ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่สะเทือนเลื่อนลั่นวงการผู้ลงทุน เมื่อหุ้น EARTH (บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ) กลายเป็นหุ้นที่ได้รับการจับตามอง เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 20,000 ราย รวมทั้งสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ไปจนถึงภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) บทความนี้จะไล่เรียงวิกฤติตั้งแต่เริ่มต้นขึ้น ในแบบที่ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการลงทุนก็ติดตามได้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเคสที่เกิดขึ้นนี้
จู่ๆ หุ้นดิ่ง หนี้พุ่ง
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาEARTH สร้างความประหลาดใจที่เกิดขึ้นในวงการตลาดทุนชนิดที่เกินความคาดเดา เพราะจู่ๆ ราคาหุ้นดิ่งหนัก อย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน โดยวันที่ 2 พ.ค.2560 ราคาหุ้นปิดที่ 4.36 บาท หลังจากนั้น ร่วงลงอย่างรุนแรงภายใน 7 วันทำการซื้อขาย มาอยู่ที่ 1.98 บาท ในวันที่ 12 พ.ค.2560 หรือดิ่งลงกว่า 55%
จากนั้นราคาหุ้นกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย และยืนซื้อขายแถวๆ 2.14-2.30 บาท และดิ่งลงอีกครั้ง ในวันที่ 1 มิ.ย. 2560 จาก 2.24 บาท ลงมาแตะระดับต่ำสุด 1.20 บาท หรือลดลงราว 50% และกระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 1.46 บาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องสั่งขึ้นเครื่องหมาย SP (เข้าใจง่ายๆ ว่า S มาจากคำว่า SUSPENSION ถ้าอธิบายเต็มๆ ก็คือ Trading Suspension เป็นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว)
หลังจากราคาหุ้นตกกระหน่ำจนสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ถือหุ้น สิ่งที่ตามมาติดๆ ก็คือ การยื่นบริษัทขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม2560 โดย EARTH อ้างว่า เจอคู่ค้ายื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจเป็นยอดหนี้รวมกว่า 26,000 ล้านบาท ทำให้ EARTH มีหนี้สิน 47,480 ล้านบาท กลายเป็นมากกว่าสินทรัพย์ซึ่งมีเพียง 31,829 ล้านบาท เรียกว่า จู่ๆ ก็หนี้สินล้นพ้นตัว แบบที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้, ตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้น ไม่เคยล่วงรู้ถึงยอดหนี้ก้อนนี้มาก่อน
ก.ล.ต. จับมือตลาดหลักทรัพย์ออกโรง
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงต้องสั่งให้ EARTH ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินกว่า 26,000 ล้านบาท ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 5 วันทำการ นับจากคำสั่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา หรือในราววันที่ 16 ส.ค. 2560 ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นการดำเนินการให้หมัดตรงหมัดแรก
หมัดที่สอง คือ คำสั่งให้มี special audit ดูเกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง และสถานะของมูลหนี้ดังกล่าว อันเป็นต้นเป็นเหตุให้ EARTH ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยให้เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ภายใน 30 วัน
ขณะเดียวกัน เคสนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้ลงมือแก้ไขปัญหานี้เพียงคนเดียว แต่ประสานมือกับ ตลาดหลักทรัพย์ หลัง ก.ล.ต. ออกคำสั่ง ตลาดหลักทรัพย์ สำทับตามบทบาทหน้าที่ทันที โดยประกาศแขวน SP และ NP หุ้น EARTH ต่อไปอีก หลังมีคำสั่งไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทาง EARTH ก็ยังไม่ยอมชี้แจง โดยอ้างเหตุผลหาผู้สอบบัญชีไม่ได้
สถาบันการเงินเจ้าหนี้ เร่งตรวจสอบ
นอกเหนือจากปมเรื่องหนี้ที่ต้องอธิบายกับตลาดหลักทรัพย์แล้ว EARTH ยังมีสถาบันการเงินอีกหลายราย ในฐานเจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดอย่างธนาคารกรุงไทย ก็กำลังส่งทีมเข้าติดตามข้อมูลและเร่งสางปมหนี้ก้อนใหญ่ของ EARTH ยังมีธนาคารอื่นๆ ที่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้รายย่อย ซึ่งติดตามท่าทีและแนวทางการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการเดียวกัน
โดยสรุปแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของ EARTH ในขณะนี้ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำนวนยอดหนี้ 1 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทย 2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) อีก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สร้างปมใหม่ ฟ้องร้อง “ธนชาต”
ขณะเดียวกันEARTH ก็สร้างปมเพิ่มด้วยการประกาศฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายธนาคารธนชาต กว่า 6 หมื่นล้าน ซึ่งถือว่าสูงมาก เกือบเท่ามาร์เก็ตแคปของหุ้นธนชาตเลยทีเดียว ด้วย EARTH กล่าวหาว่า ธนาคารธนชาตได้เปิดเผยข้อมูลของบริษัท จนเป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของบริษัทที่อยู่ในบัญชีเงินฝาก ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทเตรียมที่จะโอนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อใช้สำหรับดำเนินธุรกิจซื้อขายถ่านหินให้กับคู่ค้าในจีนและขับเคลื่อนธุรกิจ
ทางธนาคารธนชาตจึงออกโรงชี้แจงอย่างเป็นทางการ ดังนี้
1.ธนาคารธนชาตยังไม่ได้หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจากศาลแต่ประการใด
2.คำแถลงข่าวของ EARTH ที่กล่าวหาธนาคารฯ ผ่านการแถลงข่าวนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริง จึงขอปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยสิ้นเชิง เพราะธนาคารฯ ไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างที่ถูกกล่าวหา ธนาคารฯ ยืนยันมีนโยบาย ขั้นตอน วิธีการที่ชัดเจน และเข้มงวด ด้วยมาตรฐานระดับสูง ในการดูแลรักษาความลับของลูกค้า
3.ธนาคารฯ ไม่ได้เป็นคู่กรณีหรือปล่อยกู้ให้กับ EARTH ธนาคารฯ เป็นเพียงผู้รับฝากเงินของ EARTH เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ EARTH กล่าวอ้างเรียกร้อง
4.ธนาคารฯ อายัดบัญชีเงินฝากของ EARTH เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาล
5.การที่ EARTH แถลงข่าว/ ทำ Press Release และถ่ายทอดสดทาง Facebook Live พาดพิงธนาคารธนชาตในทางเสียหายนั้น ธนาคารฯ สงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อ EARTH ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป
นักลงทุนเสียหายอย่างไร?
สิ่งที่สถาบันการเงิน, ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์กำลังดำเนินงานอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ก็เพื่อ สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุนและลูกค้าของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ หากความผิดพลาดที่เกิดจากกรรมการและผู้บริหาร EARTH ในครั้งนี้ จะหนักหน่วงจนถึงขั้นนำพาบริษัทไปสู่เส้นทางที่ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ ได้ตามกำหนดต่อเจ้าหนี้ และหนี้สินที่ปูดขึ้นมามากมายก่ายกอง ถูกใช้เป็นข้ออ้างนำบริษัทต้องเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟู ประเด็นดังกล่าว จะสร้างผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนหุ้น EARTH โดยตรง นั่นก็คือ ในแง่การลงหุ้น หรือราคาหุ้นของ EARTH ที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หาก EARTH ไม่ยอมชี้แจง หรือรายงานข้อเท็จจริง จากข้อสงสัยของทางการ ตามกรอบเวลาที่กำหนด ย่อมกระทบพอร์ตหุ้น EARTH ของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อย เพราะถือเป็นการสูญเสียโอกาสเม็ดเงินลงทุน เนื่องจากหุ้นถูกห้ามการซื้อขาย ดังนั้น บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่มีเม็ดเงินอันน้อยนิด ต้องถูกจำกัดสิทธิ์ในการนำเงินไปต่อยอด และอาจต้องแบกภาระขาดทุนย่อยยับ แบบที่ไม่รู้อนาคต
นับเป็นบทเรียนที่นักลงทุน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้ และติดตามผลการดำเนินงานจากองค์กรที่เข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิด เริ่มจากพิจารณาที่กลุ่มคณะผู้บริหาร งบการเงิน นโยบายการลงทุน โอกาสในโครงการใหม่ๆ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นับจากนี้ต่อไปเคสของ EARTH น่าจะเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่นักลงทุนหยิบยกมาวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง และต้องจับตาดูต่อไปว่า ในวันที่ 16 สิงหาคม นี้ EARTH จะเข้าไปชี้แจงกับ ก.ล.ต. และทางตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไร และจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ หรือเปล่า