เวลานี้โลกได้เปลี่ยนผ่านจากยุค “Industry 3.0” เป็นยุคแห่งอิเลคทรอนิกส์, ไอที, เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบการผลิตอัตโนมัติ เข้าสู่ยุค “Industry 4.0” หรือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” ในภาคการผลิตจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI), Internet of Things (IoT), หุ่นยนต์, นาโนเทคโนโลยี, ไบโอเทคโนโลยี, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, การเก็บกักพลังงาน
ปัจจุบันภาคการผลิตทั่วโลก ในหลายอุตสาหกรรมต่างปรับตัว หันไปใช้เครื่องจักร และหุ่นยนต์ทำงานในบางฟังก์ชั่น แทนแรงงาน “คน” มากขึ้น เพราะได้ Productivity มากกว่า และผลในระยะยาว คุ้มค่าต่อการลงทุน ในขณะที่ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งบางประเทศยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน
บริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทย ขณะนี้หันมาใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรทำงานมากขึ้น อย่างล่าสุด “กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ” ในเครือทีซีซี ผู้ผลิตเครื่องดื่ม Alcohol และ Non-alcohol รายใหญ่ของไทย ได้จัดตั้งบริษัท “เบฟเทค” เพื่อศึกษาและพัฒนาเครื่องจักร – หุ่นยนต์ สำหรับนำมาใช้กับโรงงานในเครือไทยเบฟ
“โลกในอนาคต จะเป็น Fully Automation และใช้ Robotics เพื่อลดการใช้แรงงาน ขณะที่ “คน” จะพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการ พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ ไม่ได้ใช้ด้านแรงงานหยิบของ ยกของ ส่งของ เพราะงานแรงงาน เป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำได้” คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยเทรนด์ธุรกิจในอนาคต
ปัจจุบันโรงงานในกลุ่มไทยเบฟ ทั้งโรงงานผลิตสุรา เบียร์ เครื่องดื่มอัดลม น้ำดื่ม และชาเขียว จำนวนรวม 30 – 40 โรงงาน ได้ยกระดับการผลิตเป็นระบบ Automation ด้วยการใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แล้ว ซึ่งระดับการใช้ระบบ Automation ของแต่ละโรงงานแตกต่างกัน แต่จะทยอยยกระดับให้แตะระดับ 70 – 90% ของกระบวนการผลิตทั้งหมด
โดยโรงงานโออิชิ ทั้ง 4 แห่ง (3 แห่งผลิตเครื่องดื่ม และ 1 แห่งผลิตอาหาร) ใช้ระบบ Automation 90% ขณะที่โรงงานเบียร์ 3 แห่ง ใช้ระบบ Automation 80% ส่วนโรงงานกลุ่มธุรกิจสุรา และโรงงานเสริมสุข อยู่ที่ 50%
“ถ้าซื้อหุ่นยนต์จากคนอื่น ต้นทุนสูง แต่เราสร้างหุ่นยนต์เอง โดยบริษัทเบฟเทค ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยทีมเบฟเทค เราดึงระดับหัวกะทิจากหน่วยงานวิศวกรรมของบริษัทในเครือ มารวมตัวกัน เพื่อพัฒนาเครื่องจักรและหุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงงานของเครือไทยเบฟ เพื่อยกระดับการผลิตเป็นระบบ Automation จากในอดีตบางโรงงานใช้ Automation ระดับ 20% ของกระบวนการผลิตทั้งหมด ต้องยกระดับขึ้นไปเป็น 40% 60% 70% และไปถึง 80 – 90% แต่ไม่ต้องถึง 100%
วัตถุประสงค์ของการใช้ระบบ Automation ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่จ้างคน แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานหายาก และต้องมองในมุมสุขภาพของพนักงาน ที่ในแต่ละวันต้องยกลังจำนวนมาก เพราะฉะนั้นกลุ่มไทยเบฟ ไม่ได้มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน แต่เราต้องเปลี่ยน Labor ให้เป็น Operator โดยฝึกอบรมพนักงานให้เป็นคนควบคุมระบบเครื่องจักร – หุ่นยนต์ และจากนั้นเราต้องยกระดับพนักงานขึ้นเป็น Supervisor” ดร.พิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว และเป็นหัวเรือใหญ่ของเบฟเทค
“โออิชิ” ทุ่ม 2,000 ล้าน เปิดโรงงานใหม่ ขยายการผลิตด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ
