เป็นประเด็นร้อนแรง และชุลมุนในวงการสื่อ และอุตสาหกรรมโฆษณาตลอดช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับกรณี “กสทช.” กำหนดให้ผู้ให้บริการ “Over The Top” หรือ “OTT” (ผู้ให้บริการเชื่อมโยง หรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงและภาพผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) มาลงทะเบียน เพื่อกำกับดูแลการให้บริการ เนื่องจากทุกวันนี้มีผู้ให้บริการ OTT ในไทยจำนวนมาก ทำให้มีคอนเทนต์เกิดขึ้นมากมายบนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องการเข้าไปควบคุมดูแลทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม และผู้ผลิตคอนเทนต์
หากย้อน Timeline กลับไป กรณี “OTT” ถูกจุดกระแสในไทย เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่ “กสทช.” มีมติตั้ง “คณะอนุกรรมการกำกับการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต” (OTT) โดยมี “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ดูแลและพิจารณารายละเอียดขอบเขตการให้บริการของผู้ประกอบการ พร้อมทั้งกำหนดให้การเผยแพร่ภาพหรือเสียงผ่าน Over The Top เข้ามาเป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทั้งหมด
– ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน “กสทช.” พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ OTT ให้กับสื่อมวลชน พร้อมทั้งเปิดเวทีพูดคุย และรับฟังความคิดเห็นแฟนเพจ Facebook ไทยยอดนิยม, ผู้ผลิตคอนเทนต์บน YouTube หรือ YouTuber รวมถึงผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น ไลน์ทีวี, ทรูวิชั่นส์ (ทรูวิชั่น แอนิแวร์), เอไอเอส เพลย์, Viu, Kapook และผู้ประกอบการกิจการทีวีดิจิทัล เข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงขอบเขต ขั้นตอน แนวทางการให้บริการ OTT ในประเทศไทย เพื่อให้ความร่วมมือเข้าสู่ระบบการกำกับดูแลของ กสทช.
– แต่ปรากฏว่า 3 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Facebook, Google และ Netflix ไม่ติดต่อเข้ามาลงทะเบียน
– สถานการณ์ OTT ในไทยเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดย กสทช. เชิญสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อดิจิตอลแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาบนบริการ OTT เข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือให้บริการโครงข่ายในรูปแบบ OTT
พร้อมทั้งขีดเส้นตายการลงทะเบียนถึงวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ และยื่นคำขาดว่าการประกอบกิจการ OTT ในประเทศไทย ผู้ประกอบการทุกรายต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย หากรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ถือว่าเป็นการประกอบกิจการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทย ดังนั้น การสนับสนุนการประกอบกิจการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จะส่งผลกระทบต่อบรรษัทภิบาลและธรรมาภิบาลของผู้ที่สนับสนุน
– 29 มิถุนายน “AIC” (Asia Internet Coalition) หรือ “สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย” ที่มีสมาชิกรายใหญ่ เช่น Facebook, Google, Apple, LinkedIn, Twitter, Yahoo, Paypal ออกแถลงการณ์ถึง กสทช. เกี่ยวกับผลกระทบต่อการควบคุม OTT ในประเทศไทย ปิดกั้นไม่ให้คนไทยและธุรกิจไทยใช้งานแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งนโยบายที่ว่านี้ยังไม่ผ่านประชาพิจารณ์ และไม่สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าบริการ (GATS) ภายใต้ WTO ที่ไทยอนุญาตให้มีบริการเข้าถึงฐานข้อมูล หรือข้อมูลออนไลน์แบบข้ามพรมแดนได้
