การส่งออกเป็นรายได้หลักขาหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย ขณะที่สินค้าส่งออกต่างๆ ก็เป็นเสมือนสิ่งที่สะท้อนกลับมาถึงมาตรฐานและคุณภาพในการผลิตสินค้าจากประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น นอกจากเน้นการขยายตลาดส่งออกให้เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว การให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพของสินค้าส่งออกต่างๆ ให้อยู่ในระดับเดียวกับมาตรฐานโลกจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถละเลยได้
แม้ว่าทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2560 จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่การแข่งขันในตลาดโลกก็ยังอยู่ในภาวะที่รุนแรงเช่นกัน จนบางครั้งทำให้ประเทศสูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนและส่งออกสินค้าบางประเภทได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผัก หรือผลไม้ต่างๆ จึงต้องพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้สินค้าจากประเทศไทยมีความแตกต่างและยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ
ขณะที่ภาครัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจในการหาแนวทางเพื่อเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงพาณิชย์ ที่วางนโยบายในการส่งเสริมตลาดส่งออกเพื่อหาที่ยืนให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก พร้อมกับการส่งมอบอาวุธอย่างครบมือเพื่อให้ผู้ประกอบการ มีความพร้อมสำหรับการต่อสู้บนเวทีโลก และในทุกๆ สนามการค้า
อาวุธชิ้นแรกจากกระทรวงพาณิชย์ คือ การผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าได้อย่างที่ฝัน จากความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดส่งออก ในรูปแบบ E-Learning พร้อมเปิดเวทีเพื่อหาตลาดให้ผู้ประกอบการไทย ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมทั้งจัดทำเป็นวีดีโอเพื่อสร้างกำลังใจและกระตุกความฝันของผู้ประกอบการ ในชื่อชุด “DITP ฝันส่งออก” และมีเว็บไซต์ Thaitrade.com เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอสินค้าและบริการไทยในรูปแบบออนไลน์สู่สายตาชาวต่างชาติ
อีกหนึ่งอาวุธสำคัญและถือว่าเป็นหมัดเด็ดของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในปีนี้ก็คือ ตรารับรองคุณภาพมาตรฐานโลก Thailand Trust Mark หรือ T Mark ตราสัญลักษณ์ที่สร้างความน่าเชื่อถือและการันตีสินค้าและบริการไทย โดยกำหนดเป็น “Trusted Quality” ที่การันตีคุณภาพสินค้าไทยที่ทั่วโลกไว้วางใจ ในทุกมิติ ประกอบด้วย คุณภาพสินค้าและบริการที่ได้รับมาตรฐานสากล คุณภาพเรื่องมาตรฐานแรงงานไทย (Fair Labour) , คุณภาพเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility), คุณภาพในการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern) และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Heartmade Quality ที่ระบุว่าสินค้าและบริการเหล่านี้จะต้องใช้ฝีมือการผลิต ผนวกกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนไทยที่ใส่ใจ ตั้งใจ ทำด้วยใจ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุดออกมา
ปัจจุบันมีบริษัทผลิตสินค้าและบริการของไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T MARK แล้วกว่า 700 บริษัท แบ่งเป็น 8 กลุ่มสินค้าและธุรกิจ ได้แก่ อาหาร อุตสาหกรรมหนัก ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นทั่วไป และบริการ กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ การศึกษานานาชาติและธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ซึ่งตรารับรองคุณภาพนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและลดข้อกังขาให้กับผู้ประกอบการไทยได้หลายเรื่อง เช่น ด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าแบรนด์ดังๆ ของไทยหลายราย ต่างก็ใช้ตราสัญลักษณ์นี้เพื่อเปิดตลาดในต่างประเทศ จนสามารถสร้างตลาดที่ยิ่งใหญ่ ทำให้มีที่ยืนในระดับโลกมาแล้ว เช่น เครื่องแกงสำเร็จรูปเจ้าดังอย่าง Blue Elephant ที่ได้ฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า Taste of Thailand เครื่องแกงที่ใครได้กินแล้วร้องว้าว กับความถึงเครื่องถึงรส จนสามารถวางขายในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์สปาจากแบรนด์ Panpuri ที่ได้รับรางวัลระดับเอเชีย และได้รับความไว้วางใจจากโรงแรมระดับโลกเลือกเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้เข้ามาพักได้สัมผัส
T MARK ถือเป็นอาวุธชิ้นสำคัญของรัฐบาลไทย ที่เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าและธุรกิจของประเทศให้ได้รับการยอมรับตามข้อกำหนดของมาตรฐานโลก และเป็นสิ่งช่วยการันตีคุณภาพว่าได้รับการยอมรับเพื่อเป็นใบผ่านทางให้แก่ผู้ประกอบการไทย ในการก้าวเข้าไปเปิดตลาดโลกและสามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
สำหรับผู้ต้องการทำความรู้จักกับสัญลักษณ์ T MARK ให้มากขึ้น สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://thailandtrustmark.com หรือ https://www.facebook.com/TMark.DITP/ หรือชมวีดีโอไวรัล “What is T Mark” ที่หยิบยกความสงสัยเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ T Mark ในสายตาของชาวต่างชาติมาเล่าให้เข้าใจได้ง่ายๆ และสอดแทรกความสนุกสนานไปพร้อมกัน