HomeInsightเจาะใจ “คนมิลเลนเนียล” ให้ความสำคัญกับ “งาน–การศึกษา” มากกว่า “แต่งงาน–มีลูก”

เจาะใจ “คนมิลเลนเนียล” ให้ความสำคัญกับ “งาน–การศึกษา” มากกว่า “แต่งงาน–มีลูก”

แชร์ :

สำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา (U.S. Census Bureau) เผยรายงานการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่าประชากร “กลุ่มมิลเลนเนียล” (Millennials) ให้คุณค่ากับเรื่องสังคม และเศรษฐกิจแตกต่างจากคน Generation ก่อนหน้านี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รายงานฉบับนี้ฉายภาพทัศนคติของชาวอเมริกันยุคดิจิทัล อายุ 18 – 34 ปี กับคนกลุ่มอายุเดียวกันในช่วงปี 1975 พบว่ามีความแตกต่างเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน หรือแม้แต่การสร้างชีวิตครอบครัว

คนรุ่นใหม่ยุคนี้ เชื่อว่าการศึกษา งาน และการประสบความสำเร็จด้านรายได้ มีส่วนสำคัญอย่างมากในวัยผู้ใหญ่ และมากกว่า 55% มองว่าการแต่งงาน และการมีลูกไม่ใช่เรื่องสำคัญ ซึ่งทัศนคติดังกล่าวแตกต่างจากค่านิยมเมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยในปี 1975 ประชากร 8 ใน 10 คน ที่เข้าสู่วัย 30 ปี จะแต่งงานและสร้างชีวิตครอบครัว ขณะที่ปัจจุบันพบว่า 8 ใน 10 คนจะแต่งงานเมื่อเข้าสู่วัย 45 ปี

ขณะเดียวกันผู้หญิงยุคใหม่ มีบทบาทในการทำงานนอกบ้านมากขึ้น และประสบความสำเร็จด้านการเงิน สะท้อนได้จากปัจจุบันผู้หญิงกลุ่มมิลเลนเนียลที่แต่งงานแล้ว มีเพียง 14% ที่เป็นแม่บ้าน ตัวเลขดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากปี 1975 พบว่า 43% ของผู้หญิงแต่งงาน เลือกเป็นแม่บ้าน

ขณะที่รูปแบบการอยู่อาศัยของชาวอเมริกันในกลุ่มมิลเลนเนียล ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดย 1 ใน 3 ของหนุ่มสาวอเมริกัน หรือประมาณ 24 ล้านคน อาศัยอยู่ที่บ้านพ่อแม่เพิ่มขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่ชาวอเมริกันเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวจะเริ่มแยกจากครอบครัว

แนวโน้มคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่กับบ้านพ่อแม่มากขึ้น เป็นผลมาจากการแต่งงานช้าลง อีกทั้งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และเผชิญปัญหาการว่างงาน แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจจะฟื้นตัว และการจ้างงานสูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่คนมิลเลนเนียลยังคงเลือกอาศัยอยู่บ้านพ่อแม่

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย พบว่าทุกวันนี้ผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลง หรือช้าลง และอยู่เป็นโสดมากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาสูงขึ้น และค่านิยมในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงมาก โดยรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ฉายภาพว่า อัตราการเพิ่มประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือร้อยละ 0.4 ในปี 2558 และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า อัตราการเพิ่มประชากรไทยจะเท่ากับร้อยละ 0.0 นั่นหมายความว่า อัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย จากปัจจุบันอัตราการเกิดในไทย ประมาณ 700,000 คนต่อปี ส่วนอัตราการเสียชีวิต 300,000 – 400,000 คนต่อปี เพราะฉะนั้นถ้าอนาคตจำนวนประชากรไม่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุ มากกว่าคนหนุ่มสาว

 

Source

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like