“ถุงขยะ” ของใช้ที่ทุกครัวเรือนต้องมี แต่ดูเหมือนว่าในสังคมไทย จะให้ความสำคัญกับสินค้าชิ้นนี้น้อยเหลือเกิน บ้างก็ใช้ถุงพลาสติคที่ถือมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต บ้างก็ใช้ถุงขยะโดยพิจารณาจากราคา ทั้งๆ ที่ถุงเหล่านี้ฉีกขาดได้ง่าย และไม่เอื้อกับการคัดแยกขยะ แต่ในประเทศยุโรป ถุงขยะ และมาตรการการจัดเก็บขยะ ได้พัฒนาไปไกล จนมีเรื่องราวให้เรียนรู้มากกมาย แต่เรื่องจริงที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ ถุงขยะที่ถูกใช้ในหลายประเทศในยุโรป และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ถูกผลิตขึ้นในประเทศไทย โดยบริษัทของคนไทย ที่ชื่อว่า บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด บริษัทผู้ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย
จากตลาดต่างประเทศ สู่ตลาดในไทย ผสานความยั่งยืน
คุณไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล ลูกชายคนเล็กของตระกูล เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของธุรกิจถุงพลาสติคของครอบครัวว่า เริ่มจากคุณเสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล แห่งคิงส์กรุ๊ป มีหุ้นส่วนชาวเยอรมนี ที่ตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อผลิตถุงพลาสติคใส เพื่อใช้ในธนาคารของยุโรป ต่อมาในปี 1996 หุ้นส่วนคนดังกล่าวอายุมากขึ้นและอยากจะเกษยีณ คุณพ่อจึงซื้อหุ้นมาบริหารคนเดียวอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากนั้นก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของตระกูลไม่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามกลับสามารถขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่องจากได้รับประโยชน์จากค่าเงินที่ขายสินค้าให้กับทางฝั่งยุโรป ดังนั้นโรงงานของคิงส์ ดีแพค จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมั่นคง รวมทั้งขยายกิจการในส่วนอื่นๆ ในเครือต่อไป ไม่ว่าจะเป็น บริษัท คิงส์ เทเลคอม จำกัด เป็นธุรกิจประเภทโทรคมนาคม, บริษัท คิงส์ พร็อพเพอตี้ จำกัด ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, บริษัท คิงส์ ลิสซิ่ง จำกัด ทำธุรกิจประเภทเช่าซื้อและลิสซิ่ง รถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม
ในส่วนของธุรกิจพลาสติค คุณไพบูลย์ก็มองหาวิธีการรุกเข้าสู่ตลาดในประเทศมากขึ้น
“ตอนผมเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ โปรเจ็กท์ที่ทำตอนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการสร้างสมดุลย์ของธุรกิจ รวมทั้งเน้นว่าต้องเติบโตจากในบ้านเราก่อน อันนี้เมื่อธุรกิจดำเนินมาให้ทิศทางตรงกันข้ามกัน ผมก็เลยพยายามค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ จากเดิมเราส่งออกถึง 90% ตอนนี้ก็สร้างบาลานซ์เป็น ส่งออก 70% และจำหน่ายในประเทศ 30% และก็ยังพยายามต่อเรื่อยๆ จนถึง 50-50” คุณไพบูลย์กล่าว
