HomeBrand Move !!ผ่ายุทธศาสตร์ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ทุ่มหมื่นล้าน ปรับทัพใหญ่ ดันองค์กร-แบรนด์ไทยสู่เวทีโลก

ผ่ายุทธศาสตร์ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ทุ่มหมื่นล้าน ปรับทัพใหญ่ ดันองค์กร-แบรนด์ไทยสู่เวทีโลก

แชร์ :

คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

เมื่อเอ่ยถึง “กลุ่มธุรกิจ TCP” ชื่อนี้คนไทยหลายคนอาจยังไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดชื่อกระทิงแดง, สปอนเซอร์, แมนซั่ม, เรดดี้, เพียวริคุ คนไทยส่วนใหญ่ร้องอ๋อ! ทันที เพราะเป็นสินค้าที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แต่วันนี้องค์กรสายเลือดไทยรายนี้ ได้ปรับทัพครั้งใหญ่ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วย 4 บริษัทคือ…

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด” ผู้ผลิตสินค้าของกลุ่ม, “บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด” ดูแลการตลาดและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม, “บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด” เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม และแบรนด์อื่นๆ และ “บริษัท เดอเบล จำกัด” ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” เพื่อยกระดับไปสู่การเป็น “บริษัทไทยที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก” และ มียอดขายแตะระดับ 100,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า

“วันนี้สินค้าเรากระจายไปทั่วโลก ทั้งภายใต้แบรนด์กระทิงแดง และเรดบูลรสดั้งเดิม ที่บรรจุอยู่ในกระป๋องกว่า 10,000 ล้านกระป๋อง บริโภคกันกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และในฐานะที่เป็นเจ้าของแบรนด์เรดบูลที่มีความเป็นแบรนด์ระดับโลก เราจึงเป็นผู้ถือธงชาติไทยบนเวทีโลกไปโดยปริยาย นี่จึงเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ขององค์กรเรา และผู้บริหารที่ต้องทำงานบนมาตรฐานระดับโลก” คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ฉายภาพโอกาสการเติบโตในตลาดโลก

เจาะลึกแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กับเป้าหมายยอดขาย 100,000 ล้านบาท

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่จำหน่ายในไทย และทั่วโลกมี 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ได้แก่ แบรนด์กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์, กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ สปอนเซอร์, กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนัล ดริ้งก์ คือ แมนซั่ม, กลุ่มชาพร้อมดื่ม ได้แก่ เพียวริคุ, กลุ่มผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวันซันสแนค นอกจากนี้มีธุรกิจหัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม

การจะประกาศศักดาในตลาดโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตบนเวทีโลก และบรรลุเป้าหมายยอดขาย 100,000 ล้านบาทในปี 2565 โดย “กลุ่มธุรกิจ TCP” ทุ่มงบลงทุน 10,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในแผนการดำเนินธุรกิจ 5 ปี (2561 – 2565) ซึ่งถือเป็นงบสูงสุดในรอบ 61 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจขึ้นเมื่อปี 2499

ภายใต้งบลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ

1. การเสริมสร้างขีดความสามารถของฝ่ายบริหาร และพนักงานกลุ่มธุรกิจ TCP ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผ่านโครงการฝึกอบรมบุคลากรที่เข้มข้น ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเปิดรับบุคลากรระดับบริหารที่ผ่านการทำงานระดับโลกจากบริษัทเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติ เข้ามาเสริมทีม เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับวิธีปฏิบัติแบบสากล

2. ขยายและพัฒนากำลังการผลิต และพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ปัจจุบันมีโรงงาน 2 แห่งในประเทศไทย และมีโรงงาน 3 แห่งในต่างประเทศ คือ อินโดนีเซีย, เวียดนาม และจีน มีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี โดยประเทศไทยเป็นฐานใหญ่ในการผลิตสินค้า ป้อนทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ

ขณะเดียวกันได้สร้างทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคในประเทศไทย และทั่วโลกได้ อย่างเมื่อปีที่แล้วจัดสรรงบประมาณ 30 ล้านบาทสำหรับเป็นงบวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

“มูลค่าการส่งออกของกลุ่มธุรกิจ TCP อยู่ที่ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกของกลุ่มบริษัทฯ จะเพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 80% ของเป้าหมายยอดขายรวม 100,000 ล้านบาท ถือว่าเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย”

3. เพิ่มฐานที่มั่นของกลุ่มธุรกิจ TCP ในต่างประเทศ การเป็นแบรนด์ระดับโลกได้อย่างแท้จริง ต้องปรับ Mindset วิธีคิด และกระบวนการทำงาน ไม่มองเป็น One Size Fits All แต่สินค้าต้องสามารถ Customize ได้ตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศ ยิ่งในโลกยุคดิจิทัล ที่ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การทำตลาดต้องเข้าใจความแตกต่างของประเทศต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาเทรนด์ เพื่อไม่หลุดกระแส

“เราตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเปิดสำนักงานแห่งใหม่ หรือโรงงานแห่งใหม่ อย่างน้อยปีละ 1 แห่งใน 1 ประเทศ เนื่องจากมีเป้าหมายจะทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็น “House of Brand” ที่ทรงพลัง การมีสำนักงานในประเทศต่างๆ จะช่วยให้เราเข้าใจความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศได้ดียิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าที่เรามีอยู่แล้ว ให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะตลาดได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ในตลาดเครื่องดื่มระดับโลก เราโฟกัส 3 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ คือ เครื่องดื่มชูกำลัง, ฟังก์ชั่นนัล ดริ้งก์ และสปอร์ต ดริ้งก์ โดยตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง แม้ช่วงที่ผ่านมาตลาดในไทย ไม่ได้เติบโตมากนัก แต่ภาพรวมเครื่องดื่มชูกำลังตลาดอาเซียน มีอัตราการเติบโตสูง เพราะเป็นภูมิภาคที่ยังมีประชากรอายุน้อยจำนวนมาก ซึ่งคนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสของตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง”

สำหรับยอดขายรวมครึ่งปีแรกของกลุ่มธุรกิจ TCP (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560) อยู่ที่ 14,600 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี้ จะมียอดขายรวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 68% มาจากลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง, 20% มาจากกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ และอื่นๆ 12%

การยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 61 ปีครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของกลุ่มธุรกิจ TCP และวงการอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่ต่อไปจะได้เห็นสินค้าไทยอีกหลายแบรนด์ออกไปโลดแล่นในตลาดโลก หลังจากก่อนหน้านี้ปลุกปั้น “กระทิงแดง” และ “เรดบูล” ได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก


แชร์ :

You may also like