หลายคนน่าจะเคยผ่านตาแคมเปญคลิปวิดีโอตัวล่าสุด “Family Reconnect” จาก AIS สานรัก ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดียต่างๆ กันมาบ้าง ด้วยการนำเสนอปัญหาความเข้าใจในการใช้โซเชียล มีเดียที่ไม่เท่ากัน ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวยิ่งห่างไกล ซึ่งผลตอบรับที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงกระแสที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลเท่านั้น แต่ยังเกิดการแชร์และบอกต่อระหว่างพ่อ แม่ ลูก ออกไปอย่างกว้างขวาง
เบื้องหลังแนวคิดดี ๆ สำหรับครอบครัวชิ้นนี้ มีจุดเริ่มต้นจากอะไร และเพราะอะไรจึงกระทบใจผู้ชมได้มากมายเช่นนี้ วันนี้เราจะพาไปเจาะลึกมุมมองจาก คุณเล็ก-วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
ก้าวเริ่มต้นก่อนเป็น Family Reconnect
จุดเริ่มต้นแคมเปญ Family Reconnect คุณเล็กเล่าว่า เกิดจากการมองหาประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวมานำเสนอต่อสังคมที่ทาง AIS สานรัก จะทำอยู่เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เลือกที่จะนำเสนอความสัมพันธ์ในครอบครัวกับโซเชียล มีเดีย เพื่อโฟกัสการสื่อสารผ่านไปช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น
“ทีมงานจะคอยเก็บข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเทนรด์ดิจิทัลกำลังมาแรง ทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีในชีวิตได้ง่ายขึ้น โซเชียล มีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำงานและช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ได้ จึงนำแนวคิดนี้ไปนำเสนอกับทีม Moonshot ซึ่งเป็น PR & Content Digital Agency ทางทีมงานจึงได้แนะนำอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจของโลกออนไลน์เช่นกัน คือ นอกจากโซเชียล มีเดียจะสร้างความสัมพันธ์ได้แล้ว ยังสามารถทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน เพราะการสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันก็ทำให้ความสัมพันธ์ถูกตัดขาดได้อย่างง่าย ๆ ทั้งการเลิกเป็นเพื่อนกันไปเลย หรือการออกจากกลุ่มไปทันที โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก การใช้โซเชียล มีเดียอย่างขาดความเข้าใจอาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ นำมาสู่การตั้งคำถามจากปัญหาที่หลายคนรู้สึกว่า “หรือเราไม่ควรเป็นเพื่อนกันบนโลกโซเชียล” ที่ปรากฏเป็นภาพแรกของคลิปวิดีโอนี้”
การเป็นเพื่อนกันบนโลกโซเชียลไม่ใช่แค่การเล่นสนุก แต่คุณเล็กมองอย่างลงลึกไปว่า “การถูกปฏิเสธหรือตัดสัมพันธ์ แม้จะแค่ในโลกโซเชียล แต่เป็นเรื่องเจ็บปวดเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ ลูกอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นจะทำให้พ่อแม่เสียใจ และจากการทำ AIS สานรักมาตลอด ทำให้รับรู้ว่าปัญหาของคนในครอบครัวอาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเราจับจุดตรงนี้ได้ น่าจะตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และเข้ากับยุคสมัย รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของสังคมไทย จึงนำมาสู่แนวคิดเริ่มต้นของแคมเปญนี้”
นำเสนอด้วยความจริงโดยไม่มีสคริปต์
ในแง่ของการนำเสนอนั้น ทาง AIS สานรัก ต้องการนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง จึงได้คัดเลือกจากครอบครัวที่พบเจอปัญหาเหล่านี้เองจริงๆ จากการทำโฟกัสกรุ๊ป เพื่อให้ได้กรณีศึกษาของครอบครัวที่พบเจอปัญหาจากการใช้โซเชียล มีเดีย ที่แต่ละครอบครัวอาจมีปัญหา เช่น คู่พ่อลูก คู่แม่ลูก ซึ่งแต่ละคนอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันบนโลกโซเชียล โดยการให้แต่ละครอบครัวทำ Social Media Test เพื่อเก็บข้อมูลการใช้โซเชียล มีเดีย โดยแยกระหว่างพ่อ แม่ และลูกคนละชุด เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในการใช้โซเชียลของแต่ละครอบครัว พร้อมเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากการเปิดใจสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นชีวิตจริงๆ มานำเสนอ ทำให้มีความเป็นธรรมชาติสูง จนบางคนที่ได้ดูมีความรู้สึกร่วม เพราะเหมือนกับเป็นปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน
“เราเป็นคนหนึ่งที่แชร์คลิปนี้ให้เพื่อนดูด้วย ทำให้เพื่อนบางคนโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับการใช้สื่อโซชียลต่างๆ เริ่มมองเห็นความสำคัญในการใช้สื่อนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความใกล้ชิดกับลูก บางคนที่ไม่เล่นโซเชียลก็พยายามสนใจและหัดเล่นเพราะอยากตามลูกให้ทัน เนื่องจากทุกวันนี้พ่อแม่ลูกอาจไม่ค่อยได้เจอหน้ากันบ่อยนัก จึงต้องปรับวิธีการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงลูกได้มากขึ้น การรอเจอหน้ากันแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่พออีกแล้วในยุคปัจจุบันนี้ แต่เราสามารถเลือกที่จะสื่อสารกับลูกผ่านโลกโซเชียลได้เช่นกัน เพราะเขาอยู่ในโลกโซเชียลตลอดเวลา”
จริงจังกับช่องทางการสื่อสารในโลกโซเชียลมากขึ้น
แม้เดิมทาง AIS สานรัก จะเน้น Traditional Media เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือวิทยุ แต่ก็ใช้สื่อออนไลน์เสริมอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ AIS สานรัก หันมาจริงจังกับช่องทางนี้มากขึ้น โดยคุณเล็กให้เหตุผลว่า เพราะโลกเปลี่ยนไป คนที่รู้จัก AIS สานรัก ต่างมีอายุมากขึ้นทุกวัน ส่วนรุ่นที่เด็กลงมาก็เริ่มไม่รู้จัก ทำให้ AIS สานรัก พยายามที่จะรักษาทั้งกลุ่มคนที่เคยรู้จักและคุ้นเคยกันมา พร้อมๆ กับการโฟกัสกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีพฤติกรรมในการใช้โซเชียลในการติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูล และใช้ชีวิตในโลกโซเชียลตลอดเวลาอยู่แล้ว
“ปีนี้เรามีแนวคิดที่จะโฟกัสคนในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ AIS สานรัก ยังคงเชื่อมโยงในเจเนอเรชั่นที่เด็กลงมาได้ เมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เครื่องมือที่ใช้ก็ต้องเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับแต่ละยุคแต่ละวัยของคนที่เราควรให้ความสำคัญในครอบครัว”
คอนเทนต์ยาวไม่ใช่ปัญหา ถ้าเนื้อหาใช่
แม้เนื้อหาในคลิปวีดีโอค่อนข้างยาว แต่เมื่อคอนเทนต์ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าสนใจและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงซึ่งหลายๆ ครอบครัวเคยพบเจอกับตัวเองทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตาม และได้รับความสนใจจนเกิดการแชร์และกลายเป็นอีกหนึ่งกระแสที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียล
“เนื้อหาที่คลิปวิดีโอนี้นำเสนอเป็นสิ่งที่ใช่และเป็นจริงในชีวิตหลายคน ตัวเราเองดูแล้วแชร์ให้ลูกดูทันทีเลย เพราะเราเคยเป็นมาก่อน เรามีประสบการณ์จากการไปคอมเมนต์ในกลุ่มเพื่อนลูกที่คุยกันอยู่ ปรากฏว่าเงียบหมดเลย จนต้องกลับมาคิดว่า เราควรแค่กดไลค์แบบแต่ก่อนหรือเปล่า กลัวลูกจะอันเฟรนด์ไหม ต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไร เราสามารถทำอะไรได้แค่ไหนบนพื้นที่ที่ลูกคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเขา ต้องคอมเม้นต์อย่างไร ซึ่งในวันที่เราได้ดูคลิป ทำให้ระลึกถึงวันนั้นได้เลย คืออึ้งไปเลย หลายๆ คนที่ดูก็จะมีความรู้สึกเหมือนจะโดนใจเขาเช่นกัน ทำให้เกิดการติดตามและแชร์ต่อ ด้วยความรู้สึกว่า ใช่! นี่แม่เราเลย เออใช่! นี่พ่อเราเลย เด็กแชร์ต่อให้พ่อแม่ เพราะอยากให้พ่อแม่เข้าใจตัวเอง แล้วตัวเขาเองก็เข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ที่สำคัญทำให้ได้เห็นคำตอบและแนวทางในการแก้ปัญหา นั่นคือการเปิดใจคุยกันแค่นั้นเอง”
ลดช่องว่างระหว่างครอบครัวในโลกโซเชียล
หลังจากปล่อยคลิปวิดีโอไปได้ระยะหนึ่งก็ได้กระแสการตอบรับที่ดีมาก เกิดบรรยากาศการแชร์และแท็กระหว่างคนในครอบครัวมากมาย คุณเล็กบอกว่า “ทีมของเราคอยติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นครั้งแรกที่ทีมเลือกสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์จริงจัง หลังจากปล่อยวิดีโอตัวนี้ไปตั้งแต่วันแรก ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ถึงปัจจุบันก็ยังมีคนกดไลค์และกดแชร์ จนปัจจุบันมียอดคนดูล้านกว่าวิวแล้ว เนื่องจากคลิปนี้คงมีส่วนช่วยกระตุกให้แต่ละครอบครัวกลับมามองเห็นสิ่งที่เป็นช่องว่างระหว่างกัน พร้อมปรับจูนและหาแนวทางในการแก้ไข ด้วยวิธีการสื่อสารกันบนโลกโซเชียลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดหวังว่าบนโลกโซเชียลของครอบครัวที่เคยมีมุมมืด หรือมีจุดที่ไม่เชื่อมต่อกันจะได้กลับมารีคอนเน็กกันใหม่ แทนที่จะปล่อยให้โลกโซเชียลทำลายความสัมพันธ์ของครอบครัว แต่จงใช้มันเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ ปิดช่องว่าง ทำให้โซเชียลสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โซเชียล มีเดียจะได้เกิดประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์”
สิ่งที่ AIS สานรัก ทำในวันนี้ คือความกล้าของแบรนด์ต่อการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้วยการนำเสนอความจริงของครอบครัวในยุคดิจิทัล โดยการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายใหม่ แต่ยังคงไม่ทิ้งกลุ่มเป้าหมายเดิม และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็นสื่อกลางที่จะเข้ามาช่วยให้ครอบครัวได้เปิดใจเข้าหาและใกล้กันมากขึ้น ซึ่งก้าวต่อไป AIS สานรัก ได้วางแผนงานที่จะสร้างความเข้าใจของครอบครัวผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น
คุณเล็กทิ้งท้ายว่า “เรามีแผนจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีทั้งเคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ที่ควรจะสื่อสารกับลูกในโซเชียลว่าควรทำแค่ไหน มองหาจุดที่จะเป็นความพอดีระหว่างกันว่าอยู่ตรงไหน โดยล่าสุด ได้นำข้อสอบ Social Media Test ที่ใช้ในคลิปวิดีโอมาให้ทุกครอบครัวได้ลองทดสอบเพื่อดูว่าครอบครัวเรามีช่องว่างระหว่างกันมากแค่ไหน โดยสามารถดาวน์โหลดมาทดสอบกันได้ที่ Social Media Test เชื่อว่าจะทำให้แต่ละครอบครัวมีความเข้าใจกันมากขึ้น โดยสิ่ง AIS สานรักทำทั้งหมดนี้ เพียงต้องการให้เกิดการพูดคุยกันบนโลกออนไลน์ระหว่างคนในครอบครัวนั้นราบรื่น ซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์บนโลกออฟไลน์ของทุกครอบครัวกลมกลืนกันอย่างลงตัว คู่ขนานกันไปทั้งบนโลกโซเชียลและในโลกแห่งความเป็นจริง”
[บทความ Advertorial]