เป็นที่รับรู้กันดีทั่วโลกว่าจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงนับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเข้าใกล้พี่เบิ้มอย่างอเมริกาเข้าไปทุกที โดยมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศจีนขณะนี้อยู่ที่ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 400 ล้านล้านบาท ทิ้งระยะห่างไม่มากนักจากสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 600 ล้านล้านบาท
แม้ขนาดเศรษฐกิจยังอาจจะไล่ตามไม่ทัน แต่ถ้าเทียบอัตราเติบโต ถือว่าจีนโดดเด่นและทิ้งห่างสหรัฐฯ ไปหลายช่วงตัว ด้วยตัวเลขการเติบโตล่าสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนเติบโตสูงถึง 6.9% ขณะที่สหรัฐฯ เติบโตเพียง 0.1% ส่วนจีดีพีของทั้งโลกเติบโตประมาณ 3% หรือในด้านมูลค่าการค้าโดยรวมทั้งการนำเข้าและส่งออกทั้งประเทศของจีนอยู่ที่ 4.2 -4.3 ล้านเหรียญ มากกว่าสหรัฐฯ ที่มียอดรวม 4 ล้านเหรียญ
อีกหนึ่งเสียงยืนยันการมาของประเทศจีนคือ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ที่กล่าวในงานสัมมนา “ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt One Road” ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจประเทศจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ และจะเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่เข้ามาซื้อทุกอย่างของโลก รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของ R&D อย่างมาก จนตอนนี้สามารถถือครองลิทธิบัตรลิขสิทธิ์ต่างๆ ไว้มากกว่า 4.3 แสนรายการ แซงหน้าสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 4 แสนรายการ และในบางบริษัทขนาดใหญ่ของจีนมีนักวิจัยและพัฒนามากถึง 8 หมื่นรายเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังกลายเป็นผู้เข้ามากระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งโลกขยายตัว ช่วงที่กำลังซื้อของทุกตลาดชะลอตัว ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่มีมูลค่าการลงทุนในโครงการสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 50 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ฟังดูแล้วอาจเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วประเทศไทยและกลุ่ม CLMV เป็นพื้นที่สำคัญที่เรียกว่าจะได้รับประโยชน์จากการขับเคลื่อนนโยบายครั้งนี้ของพญามังกรอย่างมหาศาลเลยทีเดียว จนถึงขนาดที่คุณวิกรม เอ่ยปากออกมาว่า “เตรียมตัวรวยกันได้แล้วทุกคน!!”
One Belt One Road ไม่ใช่แค่จีน แต่ทั้งโลกจะเติบโต
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจนโยบาย One Belt One Road กันก่อน โดยนโยบายนี้ ประธานธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญและเป็นผู้ผลักดัน เพื่่อสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือจากนานาประเทศทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจแต่ยังรวมถึงในมิติด้านวัฒนธรรมด้วย นำมาสู่การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (AIIB) เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น
“One Belt One Road (OBOR) ไม่ใช่แค่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจจีน แต่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการค้า การลงทุนทั่วโลกที่ทำให้ GDP ทั้งโลกขยายตัวได้ ช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของทั้งโลก การจ้างงาน และการพัฒนาตลาดในประเทศต่างๆ โดยจะส่งผลไปสู่ 65 ประเทศ ทั่วโลก ครอบคลุม 62% ของประชากรทั่วทั้งโลก 30% ที่จะส่งผลกระทบต่อ World GDP และครอบคลุมพื้นที่กว่า 38.5% ของพื้นที่ทั่วโลก”
โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดน่าจะเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ด้วยขนาดตลาดใน 5 ประเทศ ที่มีคนมากกว่า 237 ล้านคน พื้นที่เกือบ 2 ล้านล้านตารางกิโลเมตร มูลค่าจีดีพีรวมกันเกือบ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นจีดีพีต่อหัวประมาณ 2,456 เหรียญสหรัฐ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ในระดับที่สูงเฉลี่ยถึง 6% การลงทุนในภูมิภาคนี้จึงมีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว
“CLMVT เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจของนโยบาย OBOR เนื่องจากเป็นศูนย์กลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่าพื้นที่อื่นๆ มีเสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับการที่เศรษฐกิจโดยรวมทั้งภูมิภาคยังเติบโตได้ดี จึงมีโอกาสสูงที่จีนจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะในกลุ่มภาคการผลิต อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกและเคมี และกลุ่มเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ต่างๆ “
คนไทยเตรียมตัวรวยกันถ้วนหน้า
สำหรับประเทศไทย คุณวิกรมมองว่าเป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับอานิสสงส์สูงมากเช่นกัน เพราะได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาค เป็นทางผ่านสำคัญทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนถูกที่สุดของจีน จึงเป็นโอกาสให้ภาคขนส่งในประเทศเติบโต รวมทั้งการให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งอาหาร พลังงาน ค่าซ่อมบำรุง ธุรกิจอะไหล่ ค่าที่พัก รวมทั้งความได้เปรียบเชิงประวัติศาสตร์ที่คนจีนส่วนใหญ่เลือกมาตั้งรกรากในไทย จึงรู้สึกดีกับคนไทยแลประเทศไทย ทำให้มีจุดแข็งและจุดเด่นที่จะขายให้คนจีนได้มาก รวมทั้งโอกาสในการต่อยอดจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ส่วนใหญ่เลือกเข้ามาประเทศไทย และบางส่วนมองหาแนวทางในการเข้ามาซื้อขายสินค้า ทำธุรกิจ หรือการลงทุนในอนาคต
“ขนาดธุรกิจจีนที่ใหญ่กว่าไทย 25-26 เท่า ทุนสำรองของจีน หรือแม้แต่จำนวนประชากรที่มากกว่าไทย 20 เท่า นี่คือโอกาส เพราะตอนนี้จีนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และมีการเดินทางออกนอกประเทศสูงถึง 130 ล้านคน มีการใช้จ่ายสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโอกาสจากการเดินทางมาไทยนอกจากเรื่องของการท่องเที่ยวอาจจะต่อยอดจากการใช้จ่ายมาเป็นการลงทุนในอนาคต แต่เราต้องทำให้ตัวเองมีความพร้อม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบาย EEC ของประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้มากหากทำได้เสร็จสมบูรณ์ ขณะที่ประเทศต้องมีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับเมื่อได้อานิสงส์ในการเข้ามาลงทุนของจีนเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่ GDP ของไทย จะขยับไปแตะระดับถึง 5% ได้อย่างแน่นอน”
คุณวิกรม แนะนำต่อว่า ภาคธุรกิจไทยเองก็ต้องพยายามสร้างโอกาสให้ตัวเอง เพราะเชื่อมั่นว่าอย่างไรจีนก็จะเข้ามาในประเทศไทยแน่นอน และถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในขณะนี้ ทำให้มีความพร้อมสำหรับการใช้จ่ายหรือเข้ามาลงทุน รวมทั้งดึงดูดเม็ดเงินต่างๆ เข้ามาในประเทศ เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย แต่ภาคธุรกิจเองต้องมีความพร้อมและพยายามหาโอกาสแต่งงานกับจีนให้ได้ ขณะที่บทบาทของสภาธุรกิจไทย-จีน ก็เตรียมเวทีเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยในการจับคู่กับธุรกิจจีนใน 2 เรือง คือ เวทีการค้า ที่จะช่วยศึกษาความต้องการของตลาดจีน เป็นแนวทางให้กับภาคธุรกิจ และ เวทีการลงทุน เพื่อส่งเสริมการทำ Business Matching ในการช่วยหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่เหมาะสม พร้อมแนะนำแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจไทยมีโอกาสได้จับคู่แต่งงานกับกลุ่มทุนจีน ดังต่อไปนี้
1. พิจารณาว่าประเทศจีนมีการทำธุรกิจส่งออกอะไรบ้าง แล้วมีธุรกิจไหนบ้างที่ประสบความสำเร็จ เพื่อพยายามเข้าไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น โอกาสที่จะได้เป็นเจ้าสาวของกลุ่มทุนจีนก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก
2. พยายามศึกษาข้อมูลว่าคนจีนชอบสินค้าอะไรจากประเทศไทยบ้าง แล้วพยายามเข้าไปสนับสนุนทั้งเรื่องของวัตถุดิบ หรือแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านั้น หรือทำธุรกิจในกลุ่มที่อยู่ในการส่งเสริมของ BOI
3. พยายามศึกษาตลาดและค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดจากวัตถุดิบที่เรามีอยู่ ว่าสามารถนำไปพัฒนาสินค้าอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อสามารถขยายไปทำตลาดในประเทศจีนได้
4. การพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ โดยเฉพาะในทำเลที่ดี เช่น อยู่ใกล้ถนน เดินทางสะดวก ไม่ไกล มีระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน น้ำไม่ท่วม เพิ่มโอกาสร่วมทุนกับธุรกิจจีนที่ต้องการขยายการลงทุนในไทย โดยรับหน้าที่เป็นฝ่ายดูแลเรื่องการดำเนินงานด้านข้อกฎหมายต่างๆ เรื่องระบบสาธารณูปโภค และการจัดการต่างๆ ภายในประเทศ ขณะที่การมาของจีนก็มีข้อควรระวังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าราคาถูก ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเดียวกับสินค้าที่ไทยทำตลาดอยู่ก็อาจได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ในทางกลับกันหากเป็นกลุ่มที่ภาคธุรกิจไทยไม่มีและสามารถซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สินได้ เช่น เครื่องจักรต่างๆ ก็ถือว่าป็นประโยชน์ที่สามารถซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ในราคาถูก
ยังมีปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องของอุบัติเหตุ เพราะความเคยชินในการขับขี่จากระบบการใช้พวงมาลัยที่แตกต่างกัน รวมทั้งป้ายจราจรต่างๆ ที่ควรต้องเพิ่มภาษาจีนมากขึ้น เพราะคนจีนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษ รวมทั้งความตระหนักและระมัดระวังเรื่องของปัญหาการเกิดมลพิษต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากระบบการผลิต ทั้งมลพิษทางอากาศ หรือปัญหาน้ำเสีย เป็นต้น