หลังจากปีที่แล้วถ้าใครยังจำได้กับงานที่ชื่อว่า Marriage Market Takeover จาก SK-II ที่เล่าเรื่องของตลาดนัดหาคู่ที่เหล่าพ่อแม่เอาโปรไฟล์ลูกสาวไปโชว์เพื่อรอหนุ่มๆ มาเลือกสรร ครั้งนี้เอเจนซี่สัญชาติสวีเดนเจ้าเดิม Forman&Bodenfors ที่ดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจอินไซท์สาวเอเชียดีเหลือเกิน กลับมาสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมอีกครั้ง กับแคมเปญเดิม Change Destiny บนประเด็นคล้ายกันในเรื่องของคุณค่าของผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน
ครั้งนี้เลือกที่จะพูดในมุมที่น่าจะยังไม่เคยมีใครหยิบเอามาเล่นมาก่อน และอาจเป็นประเด็นที่บอบบางต่อความรู้สึกสาวๆ ที่ลึกๆ แอบหวั่นและคิดอยู่ในใจ คือเรื่องของวันหมดอายุ หนังเรื่องนี้เลยได้ชื่อว่า The Expiry Date เล่าเรื่องของผู้หญิงสามประเทศนั่นคือจีนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีญี่ปุ่น และเกาหลีมาด้วย เพราะผู้หญิงเอเชียได้รับแรงกดดันจากการแต่งงานช้าไม่ต่างกัน มีข้อมูลจากผลสำรวจของ P&G ที่บอกเราว่ามีผู้หญิงเอเชียแค่ 2 ใน 10 เท่านั้นที่รู้สึกดีกับการที่ตัวเองแก่ขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นสองประเทศในเอเชียที่ผู้หญิงรู้สึกไม่แฮปปี้ที่สุดกับความแก่ของตัวเอง (จริงๆ สาวไทยก็ไม่แฮปปี้นะ) โดยทั้งสองประเทศมีผู้หญิงเกินครึ่งที่บอกว่าไม่อยากแก่ แก่แล้วไม่ดีเลย
ตัวเลขอายุจึงทำร้ายความรู้สึกพวกเธอได้มากที่สุด ไม่ต่างอะไรจากสาวไทย เลข 30 เหมือนหลักไมล์อะไรซักอย่างในชีวิต ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไปถึง เหมือนเป็นเช็คพอยท์ที่ร่างกายเราจะเสื่อมโทรมลง ยิ่งถ้ายังไม่มีแฟนหรือยังไม่แต่งงานด้วยแล้วชาวจีนถึงกับมีคำพูดที่เรียกสาวๆ ในช่วงอายุนี้ว่า “วัยแห้งเหี่ยว” กันเลยทีเดียว
SK-II หยิบเอาอินไซท์นี้มาเล่า แต่ไม่ได้บอกว่าคุณจะแก่เป็นป้าและแห้งตายอย่างไม่มีสามีไปวันๆ หนังเล่าเรื่องอย่างสวยงาม และมีชั้นเชิง เอาความเชื่อและความกลัวทางจิตวิทยามาตีความให้เป็นสัญลักษณ์บางอย่าง และสิ่งที่ถูกเลือกมาคือตราแสตมป์บนแขนท้องแขนที่ล้างออกไม่ได้ และทำหน้าที่บอกวันหมดอายุของสาวๆ
ในชีวิตจริงเราก็รู้ว่ามันไม่มีรอยแบบนี้หรอก แต่ SK-II พยายามบอกเล่าผ่านหนังว่ามันมี แต่มาในรูปแบบของการกดดันจากครอบครัวและญาติพี่น้องอาเจ๊กอาอึ้มที่มักจะหวังดีเหลือเกินอยากให้เราแต่งงาน “ก่อนที่มันจะสายไป” เคยสงสัยมั้ยว่าอะไรสายไปนะงงจัง ซึ่งคำว่าสายไปนี่เองที่เป็นประเด็นหลักของคำว่าวันหมดอายุซึ่งเป็นแก่นของหนัง ที่ต้องการสื่อถึงความร่วงโรยของความงาม ความโรยราของรูปลักษณ์ และที่สำคัญคือความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีแบรนด์ไหนกล้าพูดถึงมาก่อน แต่หนังเรื่องนี้กลับเล่าออกมาผ่านเครื่องหมายบางอย่างได้อย่างเข้าใจง่ายและฉลาด
https://www.youtube.com/watch?v=v3JCA4lCMGw
SK-II ยังคงเอาใจลูกค้ากลุ่มเดิมคือฐานคนที่เริ่มมีอายุและยังไม่แต่งงานซึ่งมีจำนวนมากในเอเชีย และมีกำลังซื้อแน่นอน เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงแบบนี้ทำงานเก่ง หาเงินเก่ง สวยแล้วไม่ต้องมีสามีก็ได้อะไรประมาณนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากหนังเรื่องนี้ที่จบแบบสวยๆ จะโดนใจสาวไทยและผู้หญิงทั่วเอเชีย เหมือนที่เคยทำได้มาแล้วในปีก่อน
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM