WGSN ทำการสำรวจว่าเทรนด์ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคอย่างไร ซึ่งพบว่าเทรนด์ที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบในเชิงธุรกิจของหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจทั่วๆ ไป ไปจนถึงกลุ่มสินค้าราคาแพง โดย WGSN ให้คำนิยามไว้ว่า “เทรนด์ทำให้เกิดการขยับอย่างช้าๆ ในวัฒนธรรมของกลุ่มคน เทรนด์มีส่วนในการตัดสินใจในสินค้าที่เราจะซื้อและประสบการณ์ที่เรามองหา ไปจนถึงเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการเติมเต็มให้กับชีวิต” ต่างกับแฟชั่น ที่แค่มาแล้วจากไป ไม่ได้ส่งผลอะไรกับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิต นั่นทำให้ธุรกิจที่แยกแยะสองสิ่งออกจากกันได้ และจับเทรนด์ได้ไวก่อนใครจะมีโอกาสในการเติบโตที่มากกว่า
Kim Mannino, Senior trend consultant ของ WGSN กล่าวว่า “Micro-Trend คือเทรนด์ที่เริ่มจาก influencers และค่อยๆ ถูกนำไปใช้โดยคนส่วนใหญ่ในสังคม (และเฉพาะกลุ่ม) และกลายมาเป็นเทรนด์ได้ภายในหนึ่งถึงสองปี ในขณะที่ Macro-Trend นั้นตรงกันข้าม เพราะจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยห้าปี และส่งผลกระทบในทุกอุตสาหกรรม
Emily Spiegel หัวหน้าฝ่ายคอนเทนท์และผลิตภัณฑ์ของ WGSN กล่าวเสริมว่า “การที่จะใช้ Micro-Trend ให้เกิดประโยชน์นั้น คุณต้องมองให้ไกล ไม่มองแค่เฉพาะส่วนของตัวเอง แต่มองถึงการที่ธุรกิจของคุณจะส่งผลกระทบต่อทั้งวงการได้อย่างไร ด้วยวิธีนี้ Micro-Trend จะกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งผลดีในแง่ธุรกิจ”
ลงลึกกันไปในเรื่องของ Micro-Trend ที่ค่อยๆ เติบโตไปเป็น Macro-Trend นั้นมีตัวอย่างที่ถูกนำมาวิคราะห์ให้เห็นกัน 2 เคส ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างแรกคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มช่างฝีมือและงานแฮนด์คราฟท์ทั้งหลาย ที่เริ่มก่อตัวเป็นกระแสตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนในกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่จะค่อยๆ เติบโตและโกแมสในปี 2014 ซึ่งเป็นจุดที่ธุรกิจอย่างคราฟท์เบียร์เริ่มมีบทบาทในสังคม และกระแสของการซื้อสินค้า Local ก่อตัวขึ้นเป็นปรากฏการณ์ และส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปจนถึงธุรกิจท่องเที่ยว ล่าสุดปีที่ผ่านมาเราจะเห็นเทรนด์การท่องเที่ยวของกลุ่ม Millennial ที่คาดหวังการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา พวกเขาสนใจกิจกรรมท้องถิ่นที่จะได้ไปทำระหว่างการเดินทาง มากกว่าแค่ถ่ายภาพสวยๆ แล้วกลับ นอกจากนี้ยังลงลึกไปถึงการใช้ชีวิตแบบ Local life กันมากขึ้น
Airbnb ไวมากในการจับกระแสเรื่องนี้ โดยการเอากระแส Local มาเป็นคอนเซ็ปท์ในการโปรโมทแคมเปญและดึง Millennial มาเข้ากับงานฝีมือและความเป็นท้องถิ่นได้อย่างลงตัว อีกเจ้าหนึ่งที่จับกระแสนี้คือการท่องเที่ยวรัฐอิลินอยส์ ที่หยิบเอาเรื่องของดีอิลินอยส์มาดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยแคมเปญ Illinois Made เพราะเข้าใจเทรนด์ที่นักเดินทางต้องการเป็นหนึ่งในชุมชนที่พวกเขาเดินทางไปเยือน สิ่งที่หยิบยกมามีทั้งเครื่องดื่มและงานฝีมืออื่นๆ โดยจุดประสงค์มุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวค้างคืนที่อิลินอยส์ให้นานอีกหน่อย
“Don’t Go There, Live There” AIRBnB from INDOCHINA PRODUCTIONS on Vimeo.
อีกหนึ่งตัวอย่างคือกระแสโรงแรมรักสุขภาพ ที่ต่อยอดมาจากระแสที่ใครๆ ก็รักสุขภาพ กลายมาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมห้าดาว ที่พยายามเพิ่มฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อการอยู่ดีกินดีอย่างมีสุขภาพยอดเยี่ยมที่สุดของแขกผู้เข้าพัก แม้จะแค่ไม่กี่คืน ตัวอย่างเช่น Swissôtel Zurich ที่เปิดห้อง Vitality Suite ในปี 2016 ที่เป็นห้องพักแบบพิเศษที่ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ และอ่างอาบน้ำที่มีส่วนช่วยในการบำบัดความเหนื่อยล้า การปรับแสงไฟตามพฤติกรรมการนอนหลับเพื่อลดอาการเจ็ทแลก เป็นต้น หลังจากนั้นโรงแรมอื่นๆ ก็ทยอยตามมา เช่นห้องพักที่เรียกว่า Stay Well Room ที่ออกแบบโดย Delos มีการปรับไฟตามพฤติกรรมการนอนหลับ แต่เหนือกว่าด้วยการปรับการหมุนเวียนอากาศอัตโนมัติ ไปจนถึงการลงรายละเอียดไปในส่วนของที่นอนแบบเมมโมรี่โฟม และอื่นๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นมาตรฐานของโรงแรมดังๆ เช่น โรงแรมในเครือ Marriott ในตะวันออกกลางที่จะต้องเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวไว้ให้ครบครัน
ดังนั้นหากคุณเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ถ้าจะถามว่าเทรนด์อะไรจะมาต่อไป คงต้องตอบว่าสองเทรนด์ที่เล่าไปจะยังคงอยู่ไปอีกซักพัก กับกระแสของ Well Being และ Local หากสามารถจับสองสิ่งนี้มาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว คุณจะได้ใจนักเดินทางกลุ่ม Millennial ไปได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะเดี๋ยวนี้คนเมืองที่มีชีวิตวุ่นวายล้วนมองหาดิจิทัลดีท็อกซ์เวลาที่พวกเขาออกท่องเที่ยว การกลับสู่พื้นฐานของการใช้ชีวิต น่าจะดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวได้สบายๆ
Source
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM