เวลานี้ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของยักษ์อีคอมเมิร์ซระดับโลก เพราะความที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีสัดส่วนเพียง 3% ของอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวม ขณะที่ประชากรในอาเซียนมีจำนวนมากกว่า 600 ล้านคน ประกอบกับการลงทุน และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กำลังมุ่งมาตลาดแถบนี้ จึงเป็นโอกาสอันมหาศาลที่ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ต้องการปักธง
“Alibaba” มองเห็นโอกาสนี้เช่นกัน เมื่อปี 2016 ทุ่มเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อกิจการ “Lazada” อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Rocket Internet เป็นวิธีการ Short cut เข้าตลาดภูมิภาคนี้ได้เร็ว ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และในปีนี้เข้าไปลงทุนในมาเลเซีย โดยต้องการให้เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของภูมิภาคนี้ ทั้งยังวางแผนเปิด Data Center ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียช่วงไตรมาส 1 ของปี 2018
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของยักษ์อีคอมเมิร์ซจากแดนมังกร ได้ลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Lazada Group จาก 51% เป็น 83% ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า “Alibaba” เอาจริงกับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของแผน Global Strategy ที่ต้องการขยายอาณาจักรทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน Lazada ทำตลาดใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม
นับตั้งแต่ “Alibaba” ซื้อกิจการ “Lazada” ได้ประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนำเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ และองค์ความรู้ในธุรกิจนี้ มาสนับสนุนการทำงานของ Lazada และการเข้าถือหุ้น 83% ในครั้งนี้ “Alibaba” มองว่าจะทำให้ “Lazada” สามารถลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยี, ระบบชำระ และโลจิสติกส์ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ
“ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ ยังเป็นตลาดที่เล็ก แต่เราเห็นศักยภาพที่จะขยายได้อีกมาก เราจึงทุ่มเททรัพยากรเข้ามายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการลงทุนใน Lazada เพื่อจับโอกาสการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้” Daniel Zhang, CEO, Alibaba Group กล่าว
ไม่ได้มีเพียง “Alibaba” เท่านั้นที่ยกทัพบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีอีกหนึ่งคู่แข่งรายสำคัญ ที่สู้กันดุเดือดทั้งในจีน และตลาดนอกประเทศจีน คือ “JD.com” ได้ประกาศแล้วว่าจะรุกตลาดแถบนี้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ลงทุนในอินโดนีเซีย ล่าสุดเตรียมปักธงตลาดประเทศไทย ที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงปลายปี 2017
ต่อไปธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นสมรภูมิการแข่งขันของยักษ์ใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งด้านความเชี่ยวชาญ กองกำลังพล และเงินทุนที่สร้างระบบ Infrastructure ของตนเองให้แข็งแกร่ง ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่ค้าขายบนออนไลน์ สุดท้ายแล้วจะถูกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศธุรกิจของอีคอมเมิร์ซรายใหญ่
Photo Credit : www.alibabagroup.com