หากย้อนไปดู Turning Point ทางธุรกิจของเซเว่นอีเลฟเว่น การปรับ Positioning หลังจากครบทศวรรษแรกจากร้านสะดวกซื้อมาสู่การเป็นร้านอิ่มสะดวก โดยเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มอาหารและของสดเป็น 70% ขณะที่สัดส่วนสินค้าทั่วไปอยู่ที่ 30% นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจแตกต่างจากตลาดอย่างชัดเจน และนั่นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงของเซเว่น อีเลฟเว่นเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งการแจ้งเกิดของ SME ที่เป็นคู่ค้าของคอนวีเนี่ยนสโตร์แห่งนี้ ด้วยค่าเฉลี่ยที่ผู้บริโภคเข้ามาร้าน 7-11 มากขึ้นจาก 2.4 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งเพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้งที่ 2.6 ชิ้น และการมีสาขากว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศครอบคลุมทั้งตัวจังหวัดและหลากหลายพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ก็ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ครบทุกระดับทั้งบน กลาง และรากหญ้า ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จึงกลายเป็นหนึ่งห้องทดลองทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพอีกแห่งหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับทดสอบการตอบรับสินค้าของผู้ประกอบการหรือแบรนด์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางหรือเล็ก อย่างกลุ่ม SME ที่ไม่ได้มีต้นทุนมากพอที่จะไปจ้างบริษัทมาทำวิจัยอย่างจริงจัง การได้วางขายผ่านช่องทางที่ค่อนข้าง Powerful อย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จึงเป็นหนึ่งแนวทางในการรับทราบผลตอบรับที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้าของตัวเองได้ในมิติที่กว้างขึ้น เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าให้เติบโตจาก SME และกลายมาเป็น Mass Product ในอนาคตต่อไปได้
คุณสุวิทย์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จำนวนซัพพลายเออร์ที่มีสินค้าวางจำหน่ายอยู่ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่จัดเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในปัจจุบันมีประมาณ 50% หรือราว 2 พันราย จากจำนวนซัพพลายเออร์ทั้งหมดกว่า 4 พันราย และมีจำนวนสินค้าจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากกว่า 25,000 รายการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ขายดีจะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตรต่างๆ
“เซเว่น อีเลฟเว่น ไม่ได้เป็นเพียง Channel เพื่อกระจายสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ในการเก็บข้อมูลเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดผู้ประกอบการ ตั้งแต่ยังไม่ได้นำสินค้ามาวางขายด้วยซ้ำ เพราะจะมีทั้งฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่าย QA หรือส่วนงานที่ดูแลมาตรฐานการผลิตต่างๆ เข้ามาให้ความรู้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากตลาด รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการทำตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์”
การสนับสนุนธุรกิจ SME เป็นนโยบายตั้งแต่เริ่มต้นของเซเว่น อีเลฟเว่นก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่สาขาแรกที่เปิดในปี 2532 ที่สาขาถนนพัฒน์พงษ์ ก็มีสินค้า SME คือ ไข่เค็มไชยา มาวางขายแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอย่างมาก และยังมีหลายๆ ธุรกิจ ที่เรียกได้ว่ามีจุดกำเนิดหรือจุดเปลี่ยนมาจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทำให้เติบโตจากธุรกิจ SME กลายมาเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ เช่น แบรนด์โออิชิ ตั้งแต่ในยุคที่ก่อตั้งโดยคุณตัน ภาสกรนที รวมทั้งแบรนด์สาหร่ายชื่อดังอย่างเถ้าแก่น้อย ที่สามารถขยายสเกลขึ้นจากธุรกิจแบบ SME เติบโตมาเป็น Mass product ในเวลาต่อมา
ธุรกิจ SME ที่นำสินค้ามาวางขายสินค้าในเซเว่นฯ จะทราบฟีดแบ็คที่มีต่อสินค้าได้ค่อนข้างเร็ว เพราะมีการแชร์ข้อมูลให้แก่ซัพพลายเออร์ เพื่อประเมินโอกาสในการขยายตลาดจากผลตอบรับที่เกิดขึ้น รวมทั้งการทำงานร่วมกันแบบเป็นพันธมิตร โดยไม่ได้แยกว่าฝ่ายหนึ่งคือ Retailer อีกฝ่ายหนึ่งคือ Supplier แต่จะพยายามสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถนำ Data ที่ได้ไปใช้ในการวางแผนและวิเคราะห์ตลาด รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงสินค้าให้ตรงกับสิ่งที่ตลาดต้องการได้ถูกต้อง ประกอบกับให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแชร์ประสบการณ์ผ่าน Best Practice จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเกิดเป็นไอเดีย หรือแรงบันดาลใจในการนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตัวเอง ในรูปแบบของการจัดงานสัมมนาไปในหลายๆ พื้นที่อย่างต่อเนื่อง
“มีกรณีตัวอย่างของซัพพลายเออร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SME และเลือกวางขายในเซเว่นฯ ก่อนลงตลาดเป็นแมส เพื่อดูว่าตลาดให้การยอมรับหรือไม่ หรือแม้แต่แบรนด์ต่างๆ ก็จะลองทำโปรโมชั่นผ่านร้านเซเว่นฯ เพื่อดูผลตอบรับเบื้องต้น ก่อนจะขยายสเกลไปในขนาดที่ใหญ่ขึ้นหรือทำทั่วทั้งประเทศต่อไป ซึ่งสามารถพูดได้ว่า ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นห้องทดลองทางการตลาดที่ดี ซึ่งการมีแล็บที่ดีจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จได้ แต่หากในห้องทดลองยังไม่สามารถประสบความสำเร็จ โอกาสที่จะสำเร็จในตลาดที่ใหญ่ขึ้นก็ค่อนข้างเป็นไปได้ยากเช่นกัน”
เซเว่น อีเลฟเว่น ยังมีอีกหนึ่งภารกิจในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้ก้าวทันยุค 4.0 ด้วยการทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และพยายามนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในระบบการทำงานเพื่อให้กลุ่ม SME เกิดการเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคย เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจตัวเองได้ ทั้งในแง่ของการใช้เพิ่มช่องทางขายให้กว้างขึ้น รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ ที่ไม่ได้จำกัดตลาดอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ต้องพยายามมองหาโอกาสที่ช่วยให้สามารถเติบโตต่อได้ในระดับโลกอีกด้วย