ทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน จะตรงกับวัน Stop Cyberbullying Day หรือวันหยุดการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบจากการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในบางกรณีการกลั่นแกล้งส่งผลกระทบรุนแรงจนเกิดการสูญเสียชีวิต จากการฆ่าตัวตายของผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง และที่น่าเป็นห่วงคือ ความไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น ถือว่าเป็น Cyberbullying ข้อมูลผลวิจัยขั้นต้น (preliminary) เรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” โดยความร่วมมือระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอีก 12% ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า
รูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ โดนล้อเลียนและถูกตั้งฉายา 79.4% ตามด้วยถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ 54.4% คนอื่นไม่เคารพ 46.8% ถูกปล่อยข่าวลือ ถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และถูกทำให้หวาดกลัว ตามลำดับ ข้อมูลยังพบว่า คนที่เด็กจะไปปรึกษามากที่สุดเมื่อมีปัญหาคือ เพื่อน 89.2% ตามด้วยผู้ปกครอง 59% พี่น้อง 41.2% และครูเป็นลำดับสุดท้าย
ข้อมูลที่ได้สะท้อนว่า “เพื่อน” มีอิทธิพลต่อเด็กวัยรุ่นตอนต้น อายุระหว่าง 13-15 ปี มากที่สุด เมื่อถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง จะมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม ไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน หนีเรียน ขาดสมาธิ ผลการเรียนตกลง ซึมเศร้า จนอาจใช้สารเสพติด และถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสำคัญ และพยายามรณรงค์ให้หยุดการกลั่นแกล้งรังแกกันบนโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคสังคม เพื่อขับเคลื่อนพันธสัญญาหลักในการสร้างอินเตอร์เน็ตปลอดภัย (Safe Internet) เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมที่ยั่งยืน
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคให้ความสำคัญกับ 4 เป้าหมายหลัก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานผู้ใช้งานของดีแทค ด้วยสัดส่วนประมาณ 20% ประกอบด้วย 1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก 2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ 3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น และ 4. ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับดูแลที่ดีขึ้น
“ทั้ง 4 เป้าหมายหลัก ยังสอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ 5 ประการ ในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ของรัฐบาล เพื่อให้สังคมไทยมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม ให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ และใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการจัดระบบปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยาเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมทั้งควบคุมสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อเยาวชน ซึ่งการสร้าง Safe Internet ถือเป็นพันธสัญญาของดีแทค ในการลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG10) อีกด้วย”
เพื่อสานต่อพันธกิจในการต่อต้าน Cyberbullying ในปีนี้ ดีแทค ร่วมกับ มูลนิธิ Path2Health พัฒนาระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ผ่านห้องแชทเลิฟแคร์ไม่รังแกกัน Stopbullying.lovecarestation.com ที่ต่อยอดมาจากโครงการไม่รังแกกัน เพื่อป้องกันเด็กจากการถูกรังแกในทุกรูปแบบ ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน ทำให้เด็กมีความสุข และอยากมาเรียน รวมทั้งสร้างค่านิยมเกี่ยวกับการไม่รังแกกันบนโลกออนไลน์ รู้จักปกป้องสิทธิ์ของตัวเองที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ กทม. เพราะมีความเสี่ยงสูง ทั้งจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม ก่อนจะขยายพื้นที่ไปในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งขยายการรับรู้ไปสู่กลุ่มคุณครูและผู้ปกครองในระดับต่อไป
คุณธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการลดการรังแกกันผ่านทางแชท Lovecarestation มูลนิธิ P2H กล่าวว่า โครงการ Stop Bullying: เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ดีแทค และมูลนิธิแพธทูเฮลธ์ เพื่อให้บริการปรึกษาผ่านห้องแชทออนไลน์ ในการลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อหาแนวทางจัดการและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการใช้บริการเว็บไซต์ http://stopbullying.lovecarestation.com/ ทำให้สามารถประเมินตัวเองได้ว่ารูปแบบไหนที่เข้าใจว่าถูกรังแก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย วาจาหรือออนไลน์ โดยมีทั้งข้อมูลและวิดีโอคลิปให้ศึกษา กระทู้ตั้งคำถามหรือแชร์ประสบการณ์ ตลอดจนการไลฟ์แชทในเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังหรือให้ความช่วยเหลือเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือหากเด็กมีความเครียด มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือมีภาวะซึมเศร้า ก็จะทำการส่งต่อไปที่คลินิกวัยรุ่นของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือคอลเซ็นเตอร์ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ต่อไป
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้นำเสนอผลวิจัย “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” เปิดเผยต่อว่า ความน่ากลัวของการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์คือ สิ่งที่โดนแกล้งนั้นจะกระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วจากการแชร์ต่อๆ กัน ทำให้มีคนเห็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้แกล้งสามารถซ่อนไม่ให้ผู้ที่ถูกแกล้งเห็นได้ และที่น่ากลัวที่สุดคือ สิ่งนั้นจะอยู่อย่างยาวนานไม่สามารถลบออกไปได้ ประกอบกับ การถูกกลั่นแกล้งบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะที่การกลั่นแกล้งบนโลกออฟไลน์ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กๆ อยู่ด้วยกันไมกี่ชั่วโมงที่โรงเรียนเท่านั้น โดยมีข้อแนะนำหากพบเห็นการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ สิ่งที่ควรทำคือ อย่ากด Like หรือ Share อย่าตำหนิผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง รวมทั้งพยายามให้กำลังใจและอย่าเพิกเฉยต่อผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ก็จะเป็นการบรรเทาผลกระทบจาก Cyberbullying ได้ในระดับหนึ่ง
ฟังก์ชั่นการใช้งานของ Stopbullying.lovecarestation.com
1. Stop Bullying Chat Line = บริการให้คำปรึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่โดนกลันแกล้งทั้งจากออนไลน์และออฟไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมเฉพาะทาง โดยให้บริการ 16.00 – 24.00 น. ของทุกวัน
2. Web Board = เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ตั้งกระทู้ถาม หรือแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารเรื่องเกี่ยวกับ Bullying
3. live From Celebrity = บริการถ่ายทอดสดกับเหล่าเซเลบ คนดัง และผู้เชี่ยวชาญในการพูดคุย แบ่งปัน หรือปรึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ Bullying
4. บทความ = รวมเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง