HomeBrand Move !!LINE ท้าชน Grab ดึงแท็กซี่ 60,000 คัน ร่วมให้บริการ “LINE TAXI” แก้ปัญหาไม่รับผู้โดยสาร

LINE ท้าชน Grab ดึงแท็กซี่ 60,000 คัน ร่วมให้บริการ “LINE TAXI” แก้ปัญหาไม่รับผู้โดยสาร

แชร์ :

กลายเป็นปัญหาคู่สังคมไทยมานาน ที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถแก้ปมได้สักที สำหรับกรณี “แท็กซี่ไทย” ที่คนไทยหลายคนประสบกับปัญหาถูกปฏิเสธจากคนขับแท็กซี่ ทั้งยังต้องระแวงกับความปลอดภัยจากการใช้บริการ ในขณะที่ฝั่งคนขับรถแท็กซี่ในไทย มองว่าได้ค่าตอบแทนในแต่ละวันไม่คุ้มทุน ทำให้บางคันเลือกให้บริการเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่หลายคันเลี่ยงเส้นรถติด หรือบางคันเลี่ยงที่จะไปในโซนที่คาดว่าจะต้องขับรถเปล่ากลับมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผ่าปัญหาคนไทยเผชิญชะตากรรมเรียกแท็กซี่ 

ปัจจุบันแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 90,000 คัน โดยโครงสร้างระบบแท็กซี่ในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
1. แท็กซี่ส่วนบุคคล (เขียว-เหลือง)
2.แท็กซี่นิติบุคคล ที่จดทะเบียนในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด
3. สหกรณ์แท็กซี่ ปัจจุบันมีประมาณ 50 สหกรณ์ ร่วมกันเป็นเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุด โดยมีมากกว่า 60,000 ราย

อย่างไรก็ตามในปี 2560 – 2561 ระบบรถแท็กซี่ในไทยจะมีรถปลดระวาง 40,000 คัน และในเวลาเดียวกันก็จะมีคนใหม่เข้ามาทำอาชีพนี้ พร้อมกับรถจดทะเบียนใหม่เข้ามาทดแทน จึงคาดว่าภายในปี 2561 รถแท็กซี่ทั้งระบบในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 70,000 คัน

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่คนไทยมักเจอบ่อยครั้งเวลาเรียกแท็กซี่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ คือ
1.แท็กซี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในบางช่วงเวลา และแม้จะใช้แอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่แล้ว ก็ยังต้องคอยนาน
2.แท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อการใช้บริการแท็กซี่
3. ผู้บริโภคกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการใช้บริการแท็กซี่

ขณะที่ปัญหาที่แท็กซี่ไทยต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้ คือ
1. จำนวนชั่วโมงการขับรถขั้นต่อ 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ได้รายได้อย่างน้อย 400 บาทต่อวัน และถ้าจะได้รายได้มากกว่านั้น คนขับแท็กซี่ต้องขับรถ 15 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ 700 – 800 บาทต่อวัน
2. การเป็นคนขับแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และคนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ตรวจสอบประวัติ และมีสุขภาพแข็งแรง
3. ภาพลักษณ์ติดลบของแท็กซี่ไทยในมุมมองผู้บริโภค

นี่จึงเป็น “ช่องว่าง” ของระบบคมนาคมสาธารณะประเทศไทย ทำให้ “ภาคเอกชน” ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “Sharing Economy” ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่น และเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง “คนขับแท็กซี่” กับ “ผู้โดยสาร” ซึ่งปัจจุบันในไทยมีผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ ไม่ต่ำกว่า 20 ราย

ยกระดับสู่ “Thai Taxi 4.0” ความหวังแก้ปัญหาแท็กซี่ไทย

การพัฒนาระบบแท็กซี่ไทย ให้ไปสู่ยุค 4.0 คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาสร้างความสะดวกให้กับทั้งคนขับรถแท็กซี่ และผู้ใช้บริการ เพื่อลดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ขณะเดียวกันเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้นให้กับคนขับรถแท็กซี่

ที่ผ่านมาผู้ให้บริการรายหลักที่สามารถสร้างเครือข่ายแท็กซี่ได้สำเร็จ คือ “Grab” ถึงวันนี้เปิดให้บริการในไทยครบ 5 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามเวลานี้กำลังถูกท้าชิงครั้งสำคัญ เมื่อ “LINE MAN” ในเครือ LINE ประเทศไทย ประกาศผนึกกำลังกับ “เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพฯ” เปิดตัวบริการใหม่ “LINE TAXI” ที่จะเริ่มให้บริการภายในสิ้นปีนี้

“เป็นบทบาทหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของแท็กซี่ไทย รวมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพของระบบคมนาคมของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแท็กซี่ไทย คืนความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีให้กับผู้ให้บริการประชาชน 

เพราะต่อไประบบคมนาคมสาธารณะของประเทศต้องพัฒนาในทุกรูปแบบ เพื่อก้าวให้ทันกับนวัตกรรมในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ทางกรมการขนส่งฯ กำลังพัฒนาโครงการ “TAXI OK” และ “TAXI VIP” โดยรถที่เข้าร่วมโครงการ จะมีการติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อแสดงเอกลักษณ์รถแท็กซี่ และคนขับแต่ละคันที่ลงทะเบียน และเพิ่มทางเลือกให้กับคนไทย

ขณะเดียวกันการเปิดตัว “LINE TAXI” ในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาระบบคมนาคมสาธารณะของไทย ที่สร้างความร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางบก – เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพฯ – LINE ประเทศไทย เพื่อร่วมกันยกระดับแท็กซี่ไทย” คุณสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว

 

ชูจุดต่างจำนวนผู้ใช้ LINE ในไทย และใช้งานง่าย

ทางด้าน คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า LINE TAXI ถือเป็นบริการลำดับที่ 5 ภายใต้การดำเนินงานของ LINE MAN หลังจากบริการสั่งซื้ออาหาร (Food Delivery) แมสเซนเจอร์ (Messenger) สั่งของสะดวกซื้อ (Convenience Goods) และส่งพัสดุ (Postal) ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทย

“ปัจจัยด้านการขนส่ง (Transportation) ถือเป็นบริการที่ผู้บริโภคชาวไทยมีความต้องการเป็นอย่างสูง แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เข้ามาให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด ผู้ใช้งานยังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาการไม่สามารถเรียกแท็กซี่ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนหรือฝนตก การปฏิเสธผู้โดยสาร หรือแม้กระทั่งความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้บริการ

ถึงแม้ Business Model ของ LINE TAXI จะไม่ได้แตกต่างจากผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นรายอื่นก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ LINE TAXI คือ การนำเอาความแข็งแกร่งของแบรนด์ LINE ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานครอบคลุมมากกว่า 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือในประเทศไทย รวมถึงรูปแบบการใช้งานที่ง่าย ทั้งสำหรับฝั่งผู้โดยสาร และคนขับแท็กซี่ มาผนึกกำลังกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสมาชิกคนขับแท็กซี่ถูกกฎหมายร่วมให้บริการมากกว่า 60,000 ราย หรือคิดเป็น 60% ของจำนวนแท็กซี่ที่ให้บริการทั้งหมดในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตามขณะนี้เรายังไม่ได้สรุปโครงสร้างราคาค่าบริการ แต่เราต้องทำให้ดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจมาใช้บริการ เพราะกลไกสำคัญของธุรกิจ LINE TAXI คือ ต้องมีผู้ใช้งานบริการ และมีคนขับแท็กซี่ในจำนวนมากทั้งสองส่วน ซึ่งการจะดึงทั้งคนขับแท็กซี่เข้าสู่ระบบ LINE TAXI และผู้บริโภคสนใจมาใช้บริการ คือ การพัฒนาระบบให้ใช้งานง่าย และมีโครงสร้างค่าตอบแทนที่ดีให้กับคนขับแท็กซี่”

 

คาดช่วงแรกมีแท็กซี่เข้าร่วม 20,000 – 30,000 คัน

ขณะที่ฝั่ง คุณวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร นับเป็นเครือข่ายผู้ให้บริการแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีสมาชิกสหกรณ์ในเครือข่ายมากกว่า 60,000 ราย ซึ่งคิดเป็นกว่า 60% ของผู้ให้บริการแท็กซี่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ

“ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การให้บริการของแท็กซี่โดยตรง คือ การปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งมีสาเหตุจากรายได้ของคนขับแท็กซี่ที่ไม่คุ้มทุนในแต่ละวัน เมื่อรายได้ไม่สร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ ทำให้ที่ผ่านมามีคนออกจากอาชีพนี้จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีคนใหม่ที่เข้าสู่อาชีพนี้เช่นกัน

ดังนั้น เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ให้กับเราได้ ช่วยเสริมรายได้ให้กับคนขับแท็กซี่ และเมื่อ LINE แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาร่วมงานกับเราภายใต้การดำเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการสร้างสรรค์รูปแบบการให้บริการซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของแท็กซี่ในประเทศไทย ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานในช่วงที่ผ่านมา”

แท็กซี่รูปแบบใหม่นี้ จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านคุณภาพการให้บริการที่สูงขึ้นให้กับอุตสาหกรรมแท็กซี่ในประเทศไทย ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ดียิ่งขึ้นของผู้โดยสารในการเรียกใช้บริการแท็กซี่ นอกจากนี้ ยังถือเป็นก้าวใหม่สู่โลกยุคดิจิตอลของแท็กซี่ไทยอย่างเต็มรูปแบบโดยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียกใช้งานของผู้โดยสารที่มากขึ้น ตามมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้โดยสารก็จะได้รับการบริการที่ปลอดภัย ประทับใจ และเชื่อถือได้ ไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการอย่างแน่นอน

“เราคาดว่าในช่วงแรกบริการภายในสิ้นปีนี้ จะมีแท็กซี่เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 20,000 – 30,000 คัน ซึ่งปัจจุบันมีแท็กซี่ในเครือข่ายสหกรณ์ฯ 30% รู้ว่ามีแอพพลิเคชั่นนี้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้เรามุ่งหวังว่านอกจากเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพฯ แล้ว ต่อไปจะขยายความร่วมมือไปยังแท็กซี่ส่วนบุคคล และแท็กซี่นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด) ขณะเดียวกันในปี 2561 ที่จำนวนแท็กซี่ทั้งระบบในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 70,000 คัน เราอยากให้แท็กซี่ทั้งระบบเข้าร่วม LINE TAXI ทั้งหมดภายใน 2 ปีข้างหน้า”

 

มาตรการคุมคุณภาพ “LINE TAXI”

สำหรับนโยบายการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของ “LINE TAXI” ในเบื้องต้นจะคัดกรองคน และรถแท็กซี่ที่จะเข้าร่วม โดยต้องเป็นรถที่มีสภาพพร้อมใช้งาน ขณะที่คนขับ ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ เพราะเป็นสิ่งชี้วัดว่าคนๆ นั้นผ่านระบบการตรวจสอบอาชญากรรม และโรคร้ายแรงในระดับหนึ่งมาแล้ว

นอกจากนี้หลังจากเข้าสู่โครงการ LINE TAXI แล้ว ทาง LINE ประเทศไทยจะลงทุนด้านการจัดฝึกอบรมคนขับแท็กซี่ และสิ่งที่ต้องติดตามดูต่อคือ ถ้าแท็กซี่ที่เข้าร่วม LINE TAXI กระทำความผิด ต้องมีบทลงโทษตามกฎระเบียบ

 


แชร์ :

You may also like