ปัจจุบันนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าหลังจากที่ประเทศเมียนมาได้มีการประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหาร และมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุน โดยมีการเชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลายๆธุรกิจ หลายๆอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงถือได้ว่าเมียนมาเป็นประเทศที่น่าจับตามอง และถือเป็นขุมทองที่ทำให้นักธุรกิจชาวต่างชาติแทบจะทั่วทุกมุมโลก มองหาช่องทาง เพื่อจะเข้ามาลงทุน และทำธุรกิจที่นี่ ตั้งแต่มีการเปิดประเทศมานั่นเอง ซึ่งปัจจุบันภาพลักษณ์ต่างๆ ของเมียนมาต่อชาวโลกนั้น เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากภาพรัฐบาลทหารที่น่ากลัว กลายเป็นเปิดประเทศต้อนรับผู้คนเป็นอย่างดี และให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยโดยแท้จริง ซึ่งส่งผลให้เมียนมาในปัจจุบันนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีการชนะคะแนนอย่างเอกฉันท์ของพรรค NLD (National League for Democracy) ของนางออง ซาน ซู จี ซึ่งก็เป็นที่จับตามองว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาต่างๆ และพัฒนาประเทศได้เร็วแค่ไหนก็คงต้องติดตามดูกันไป
พูดถึงการทำธุรกิจไม่ว่าจะสาขาใด หรืออุตสาหกรรมไหน คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าข้อมูลหรือการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งธุรกิจตัดสินกันแค่ใครรู้ก่อน ก็อาจจะสามารถสร้างสิ่งแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งส่งผลให้สร้างรายได้มหาศาลก็เป็นได้ ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในยุคของ Internet of Things (IoT) แปลง่ายๆ คือ อินเทอร์เน็ตแทบจะเป็นทุกอย่างของโลก ใบนี้ไปแล้ว เพราะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าขาย หรือลดขั้นตอนต่างๆ และที่สำคัญเป็นตัวช่วยหาข้อมูล และรับส่งข้อมูลข่าวสารกันได้แบบเป็นวินาทีเท่านั้น
แล้วอินเทอร์เน็ตที่เมียนมาเป็นอย่างไร ถ้าเราจะแบ่งอินเทอร์เน็ต ผมขอแบ่งเป็นแบบใหญ่ๆ เพียงแค่สองประเภท คือ อินเทอร์เน็ตแบบที่ต้องมีการใช้สายกับไม่ใช้สาย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นระบบอินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้สายโทรศัพท์ สายเคเบิล หรือสายไฟเบอร์ออฟติกนั้น ถือเป็นระบบที่ต้องการใช้สายที่เรียกว่ามี Fixed Line หรือ Land Line หลังจากที่เมียนมาเปิดประเทศ ก็มีการพัฒนาระบบขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งอินเทอร์เน็ตแบบนี้ มีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา ทำให้อินเทอร์เน็ตนั้นไม่แพร่หลาย และยังไม่เข้าถึงคนส่วนมากในประเทศ เพราะไม่สามารถมีกำลังซื้อได้นั่นเอง รวมถึงความครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ ก็ยังคงน้อยอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีการเร่งพัฒนา และให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เราอาจจะได้เห็นอินเทอร์เน็ต Fixed Line ที่มีราคาถูกลง และพื้นที่ครอบคลุมในเร็วๆ นี้
ส่วนอินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องการสายคือ WiMax และ Mobile Internet สำหรับ WiMax นั้น บางประเทศก็เลิกใช้ไปแล้ว แต่ในเมียนมายังมีผู้ให้บริการอยู่ โดยที่คุณภาพกับราคานั้นไม่ดีนัก แต่ Mobile Internet มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จากวันที่เปิดประเทศเมื่อ 5 ปีก่อน เมียนมายังคงมีแค่ Mobile Operator เดียว คือ MPT (Myanmar Posts and Telecommunications) ซึ่งบริหารโดยรัฐบาล ต่อมามี KDDI เป็นบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติญี่ปุ่น เข้ามา ร่วมทุน ซึ่งสมัยแรกซิมการ์ดระบบเติมเงินนั้น มีมูลค่าสูงสุดถึง 3,000 USD ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ที่ประชาชนทั่วไปจะจับต้องใช้สอยกันได้ และมีราคาของค่าโทร และค่าอินเทอร์เน็ตที่แพงมาก แต่ความเร็วเฉลี่ยของ 