“Jeff Bezos” ชายวัย 53 ปี ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ “Amazon” จำนวน 78.9 ล้านหุ้น ล่าสุดขึ้นเป็นอภิมหาเศรษฐีรวยที่สุดของโลก เสียบตำแหน่งแทน “Bill Gates” แล้ว ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 90.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หุ้น “Amazon” ปรับตัวขึ้น 1.6% ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของ Jeff Bezos เพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เส้นทางของ “Jeff Bezos” ก่อนตั้งอาณาจักรอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดของโลก และก้าวขึ้นเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของโลกในวันนี้ เขาจบการศึกษาจาก Princeton University สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เคยทำงานในตลาดหุ้น Wall Street ก่อนที่จะมาก่อตั้งธุรกิจ “Amazon” เมื่อปี 1994 โดยออฟฟิศแรกเริ่มอยู่ในโรงรถของเขาเอง
ชื่อของ “Jeff Bezos” ปรากฏเป็นครั้งแรกในผลการจัดอันดับมหาเศรษฐีรวยที่สุดในโลกของ “Forbes 400” เมื่อปี 1998 โดยเวลานั้นเขามีมูลค่าทรัพย์สิน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ผลสำรวจ “Forbes The World’s Billionaires” เมื่อเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา เจ้าพ่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก มีมูลค่าทรัพย์สิน 72.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 2.5 ล้านล้านบาท รองจาก Bill Gates และ Warren Buffett
ล้วงลึกอาณาจักร “Amazon” จากค้าปลีกออนไลน์ สู่ธุรกิจนำเที่ยวอวกาศ
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “Jeff Bezos” คนส่วนใหญ่จะนึกว่าเขาทำแต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วภายใต้อาณาจักรธุรกิจของชายคนนี้ ไม่ได้มีเพียงธุรกิจอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจสื่อ ธุรกิจหุ่นยนต์ ทั้งยังเป็นนักลงทุนตัวยง ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจน้อยใหญ่มากมาย
Visual Capitalist ได้ทำอินโฟกราฟิกเจาะลึกอาณาจักรธุรกิจเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซระดับโลก ทั้งฝั่งที่อยู่ภายใต้ชายคากลุ่ม “Amazon” และฝั่งที่อยู่ภายใต้การลงทุนของ “Bezos Expeditions” อีกทั้งยังมีธุรกิจที่ Jeff Bezos ลงทุนในนามส่วนตัว
“Amazon” เน้นการลงทุน และซื้อกิจการที่มีความเชื่อมโยงกับ Core Business ของบริษัท เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจทั้งในวันนี้ และรองรับในอนาคต อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวสะเทือนวงการค้าปลีกในสหรัฐฯ เมื่อ Amazon ซื้อกิจการค้าปลีกอาหารออแกนิค และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ “Whole Foods” ด้วยมูลค่า 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ Amazon เคยซื้อกิจการธุรกิจต่างๆ เข้ามา
หรือย้อนกลับไปในปี 2009 เข้าซื้อกิจการเว็บไซต์ขายรองเท้า “Zappos.com” มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนั้นในปี 2012 ซื้อกิจการผลิตหุ่นยนต์ “Kiva Systems” ด้วยมูลค่า 780 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “Amazon Robotics” นอกจากนี้ปี 2014 ซื้อกิจการ “Twitch.tv” เป็นธุรกิจ Live Streaming Video ด้วยมูลค่า 970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ กลุ่ม Amazon ยังจ้างงานเพิ่ม 50,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ และเมื่อไม่นานนี้ได้จับมือกับ “Nike” เพื่อวางจำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์ Amazon และล่าสุดมีข่าวว่ามีแผนรุกตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเตรียมจะเปิดให้บริการที่สิงคโปร์
“Bezos Expeditions” เป็นบริษัท Venture Capital ที่นำเงินไปลงทุน และถือหุ้นในธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และสตาร์ทอัพด้านต่างๆ เช่น ร่วมลงทุนใน Twitter, Domo, Juno Therapeutics, Workday, General Fusion, Rethink Robotics, Business Insider, MakerBot และ Stack Overflow นอกจากนี้ได้ลงทุนใน GRAIL เป็นสตาร์ทอัพจากซานฟานซิสโก พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจเลือด เพื่อตรวจหามะเร็ง ที่ต้องการระดมทุนเพิ่ม 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“Nash Holdings LLC” เป็นบริษัทที่ Bezos เป็นเจ้าของเอง โดยเมื่อปี 2013 ได้ซื้อกิจการสื่อสิ่งพิมพ์รายใหญ่ “The Washington Post” ด้วยมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันเขายังเป็นผู้ก่อตั้ง “Blue Origin” บริษัทนำเที่ยวไปอวกาศ โดยคิดค้นเทคโนโลยีด้านอวกาศ เพื่อพยายามลดต้นทุนสำหรับการท่องเที่ยวสู่อวกาศ
ไม่เพียงเท่านี้ เจ้าพ่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซของโลกยังเข้าไปลงทุนในนามส่วนตัวอีกหลายบริษัท ที่เอ่ยชื่อไปทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Google ที่ลงทุนส่วนตัวไปเมื่อปี 1998, “Airbnb” และ Uber เมื่อปี 2011 และ Business Insider
นอกจากการค้า-การลงทุนธุรกิจแล้ว ยังได้จัดตั้ง “Bezos Family Foundation” มูลนิธิที่บริหารโดย “Jackie และ Mike Bezos” พ่อแม่ของ Jeff เพื่อให้การสนับสนุนและลงทุนงานวิจัยด้านการศึกษาของเยาวชน เพื่อยกระดับการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชน