เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ความสามารถในการเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลและผู้คน กลายเป็นอีกหนึ่ง Basic Need ที่สำคัญของคนในปัจจุบัน นอกเหนือจากความต้องการเรื่องของปัจจัยสี่ ความปลอดภัย ความรัก และการยอมรับจากสังคม โดยมีคำนิยามเพื่อเรียกคนในยุคนี้ว่า “Generation C”
คุณธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ หัวหน้างาน คอนเน็คมีเดีย บริษัท ดันน์ฮัมบี้ (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายพิเศษในงานเสวนา BRAND TALK ครั้งที่ 11 จากเว็บไซต์ BrandBuffet.in.th ในห้วข้อ RETHINK RETAIL ค้าปลีกคิดใหม่ได้ใจมหาชน ในหัวข้อเรื่อง “สแกนใจ เจาะพฤติกรรมนักช๊อป 2017” ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า Generation C ที่ว่านี้ ไม่ได้แบ่งตามอายุ หรือปีที่เกิดเหมือนกับเจนเนอเรชั่นอื่นๆ แต่แบ่งด้วยพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ที่เรียกว่า Behavior 4.0 ซึ่งมี 4 ลักษณะเด่น ต่อไปนี้
1. Connection ต้องการพูดคุยและทำการสื่อสารกับผู้คนอยู่ตลอดเวลา
2. Current มีความอดทนในการรอน้อยลง ต้องการที่จะเข้าถึงทั้งข้อมูลและผู้คนได้แบบทันที
3. Convenient ต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายๆ และมีความสะดวกสบาย
4. Community สามารถสร้างสังคมที่เป็น Crowd-Culture โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่และระยะทาง แต่จะคอนเน็คกันผ่าน Common Platform ต่างๆ
การเกิดขึ้นและขยายตัวของ Gen C ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพสังคมในลักษณะต่างๆ เช่น การขยายตัวของชุมชนเมือง และ Urban Lifestyle ในแง่ของความเป็นครอบครัว จะมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จำนวนสมาชิกลดลง จำนวนคนโสดมากขึ้น คนปัจจุบันจึงนิยมอยู่ในคอนโดฯ มากขึ้น โดยเริ่มให้ความใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีอายุยืนขึ้น และเกษียณอายุช้าลง
“ในแง่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนไทยเพิ่มมากขึ้น 4.6% อยู่ที่เดือนละ 27,545 บาท จากการที่แต่ละครอบครัวมีรายได้มากกว่า 1 ทาง ส่วนใหญ่จึงมองหาความสะดวกสบาย และต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้มี Living Cost สูงขึ้น ทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัย หรือการซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนก็สูงขึ้นเช่นกัน แต่ยังต่ำกว่ารายได้ที่มีอยู่ โดยมีรายจ่ายเฉลี่ยครอบครัวละ 21,818 บาท ซึ่งรายจ่ายส่วนใหญ่ 87.4% เป็นรายจ่ายเพื่อการดำรงชีวิต ทั้งในเรื่องของอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นหลัก”
เมื่อดูแนวโน้มรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนไทย เป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจ Retail ที่มีโอกาสเติบโตได้ตามแนวโน้มการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยประมาณการยอดเติบโตธุรกิจ Retail โดยรวม คาดเติบโตราว 5.5% ขณะที่ในกลุ่ม Grocery Retail มีแนวโน้มเติบโตได้ 5.2%
“ธุรกิจรีเทลจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนของผู้บริโภคให้ได้ ด้วยการพัฒนาวิธีการสร้างโปรโมชั่น หรือวิธีในการ Engagement ใหม่ๆ กับลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้จ่าย โดยต่อยอดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ หรือศึกษาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้า ซึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า เมื่อมาซื้อสินค้าในแต่ละครั้งลูกค้ามีการใช้จ่ายลดลง 1% แต่เพิ่มจำนวนช้อปปิ้งมากขึ้น 5% ทำให้มีการใช้จ่ายผ่านรีเทลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4%”
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับลูกค้าคนไทยคือ ความ Loyalty ที่ลดลง เพราะไม่ได้ยึดติดกับทั้งแพลตฟอร์มและแบรนด์ของธุรกิจรีเทล เพราะไม่มีผู้บริโภคที่จับจ่ายผ่าน Retail เพียงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่ 69% มีการใช้จ่ายเฉลี่ยใน 2.6% แบรนด์ และในหลายแพลตฟอร์ม โดย 98% นิยมช้อปแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 91% ซื้อผ่านร้านสะดวกซื้อ 42% ซื้อจากร้านจำหน่ายอาหารโดยเฉพาะ และ 41% ซื้อผ่านออนไลน์ ส่วนความต้องการเรื่องของโปรโมชั่น อยากได้โปรโมชั่นที่มีคุณภาพมากกว่าจำนวนโปรโมชั่นที่มาก โดยเฉพาะโปรโมชั่นสินค้าราคาถูกทุกวัน (Every Day Low Price)
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ ความต้องการที่ลูกค้าตามหาจาก Retailer ซึ่งประกอบด้วย 3 สิ่ง ต่อไปนี้
1. Mission Focus เมื่อเดินเข้าไปแล้วได้ในสิ่งที่ต้องการ
2. Shopping Engagement ที่เพิ่มมากขึ้น
3. Multi-Channel มีแพลตฟอร์มในการซื้อที่หลากหลายขึ้น
ส่วนเทรนด์ที่มีโอกาสเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจ Retail เติบโตได้มากยิ่งขึ้น ได้แก่
1. Food To GO : หรือกลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) เพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกของผู้บริโภค โดยในยุโรปสินค้ากลุ่มมีอัตราเติบโตสูงถึง 35% ขณะที่ในประเทศไทยเติบโตได้มากกว่า 10% สูงกว่าภาพรวมสินค้าโกรเซอรี่ ที่โต 5.2%
2. Online Engagement : เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มหาข้อมูลสินค้าที่ต้องการจากอินเตอร์ก่อนมาซื้อสินค้า จำเป็นที่ Retail ควรให้ความสำคัญกับการทำ Online Engagement เพื่อเชื่อมโยงมาสู่สินค้าที่วางขายได้ รวมทั้งยังเป็นการ Educate และสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องแก่ผู้บริโภคด้วย
3. O2O Strategy : แนวโน้มการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น จาก 18% เมื่อปี 2013 เป็น 28% ในปี 2016 โดยเฉพาะในกลุ่มโกรเซอรี่เติบโตมากกว่า 20% แต่ด้วยการซื้อยังมาจากแพลตฟอร์มที่หลากหลาย Retail จึงควรเรียนรู้การเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านกลยุทธ์ O2O (Online to Offline Strategy) เพื่อเชื่อมโยงทุกประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง
และนี่คือ บทสรุปส่วนหนึ่งของ งานเสวนา RETHINK RETAIL ค้าปลีกคิดใหม่ได้ใจมหาชน ทางเว็บไซต์ BrandBuffet.in.th หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังที่ได้ร่วมกิจกรรมและท่านผู้อ่าน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ ตอนที่ 2 เร็วๆ นี้ และหวังว่าในโอกาสต่อๆ ไป จะมีกิจกรรมที่ช่วยต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกท่านอย่างต่อเนื่อง