– 30 มิถุนายน “กสทช.” ออกมายืนยันว่าต้องการทำให้เกิดความถูกต้องตามกรอบกฎหมาย และการออกมาตรการใดๆ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น และศึกษาข้อตกลงระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อ AIC มีข้อเสนอมาเช่นนี้ จะนำเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการ OTT ครั้งต่อไป
– 4 กรกฎาคม “คุณสุภิญญา กลางณรงค์” อดีตกรรมการ กสทช. ทวีตลงใน Twitter ส่วนตัวสรุปดังนี้คือ การที่รัฐ หรือ กสทช. จะกำกับดูแลสื่อออนไลน์ อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่การไปตีความให้สื่อออนไลน์ เป็นสื่อทีวีจะไม่เข้ากับตัวบทกฎหมายที่มี เพราะตัวบทกฎหมายของ กสทช. ที่มีอยู่ คือ พรบ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ ใช้ได้กับการประกอบกิจการทีวีแบบดั้งเดิมเท่านั้น และภายใต้ พรบ. ฉบับดังกล่าว ห้ามต่างชาติถือหุ้นในกิจการทีวีเกินร้อยละ 25 ดังนั้นถ้านำ พรบ. ดังกล่าว มาใช้กำกับสื่อออนไลน์ด้วย จะติดกับดัก หาทางออกยาก
– 5 กรกฎาคม “กสทช.” เรียกประชุมวาระด่วน โดยมีมติให้ยกเลิกการกำกับ OTT ที่ทำมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งยกเลิกการลงทะเบียน OTT ของผู้ให้บริการทั้งหมดที่ลงทะเบียนก่อนหน้านี้ นั่นเท่ากับว่าเส้นตายลงทะเบียน OTT ภายใน 22 กรกฎาคมนี้ ถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกัน
และให้ พ.อ.นที จัดทำร่างหลักเกณฑ์การกำกับ OTT เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา เพื่อนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำประชาพิจารณ์ แล้วจึงนำมาปรับปรุง และเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีกรอบเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน
สะท้อนมุมมอง “เอเยนซี” แนะต้องจับเข่าคุย-ศึกษาให้ละเอียด
ถึงแม้ว่าเวลานี้ อยู่ระหว่าง กสทช. ยอมถอย(ชั่วคราว) เพื่อกลับไปศึกษาหลักเกณฑ์การกำกับ OTT ใหม่ และในอนาคตเมื่อหลักเกณฑ์เสร็จสมบูรณ์ พร้อมประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา หนึ่งในผู้ที่จะต้องปรับการทำงานให้เข้ากับหลักเกณฑ์ใหม่ คือ “เอเยนซี” ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟ เอเยนซี หรือมีเดีย เอเยนซี
คุณสหรัฐ สวัสดิ์อธิคม Managing Director CJ WORX แสดงความคิดเห็นว่า ถ้า กสทช. อยากให้ลงทะเบียน OTT ผู้ให้บริการก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ กสทช. ต้องตอบให้ได้คือ 1. ในกรณีผู้ทำ Content อยู่ต่างประเทศจะทำอย่างไร เพราะเนื้อหาเผยแพร่ทั่วโลก 2. ต้องศึกษาว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ อย่างไร 3. การควบคุม OTT จะเป็นส่งเสริม หรือดึงให้ประเทศไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นหรือไม่ และ 4. ความรู้ ความสามารถของ กสทช. ต่อการบริหารจัดการ OTT
“ปลายทางไม่ใช่ Google, Facebook, Youtube ตรงนั่นคือ Platform แต่มองให้ดีคือ ถ้า กสทช. ต้องการควบคุม ผู้สร้างเนื้อหา ผู้ทำวีดีโอ ผู้เขียนเนื้อหา จะเป็นการปิดกั้นหรือไม่ หรือจะทำการคัดกรอง และทุกวันนี้ SME, ทุกธุรกิจสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์กัน รวมถึงประชาชนลุกขึ้นมาทำรีวิวสินค้ากันเองแล้ว จ่ายเงินจ้างกันเยอะแยะ ประชาชนคอมเมนต์สินค้า ทั้งชม ทั้งด่า ทั้งมาจากหน้าม้า และประชาชนจริง เพราะฉะนั้นจะใช้มาตรฐานไหนมาคัดกรอง เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด เพราะ OTT ถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ ถ้าจัดการเรื่องนี้กันผิดวิธี ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศอื่น”