ในกลุ่มไทยเบฟ “โออิชิ” ถือเป็นผู้นำของการใช้ระบบการผลิตแบบ Automation ซึ่งล่าสุดได้ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาท เปิดตัว “โรงงานโออิชิ วังม่วง” จังหวัดสระบุรี พร้อมขยายสายการผลิตและบรรจุด้วยเทคโนโลยีปลอดเชื้อ Cold Aseptic Filling หรือ CAF ไลน์ที่ 4 หรือ “CAF4” เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านกำลังการผลิต ส่งผลให้กำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 360 ล้านขวดต่อปี
ด้วยโลเกชั่นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นประตูสู่อีสาน รวมทั้งขณะนี้ภาครัฐพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทำให้โรงงานแห่งนี้เป็น Strategic Location ด้านการผลิตและระบบโลจิสติกส์ของโออิชิ ที่สามารถขนส่งและกระจายสินค้าครอบคลุมทั้งภาคเหนือ อีสาน และกลุ่มประเทศ CLMV
การผลิตโรงงานแห่งนี้ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร และหุ่นยนต์ ขณะที่จำนวนพนักงานทั้งโรงงานมีเพียง 105 คน เมื่อเทียบกับโรงงานทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ระบบ Automation ต้องใช้พนักงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน
“จุดเด่นของสายการผลิต CAF4 คือ มีเทคโนโลยี Blow – Aseptic Fill Block ที่สามารถสร้างสรรค์รูปทรงผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทำให้ผลิตขวดได้หลายขนาด ไม่จำกัดรูปทรง และเป็นการลดข้อจำกัดของแพ็คเกจจิ้งไม่ให้หยุดอยู่เพียงในรูปแบบขวดที่เราคุ้นชิน เพื่อสร้างความแตกต่าง และเพิ่มฐานลูกค้าผู้ดื่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ยังใช้หุ่นยนต์ช่วยปฏิบัติงาน เพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ สามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้คนทำงานน้อยลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และโออิชิมีมาตรฐานการควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน รวมถึงการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติก ฉลาก ลังกระดาษ ได้ขั้นต่ำประมาณ 1,600 ตันต่อปี และลดการใช้พลังงานความร้อน ความเย็น แสงสว่าง และไฟฟ้าจากเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตรวม 1.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือคำนวณเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้อย่างน้อย 1,691 ตันต่อปี” ดร.พิษณุ ขยายความเพิ่มเติม
ทางด้าน คุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ในปีที่ผ่านมาธุรกิจเครื่องดื่ม เติบโตทั้งด้านรายได้ และกำไร ขณะที่ในด้านภาพลักษณ์แบรนด์ก็เติบโตเช่นกัน ทั้งในด้านการเป็น Brand for me, การเป็นตราสินค้าที่เหมาะสำหรับวัยรุ่น, การเป็นตราสินค้าที่สร้างความสนุกสนาน, การเป็นตราสินค้าที่เจ๋งและทันสมัย (Cool Brand) และการเป็นตราสินค้าที่ให้ความสดชื่น (Refreshing Brand) โดยชาผลไม้ “โออิชิองุ่นเคียวโฮ” ขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุดของโออิชิในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนาด 380 มล.
“เราเชื่อว่าการเสริมทัพด้วยสายการผลิต CAF4 จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะสามารถสร้างความแข็งแกร่ง และความแตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ 2020 ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ที่วางเป้าหมายเป็นบริษัทเครื่องดื่มใหญ่ที่สุดและมีผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งมีความหลากหลายของตลาดและผลิตภัณฑ์ มีตราสินค้าที่โดนใจ มีการขายและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง และทีมงานมีความเป็นมืออาชีพ”