สำหรับการตลาดในประเทศไทย มีทั้งส่วนที่รับจ้างผลิตเป็นถุงที่ใช้ในห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง รวมทั้งจำหน่ายโดยตรงภายใต้แบรนด์ HERO ในรูปแบบถุงขยะ, ถุงซิปแพ็ก รวมทั้งพลาสติคห่อหุ้มเพื่อช่วยถนอมอาหาร ซึ่งทั้งหมดให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านการผลิต ไม่ว่าจะเป็นถุงขยะสีดำ ที่มีความเหนียวฉีกขาดได้ยาก ถึงแม้ว่าจะมีความหนาไม่มากนักถ้าหากเทียบด้วยสัมผัสหรือตาเปล่า รวมทั้งมี “หูรูด” เมื่อใส่ขยะเข้าไปจนตัวถุงมีน้ำหนัก ปากถุงก็จะรูดปิดได้อย่างง่ายดาย ทำให้ไม่สูญเสียพื้นที่การใส่ด้านบน สวนทางกับทัศนคติของผู้บริโภคคนไทยที่เชื่อว่า ถุงขยะหนาๆ จะทนทานกว่า แต่ความจริงแล้วถุงขยะที่มีความหนาเนื่องจากวัสดุพื้นฐานเป็นพลาสติคที่มีการปนเปื้อนมากจนต้องฉีดให้หนาเพื่อขึ้นรูปให้ได้ เมื่อสัมผัสจะมีความรู้สึกขรุขระเพราะมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่ จนมีความเหนียวน้อยกว่า
ถุงขยะจากแบรนด์ HERO ถูกผลิตด้วยเครื่องจักรมูลค่า 800,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้ทั้งเรื่องคุณภาพของตัวถุง การออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงถูกคิดค้นมาแล้วเป็นอย่างดี เมื่อหยิบใช้ก็จะดึงให้แยกออกจากกันได้ทีละใบ แต่ละใบไม่เชื่อมติดกันแล้วให้ผู้ใช้งานต้องฉีกออกตามรอยปรุด้วยตัวเองเหมือนยี่ห้ออื่น สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องการออกแบบแม้เต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็น Touch Point ที่สำคัญในแง่ของการใช้งานจริง
เช่นเดียวกับถุงซิปแพ็กและพลาสติค Food Wrap ซึ่งถูกเน้นเรื่องมาตรฐานการผลิตโดยเป็นพลาสติคที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PE (Polyethylene) หมายถึงสามรถสัมผัสอาหารได้โดยตรง ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับผู้บริโภค ในขณะที่พลาสติคแบรนด์อื่นที่ไม่มีสัญลักษณ์ PE กลับเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งกับผู้บริโภค จนในประเทศที่พัฒนาแล้วมีกฎหมายห้ามชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ HERO พยายามรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอด
การตลาดเรื่อง “ขยะ” ลุ่มลึก และมันส์กว่าที่คิด
นวัตกรรมที่ว่ามานี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วศักยภาพการผลิตของโรงงาน คิงส์ ดีแพค ก้าวหน้าไปไกลกว่านี้มาก แต่รอเวลาที่เหมาะสมที่จะนำสินค้าที่เข้ากับพฤติกรรมการใช้งานจริงของคนไทยมาจำหน่ายในประเทศ
“ในต่างประเทศมีโฆษณาถุงขยะตั้งแต่ปี 1962 แต่ประเทศไทยยังไม่มีใครทำเลย สำหรับเรา ตอนนี้เรามุ่งไปที่การใช้ดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารก่อน เพื่อรอให้สินค้าของเรามีวางจำหน่ายในทุกช่องทาง ซึ่งจำนวนจุดวางจำหน่ายก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งครอบคลุม ขั้นต่อไปเราถึงจะทำโฆษณาที่ออกอากาศทางโทรทัศน์” คุณไพบูลย์เผยถึงแนวทางการทำการตลาด
ในส่วนของการทำการตลาดดิจิทัลที่ผ่านมามีการใช้ Online Influencer ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Lowcostcosplay, เรน ทหารม้าโยโกฮาม่า ซึ่งนำเอาถุงขยะปากดีมีหูรูด ไปส้างสรรค์ตามสไตล์ของเพจ
อีกทั้งยังมีไวรัล คลิปที่เปิดมุมมองทั้งเรื่องของสินค้า และการใช้ชีวิตในสังคม โดยอาศัยการถ่ายทอดแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้บริโภคระดับแมสเข้าถึง