ขณะที่ คุณอรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ Adapter Digital สะท้อนทรรศนะกรณี กสทช. เตรียมออกหลักเกณฑ์ OTT ว่า สิ่งหนึ่งที่อุตสาหกรรมโฆษณาจะได้รับผลกระทบแน่นอน ต้นทุนค่าสื่อที่สูงขึ้นในส่วนของภาษีจากการโฆษณาผ่าน OTT เจ้าใหญ่ๆ ที่แต่เดิมอาจจะไม่เคยเสียภาษีมาก่อน ซึ่งเป็นผลดีกับภาครัฐในการจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการเหล่านี้ แต่สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่น่ามีผลกระทบอะไรมาก
อย่างไรก็ตามถ้าเป็นประชาชนที่เข้าข่ายผู้ให้บริการ OTT (KOL ต่างๆ) นอกเหนือจากเรื่องผลกระทบจากการควบคุมเนื้อหาแล้ว ก็จะมีเรื่องของภาษีมาด้วยเช่นกัน
“การให้ Facebook และ Google มาลงทะเบียนเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของรายละเอียดข้อบังคับ, เงื่อนไขของเวลา รวมถึงการทำความเข้าใจธรรมชาติชาติของสื่อใหม่ที่มีการแพร่กระจาย Content ไปทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าไม่เหมือนการกำกับสื่อทีวี หรือวิทยุแบบดั้งเดิม น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องหันหน้ามาคุยกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้วหาข้อตกลงที่ดีที่สุด สำหรับในต่างประเทศ หลายๆ ประเทศก็มีความพยายามในเรื่องของการกำกับดูแลสื่อยักษ์ใหญ่ระดับโลกแบบนี้เช่นกัน ซึ่งในแต่ละประเทศ มีข้อตกลงไม่เหมือนกัน ขนาดเจ้าของประเทศของสื่อเหล่านี้เองคือ อเมริกา ยังมีปัญหาในเรื่องการเก็บภาษีจาก Facebook และ Google เช่นกัน”
Google รอความชัดเจนจากภาครัฐ
ทางด้าน ตัวแทนจาก Google ประเทศไทย ชี้แจงว่า Google มีการพูดคุยกับทางภาครัฐบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการคุยกับทางกระทรวงดิจิทัล เพราะว่าทางเราอยู่ภายใต้กฎหมายที่ถูกควบคุมดูแลภายใต้กระทรวงดิจิทัล ดังนั้นการที่จะมีกฎหมายใหม่มา ต้องระบุไว้ด้วยว่าเราจะต้องอยู่อยู่ภายใต้ กสทช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการระบุไว้
“สิ่งที่เราทำในตอนนี้ คือ การพูดคุยผ่าน AIC ซึ่งเป็นตัวแทน โดยเป็นองค์กรที่บริษัทอินเตอร์เน็ตใหญ่ๆ ในโลกอยู่ใต้การดูแล ทั้ง Facebook, Twitter, Google, LINE, Rakuten ดังนั้น เราจึงไม่สามารถเข้าไปพูดในฐานะว่าเป็น Google ต้องการแบบนี้ Facebook หรือ Twitter ต้องการแบบนี้
สิ่งที่ดีที่สุด คือ การเข้าไปในฐานะตัวแทน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงขอให้ติดต่อและพูดคุยผ่าน AIC เพื่อให้ออกมาเป็นเสียงเดียวกัน เนื่องจากทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ดังนั้น เมื่อต้องมีการตอบคำถาม หรือมีประเด็นอะไรก็จะให้ AIC เป็นคนจัดการในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นเสียงจากส่วนรวมที่ออกมาในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ทางด้าน Google อเมริกา มีการติดต่อกับทาง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเกือบตลอดเวลา เพราะเราอยู่ในประเทศไหน ก็พยายามพูดคุยกับรัฐบาลประเทศนั้นอยู่เสมอ”
Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand