ที่ผ่านมา โปรดักต์ของซีพีเอฟ กระจายไปในแทบจะทุกพอร์ตของ Food Industry ไม่ว่าจะอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) หรือกลุ่มอาหารสด ที่มีให้เลือกทั้งหมู ไก่ ปลา กุ้ง ไข่สด หรือในกลุ่มอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat) และของว่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก แฮม เบคอน เบอร์เกอร์ เมนูไข่ หรือเมนูข้าวกล่องต่างๆ แต่หนึ่งในช่องว่างที่กลุ่มซีพีเอฟยังไม่ได้เข้าไปจับจองอย่างเป็นทางการ คือ กลุ่มอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเป็นเมนูที่ไม่มีส่วนประกอบจากเนื้อสัตว์เลย อาจจะเพราะด้วยพื้นฐานธุรกิจหลักที่อยู่ในอุตสาหกรรมทั้ง Farm Feed และ Food ทำให้ส่วนใหญ่จะเน้นการพัฒนาโปรดักต์จากทรัพยากรต้นน้ำที่มีอยู่มาต่อยอดให้ได้มากที่สุด
และเพื่อไม่ให้เสียชื่อยักษ์ใหญ่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ที่ไม่ว่าผู้บริโภคนึกอยากรับประทานอะไร ซีพีเอฟก็จะสามารถแทรกเข้าไปเป็นหนึ่งในทางเลือกในแต่ละมื้อให้แก่ผู้บริโภคได้อยู่เสมอ กับการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ล่าสุด ภายใต้ชื่อ “Smart Meal” (สมาร์ทมีล) ซึ่งถือเป็นการบุกตลาดอาหารมังสวิรัติแช่แข็งพร้อมรับประทานเป็นครั้งแรกของซีพีเอฟ
คุณสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตลาดอาหารมังสวิรัติเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งจากเทรนด์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพในการรับประทานมากขึ้น ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้กระแสการดูแลสุขภาพจะยิ่งเติบโต โดยเฉพาะอาหารเป็นปัจจัยแรกๆ ที่คนกลุ่มนี้คำนึงถึง ทั้งซื้อเพื่อบริโภคเอง หรือให้ผู้สูงอายุรับประทาน
เมื่อพิจารณาตลาดมังสวิรัติพร้อมทาน แม้ขณะนี้ตลาดอาจจะยังไม่ใหญ่มาก แต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องปีละ 10-15% รวมทั้งมีปัจจัยเสริมเข้ามาผลักดันให้ตลาดเติบโตได้อีก โดยปัจจุบันตลาดอาหาร RTE มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีอาหารมังสวิรัติประมาณ 2,500 ล้านบาท และหากเป็นอาหารมังสวิรัติในกลุ่ม frozen Food ที่จำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั่วๆ ไป จะมีขนาดตลาดที่ 250 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งการที่ซีพีเอฟเข้ามาในตลาดนี้อย่างจริงจังเชื่อว่าจะทำให้ตลาดขยายตัวจากการเข้ามาเพิ่ม Supply ให้กับตลาด เพราะลูกค้ามีความต้องการอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังหาซื้อได้ยาก มีเมนูให้เลือกน้อย รวมทั้งรสชาติที่ยังไม่ถูกใจผู้บริโภคมากนัก
“ซีพีเอฟใช้เวลาถึง 2 ปี ในการพัฒนาสูตรอาหารกลุ่มมังสวิรัติแช่แข็ง เพื่อให้พร้อมสำหรับการเข้ามาทำตลาดในครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหาซื้อได้ง่ายขึ้น รสชาติดีขึ้น ลูกค้าจะซื้อมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยแนะนำ 4 เมนูแรก ประกอบด้วย วุ้นเส้นอบเต้าหู้สามเซียนมังสวิรัติ, บะหมี่ผักโมโรเฮยะผัดพริกมังสวิรัติ, ข้าวอบฟักทองห้าเซียนมังสวิรัติ และ ข้าวผัดสาหร่ายคู่สหายมังสวิรัติ และภายในปีนี้จะมีเมนูเพิ่มเติมอีก 3 เมนู รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอื่นๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม ประกอบด้วย สมาร์ทซุป น้ำซุปสำหรับเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วย สมาร์ทดริ๊งค์ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม และ สมาร์ทซอส เครื่องปรุงรสเฉพาะกลุ่ม เช่น สำหรับผู้มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน โดยตั้งเป้ายอดขายปีแรก 100 ล้านบาท และเติบโตปีละประมาณ 15% ไม่น้อยกว่าการเติบโตของตลาด”
สำหรับแนวทางทำตลาด เบื้องต้นเตรียมงบ 15 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ โดยเน้นการ Educated เรื่องของการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และประโยชน์ของวัตถุดิบต่างๆ ที่สมาร์ทมีลนำมาใช้เป็นส่วนประกอบ ขณะที่ช่องทางสื่อสาร น้ำหนักส่วนใหญ่ราว 80% จะเป็นการใช้ Social Media เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
ซีพีเอฟยังมองโอกาสของสมาร์ทมีลในการทำตลาดส่งออก โดยเริ่มต้นที่ตลาดในอาเซียน ก่อนจะขยายไปในตลาดอื่นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มอาหารที่มีดีมานด์สูง ขณะที่ตลาดยังไม่ใหญ่มาก ประกอบกับ การใช้วัตถุดิบหรือมาตรฐานกระบวนการในการผลิต ไม่มีความเสี่ยงต่อเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าต่างๆ ขณะที่การตอบรับของตลาดในประเทศ หลังเริ่มวางตลาดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผลตอบรับที่ค่อนข้างดี ทั้งจากผู้บริโภค รวมทั้งจากช่องทางขาย ที่เจ้าของพื้นที่ต้องการให้นำสินค้าไปวางขายบนเชลฟ์จำนวนมาก
สมาร์ทมีล จะกลายเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญ ในการเข้ามาขยายพอร์ตอาหารของซีพีเอฟ ให้ใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น และเริ่มมองเห็นแนวโน้มการขยายที่เริ่มโฟกัสในตลาดแบบเฉพาะกลุ่มยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเดินเกมอีกหนึ่งรูปแบบของซีพีเอฟ จากที่ก่อนหน้าจะเน้นการทำตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภคในกลุ่มตลาดที่มีโปรดักต์รองรับอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่