อีกทั้งยังมีไวรัล คลิปที่เปิดมุมมองทั้งเรื่องของสินค้า และการใช้ชีวิตในสังคม โดยอาศัยการถ่ายทอดแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้บริโภคระดับแมสเข้าถึง
นอกจากนี้ยังมีตัวจริงเรื่องอาหารอย่าง หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ หรือนามปากกาที่รู้จักกัน คือ ปิ่นโตเถาเล็ก เป็นพรีเซนเตอร์ และร่วมกิจกรรมการตลาดผ่านรายการหรือคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อให้ความรู้เรื่องพลาสติค Food Wrap ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่คนทำอาหารและรักอาหารต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น คลิปพิเศษระหว่าง RUBSARB production กับคุณอิ๊งค์ สอดแทรกความรู้เรื่องอาหาร กับอารมณ์ขันที่คุณอิ๊งค์ปล่อยมุขได้สุดมันส์เกินความคาดหมายแบบที่ไม่เคยได้เห็นในทีวีปกติ
ว่าด้วยเรื่อง Online ไปแล้ว กิจกรรม On Ground อีเว้นท์ที่คาดไม่ถึงว่าติสท์และชิคแบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย คิงส์ ดีแพค ก็เคยครีเอทให้คนไทยได้เห็น จากโปรเจ็กท์ไอเดียของ ศิลปิน Adrian Kondratowicz ซึ่งอยากเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในย่าน Harlem แหล่งเสื่อมโทรมของมหานครนิวยอร์ค ด้วยถุงขยะลาย Polka Dot สีชมพู เพื่อเปลี่ยนเมืองให้สวยงามและกระตุ้นในคนตระหนักถึงปริมาณขยะที่ทิ้งในแต่ละวัน คุณไพบูลย์นำเอาโปรเจ็กท์นี้มาทำที่พัทยา รวมทั้งสนับสนุนผลิตถุงทั้งสีชมพูสดใสนี้ให้กับหน่วยงานที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณกุศลอีกด้วย
BioTech วิสัยทัศน์นี้เพื่ออนาคต
ไม่ใช่แค่การตลาดสำหรับวันนี้เท่านั้น คุณไพบูลย์ ยังเดินหน้ามองหานวัตกรรมเพื่อประโยชน์กับบริษัทและสังคมไทยสำหรับอนาคต
“เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่เราจะลงทุนในวันนี้ ต้องเป็นการลงทุนเพื่อรองรับสังคมในอีก 30 ปีข้างหน้า เราไม่ได้มองแค่จุดคุ้มทุนแค่ 5-10 ปีต่อจากนี้ ในเมื่อบริษัทของเรามีรายได้จากต่างประเทศ และการลงทุนตรงนี้ไม่ได้สร้างความลำบากอะไร รายได้ของเรา 6,000 ล้านบาทต่อปี และเติบโตเรื่อยๆ ทุกวันนี้เรามีพนักงาน 2,000 คน ถึงแม้เครื่องจักรบางอย่างจะใช้คนน้อยลง แต่ผมก็ไม่มีนโยบายลดคนงาน เพียงแค่อาจจะไม่เพิ่ม แต่เรามองหา สิ่งประดิษฐ์ หรือ Innovation จากพวก Kickstarter ที่จะนำมาใช้ในอนาคตมากกว่า เช่น แพ็กเก็จจิ้ง หรืองานดีไซน์ ไอเดียที่จะช่วยลดขยะ ลดเศษอาหาร การจัดเก็บอาหารให้มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม”
ถึงแม้ว่าโปรเจ็กท์หลายอย่างที่ทาง คิง ดีแพค กำลังเดินหน้าให้เงินสนับสนุนอยู่นี่ยังคงเป็นความลับ แต่หัวเรือใหญ่ของบริษัทพลาสติคอันดับหนึ่งของประเทศก็ให้คำมั่นสัญญาว่า “ผมเป็นคนทำจริง ถ้าหากว่าเปิดเผยได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าจะสร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงในประเทศได้อย่างแน่นอน และอะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและก่อให้เกิดประโยชน์ผมก็จะนำเข้ามาทำให้เป็นจริงในประเทศไทย”