หลังจากประเทศไทยมีทีวีดิจิตอลเกิดชึ้นมาทำให้มีช่องทีวีบ้านเรามีถึง 24 ช่อง พร้อมกับ 23 เมษายน 2557 สถานีโทรทัศน์ทุกช่องไม่ว่าจะเป็น 3, 5, 7, 9 , 11 เป็นต้น และสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลได้ร่วมกันลงนามไว้ร่วมกับองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโฆษณารวม 10 องค์กร เพื่อสร้างบรรทัดฐานและมีแนวทางในการเซ็นเซอร์ (Cencor)ภาพยนตร์โฆษณาร่วมกัน โดยมีเพียงแค่ 1 ช่องทางเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีดำเนินการหารือประชุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอลเได้มีส่วนร่วมมากขึ้น รวมไปถึงตอกย้ำการกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณา
และล่าสุด สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 โดดร่มเตรียมจัดตั้งกองเซ็นเซอร์เองชื่อว่า “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)” เพื่อแยกกองเซ็นเซอร์ออกมาอีกหนึ่งฝ่าย และประกาศเริ่มเซ็นเซอร์ภาพยนตร์โฆษณา วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ซึ่งทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เห็นว่าการกระทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมากต่อผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาโดยรวม เนื่องตจากจะเกิดสองมาตรฐานในกาีตรวจพิจารณา ผู้โฆษณาเจ้าของสินค้าต่างๆ และเอเย่นซี่โฆษณา จะเกิดความสับสน สิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายในการขออนุญาต
อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผลกระทบต่อธุรกิจโฆษณาหากมี 2 มาตรฐานในการเซ็นเซอร์ ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้่า หรือ เอเย่นซี่ รวมถึงผู้บริโภคเอง จะสับสนในมาตรฐานการโฆษณาสินค้าที่ไม่เหมือนกัน ภาพยนตร์โฆษณา 1 เรื่องส่วนใหญ่ก็ออกอากาศหลายช่อง ถ้าต้องยื่นขออนุมัติจากทั้ง 2 องค์กร ก็จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และสิ้นเปลืองเวลาขึ้นมาก นอกจากนี้อาจเกิดสถานการณ์ที่ว่า สถานีฯบางช่องจะได้รายได้โฆษณาสูงกว่าอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเซ็นเซอร์ผ่านง่ายกว่า การมีมาตรฐานหรือธรรมนูญเดียวกันจะทำให้กติกาชัดเจนโปร่งใส และเป็นหลักที่ผู้ประกอบการธุรกิจ เอเย่นซี่ และทุกภาคส่วนยึดถือและปฏิบัติตามได้
การจัดตั้ง “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)” จึงทำให้คนในวงการสงสัยและสับสนและเคลือบแคลงใจว่า ทำไมต้องแยกเป็น 2 กองเซ็นเซอร์ และทำไมไม่พัฒนายกระดับกองเซ็นเซอร์เดิมให้มีความน่าเชื่อถือและรวดเร็วมากขึ้น เพราะคนรับกรรมโดยตรงคือ คนทำงานทั้งเอเย่นซี่และผู้ลงโฆษณา ที่ต้องทำโฆษณา 1 เรื่องจะต้องทำเอกสารส่งพิจารณาถึง 2 หน่วยงาน เพราะแต่ละหน่วยก็น่ามีเกณฑ์การพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน
FYI : ระบบเซ็นเซอร์ก่อนหน้านี้ จะเป็นคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์ ที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากสถานีหลักเดิมได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, 9 MCOT, TPBS, NBT, และ ตัวแทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง (สลับหมุนเวียนกัน), ตัวแทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯ 2 ช่อง (สลับหมุนเวียนกัน) และตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รวม 11 คน ทั้งนี้จะแบ่งวันพิจารณาภาพยนตร์โฆษณา จันทร์ – ช่อง 3 อังคาร – 5 พุธ – ช่อง 7 พฤหัส – ช่อง 9 ศุกร์ – ช่องหมุนเวียน
ขณะที่ช่อง 5 และ ช่อง 7 ออกโรงโต้กลับเกี่ยวกับการจัดตั้ง ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย) ว่า ทางเรามีการรวมตัวกันตั้งแต่ ปี 2556 มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อรวมตัวกันสร้างบรรทัดฐานการตรวจสอบงานโฆษณายุคใหม่ให้มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และ ยกระดับการทำงานจากคณะกรรมการขึ้นเป็นชมรม ซึ่งสนับสนุนนโยบายการรวมกลุ่มฯเพื่อให้กำกับดูแลกันเองของ กสทช.
จุดเด่นของชมรมฯ คือ กรอบการทำงานจะได้มาจากความคิดเห็นของเหล่าสมาชิกชมรม อันได้แก่ ช่องโทรทัศน์ หน่วยงานวิชาการ สมาคม ผู้ทรงคุณวุฒฺิ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ กำหนดข้อปฏิบัติการตรวจพิจารณาโฆษณา อีกทั้งมีเครื่องมือช่วยตรวจวัดที่พัฒนาขึ้นโดยช่อง 7 ชื่อว่า My Censor ระบบตรวจวัดโฆษณาลงทุนกว่า 20 ล้านบาท สามารถช่วยตรวจสอบและย่นระยะเวลาการพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น
การรวมกลุ่มมี 12 หน่วยงานที่เข้าร่วมและได้เซ็นข้อตกลงร่วมกัน MOU ได้แก่ ช่อง 5 , ช่อง 7 , TGN , สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) สมาคมทีวีโฮมช๊อปปิ้ง (ประเทศไทย) สภาสถาบันนักวิชากรสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักการตลาดแบบตรงไทย และ NS Media Group
ทั้งนี้ในงานแถลงข่าว ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย) พลเอกราชรักษ์ เรียนพืชน์ ผู้บริหารช่อง 5 อธิบายว่า ปัญหาเดิมของการเซ็นเซอร์โฆษณามีความล่าช้า และขั้นตอนการพิจารณาทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น และยังยืนยันว่าถ้าหากโฆษณาผ่านพิจารณาจากคณะกรรมการเดิม สามารถนำโฆษณานั้นมาเผยแพร่ในช่อง 5 และ ช่อง 7 ได้ รวมไปถึงไม่ปิดกั้นทั้งการเปิดรับสมาชิกใหม่เข้าร่วมชมรมฯ