3G นั้น ช้ามากๆ วิ่งยังไม่ถึง 1Mbps แต่หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจให้ประมูลใบอนุญาตเพิ่มเติม และได้ผู้ชนะ คือ Telenor และ Ooredoo ในปี 2013 หลังจากนั้น Ooredoo ก็ได้ให้บริการวันแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2014 และ Telenor ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และแน่นอนจากราคาซิมการ์ดที่แพงโดยไม่มีเหตุผล เหลือเพียง 1.5 USD ซึ่งถือเป็นราคาปกติที่ผู้คนรับได้ และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยทั้งสามค่ายก็ได้มีการออกโปรโมชั่นต่างๆ รวมถึงพัฒนาระบบเครือข่ายให้ดีทั้ง 3G และ 4G ทำให้ปัจจุบันนี้ จากปี 2012 ที่มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพียงแค่ 6-7 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคน ภายในระยะเวลาแค่สองปีเศษเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่เร็วแทบจะที่สุดในโลก โดยมี Penetration rate มากกว่า 50% เข้าไปแล้ว ซึ่งทำให้สำนักงานออฟฟิศต่างๆ ก็หันมาใช้ Mobile Internet กันทำงาน ราคาก็ไม่ได้ถูกมากนัก แต่อยู่ในระดับขั้นที่รับได้ในการทำงาน บางครั้งสัญญาณดีๆ อาจจะมีความเร็วสูงเกินกว่า 10 Mbps อีกด้วย
การที่ Mobile Internet โตเร็วแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเครื่องโทรศัพท์ที่พวกเขาใช้กันนั้นเป็น Smart Phone แทบจะ 100% โดยเป็น Android based ที่มีราคาเฉลี่ย 100 USD เท่านั้น โดยคนส่วนมากซื้อมือถือมาใช้ก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีซิมการ์ดใช้ (เนื่องจากสมัยก่อนราคาซิมการ์ดราคาค่อนข้างสูง) เนื่องมาจากมือถือสามารถถ่ายรูปได้ ฟังเพลงได้ เล่นอินเทอร์เน็ต โดยอาศัย WiFi ฟรี ได้จากโรงแรม หรือห้างร้านต่างๆ นั่นเอง คนเมียนมาถูกปิดกั้นมานาน พอได้เปิดเสรีก็มีความอยากรู้อยากเห็น อยากคุย อยากติดต่อกับเพื่อน ญาติ หรือเพื่อนใหม่ แต่เรื่องของ Website Social Network และตลาด Application นั้น มีบุคลากรที่มีความชำนาญในด้าน IT และ Content น้อยมาก เลยทำให้มีเพียงสองเว็บไซต์ที่คนเมียนมาเข้ามากที่สุดคือ Facebook และ YouTube โปรแกรม Chat ที่ใช้มากที่สุดคือ Viber ปัจจุบันมีหลาย Application พยายามจะมาแย่งตลาด แต่คนเมียนมาก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนเท่าไหร่ เพราะความเคยชิน และกลัวว่าถ้าเปลี่ยนไปแล้วเพื่อนๆ เขาจะไม่เปลี่ยนไปใช้ด้วยนั่นเอง ซึ่งก็เป็นโจทย์ของ Application อื่นๆ ว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อจะดึงความสนใจให้ผู้คนมาใช้ให้ได้นั่นเอง ส่วนอีก Application ยอดฮิตก็คือ BeeTalk ซึ่งเรียกง่ายๆ คือ เป็นโปรแกรมสำหรับคนเหงา โสด หรือไม่โสด หาเพื่อนคุย หรือหาคู่ โดยสามารถสแกนหาผู้ใช้ใกล้ๆ หรือใส่ Filter ความต้องการต่างๆ หาเพื่อนคุยได้เลย นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เนื่องจากเรื่องรักๆ นั้น ยังไม่เปิดเสรีเหมือนประเทศอื่นในโลก บางครั้งตัวช่วยอย่างลับๆ ก็ทำให้ขายดีขึ้นมานั่นเอง
ที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า 5 ปีที่ผ่านมา เมียนมามีการพัฒนาด้านการสื่อสารค่อนข้างรวดเร็ว การทำงานที่นี่ง่ายขึ้นสะดวกขึ้นกว่าสมัยก่อนหลายเท่าตัว ซึ่งทำให้มั่นใจว่าการทำธุรกิจที่นี่ หากเข้าถูกจังหวะ หาคู่ค้าถูกราย มีช่องทางทุกธุรกิจที่ดี บวกกับการสื่อสารที่ดีขึ้น จะช่วยให้การทำธุรกิจที่เมียนมามีโอกาสประสบผลสำเร็จได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าภายในระยะเวลาอีกไม่เกิน 2-3 ปีนี้ เราจะได้เห็นการพัฒนาทางด้านอินเทอร์เน็ต และไอทีของพม่า ที่จะก้าวกระโดดอย่างน่าตกใจ ซึ่งทำให้นักธุรกิจหลายๆ อุตสาหกรรมนั้น ควรจะต้องติดตามให้ดีอย่างใกล้ชิด เพราะ Internet of Things (IoT) นั้นช่วยให้เราสามารถแข็งแกร่งขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยคู่แข่งเราได้เช่นกันครับ
โดย สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM : Thai Business Association of Myanmar)