้านขายของจำนวนมาก และมีอาคารน่าสนใจเยอะ พร้อมทั้งขยายไปยังฝั่งถนนเจริญนคร”

ยลโฉม 6 โซน 5 ชั้น บนพื้นที่ 9,000 ตารางเมตร

ภายในศูนย์ฯ ใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ชั้น รวมเกือบ 9,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่

1. พื้นที่ห้องสมุด (Resource Center) แหล่งรวบรวมหนังสือ วารสารและสื่อสิ่งพิมพ์ด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ

2. พื้นที่นิทรรศการ (Gallery) พื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ

3. พื้นที่ทำงาน Co-working Space (Creative Space) พื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงาน ที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศแห่งความครีเอทีฟ

4. พื้นที่ให้คำปรึกษาธุรกิจ (Creative Business Center) พื้นที่บริการให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจและการออกแบบ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเครือข่าย เพื่อสร้างมูลค่าธุรกิจ จากผู้ประกอบการและผู้ประกอบการหลากหลายสาขา

5. ห้องปฏิบัติการ (Maker Space) พื้นที่ห้องปฏิบัติการเปลี่ยนไอเดียให้เป็นชิ้นงานต้นแบบ โดยจะมีบริการเครื่องมือที่ครบครันและผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา

6. ศูนย์วัสดุและนวัตกรรม (Material & Design Innovation Center) ศูนย์รวบรวมวัสดุและนวัตกรรมด้านการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้รวบรวมวัสดุและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจด้านการออกแบบจากทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ

ตั้งเป้าคนใช้บริการศูนย์ฯ ใหม่กว่า 200,000 คนต่อปี ใกล้เคียงกับ TCDC เอ็มโพเรียม

กางแผนขยาย TCDC ต่างจังหวัด – ผุดโมเดลจับมือเอกชน

ปัจจุบันสาขาของ TCDC ที่ลงทุนเอง มี 2 แห่ง คือ ไปรษณีย์กลาง เจริญกรุง และเชียงใหม่ นอกจากนี้มีโมเดล Mini TCDC กระจายไปกับสถาบันการศึกษาส่วนภูมิภาค 35 แห่ง

ขณะที่ในเดือนเมษายน 2561 เตรียมเปิดที่ขอนแก่น โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นปี 2562 ขยายไปยังหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

อีกหนึ่งโมเดล คือ การจับมือกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ขณะที่ TCDC รับบริหารจัดการ เมื่อปีที่แล้ว ร่วมกับ “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ตั้ง TCDC Commons ในโครงการ IDEO Q สามย่าน เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการ

ส่วนในปีนี้ เดือนมิถุนายน TCDC Emporium จะกลับมาเปิดให้บริการใหม่ โดยความร่วมมือกับ AIS ทำเป็น Digital Design Center รองรับกลุ่มสตาร์ทอัพ และร่วมกับ “W District” เป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์ย่านพระโขนง ทำโปรเจค TCDC เช่นกัน คาดว่าจะเปิดตังในอีก 4 – 5 เดือนข้างหน้า

แต่ละที่ของ TCDC มีคอนเซ็ปต์แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความแตกต่างของแต่ละสาขา ทั้งหนังสือ และกิจกรรม

“ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ TCDC เปิดดำเนินการ ให้บริการประชาชนไปแล้ว 15 ล้านคนครั้ง ผ่านการให้บริการในพื้นที่แหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ และบริการออนไลน์ โดยพัฒนาความรู้และสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการกว่า 100,000 ราย ส่งเสริมการส่งออกแก่ผู้ประกอบการวัสดุไทยมากกว่า 200 บริษัท และจากการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการในภาคการผลิต และธุรกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านการใช้บริการของ TCDC พบว่าธุรกิจต่างๆ เหล่านั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น 26% จากรายได้เดิม” คุณอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like