ในยุค Social Media อาหารการกินได้กลายเป็นเรื่องของความบันเทิง และโซเชียล จะสังเกตได้จากตัวเราเอง และคนรอบข้าง ที่เวลาจะไปกินอะไร ที่ไหน มักจะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก่อนเสมอ และเวลาไปที่ร้าน เมื่ออาหารมา ก็ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาแชะ และแชร์รูป-ข้อความขึ้น Social Network ของเราเอง
ด้วยเหตุนี้เอง Social Media จึงกลายเป็นช่องทางสำคัญของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ทั้งรายใหญ่ หรือขนาดกลาง – ขนาดเล็ก เพราะไม่เพียงแต่ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารเท่านั้น ยังทำให้แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มได้เข้าใจ Consumer Insight ของชาวโซเชียลฯ เพื่อนำฐานข้อมูลไปพัฒนา-ปรับปรุงสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้โดนใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
THOTH ZOCIAL ได้ทำวิจัย “Retail Foods” บนสื่อสังคมออนไลน์ 5 แพลตฟอร์มสำคัญ คือ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube และเว็บบอร์ด Pantip.com โดยพบว่าปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ Retail Food ให้ความสำคัญกับการใช้ Social Media อย่างมาก โดยแพลตฟอร์มยอดนิยม ยังคงเป็น Facebook ตามมาด้วย Instagram และ YouTube นอกจากนี้ Pantip เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีคนเข้ามาตั้งกระทู้เกี่ยวกับอาหารมากเช่นกัน ขณะที่ Twitter ยังไม่เป็นที่นิยมสำหรับแบรนด์ร้านอาหารในธุรกิจนี้มากนัก
คนไทยสรรหาของกินอร่อย แต่กังวลเรื่องอ้วน!
เมื่อเจาะลึก Retail Food Consumer Insight ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พบว่า “ผู้หญิง” ให้ความสนใจเรื่องกินมากกว่า “ผู้ชาย” ในสัดส่วน 55 : 45 นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่าคนที่ชื่นชอบการกิน ยังชอบท่องเที่ยว และช้อปปิ้งด้วยเช่นกัน
ขณะที่ Search Trends ย้อนหลัง 5 ปี พบว่าคนสนใจหาข้อมูลร้านอาหาร มากกว่าทำอาหาร และสูตรอาหาร ส่วน Key Word ที่คนใช้ในการค้นหาร้านอาหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กับปัจจุบันเปลี่ยนอย่างชัดเจน โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คนใช้ Key Word เป็นประเภทอาหาร และกว้างๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงโลเกชั่น เช่น ร้านอาหารอร่อย, ร้านอาหารญี่ปุ่น, ร้านอาหารไทย, ร้านอาหารทะเล, ร้านอาหารเชียงใหม่
แต่ปัจจุบันคนค้นหาร้านอาหาร โดยระบุโลเกชั่นชัดเจน เช่น Emquartier ร้านอาหาร, ร้านอาหารใกล้ฉัน, Wongnai เป็นเว็บ Influencer ที่ได้รับความนิยมมากในช่วง 2 – 3 ปีมานี้, ร้านอาหารเมกา บางนา, ร้านอาหารเอเชียทีค
นอกจากนี้ได้เก็บข้อมูล Search Trends ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคมเพื่อดูว่าคนอยากกินอะไรมากที่สุด สำหรับฝั่งอาหาร อันดับ 1 ที่มาแรงคือ ชาบู รองลงมาเป็นพิซซ่า, ปิ้งย่าง, ซูชิ, แซลมอล
ขณะที่ขนมหวานและเครื่องดื่ม อันดับ 1 คือ เค้ก ตามมาด้วยไอติม, บิงซู, กาแฟ, แพนเค้ก โดยในขนมหวานเหล่านี้พบว่า “บิงซู” เป็นเสิร์ชที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม “อาหารคลีน” กลับกลายเป็นเสิร์ชที่ไม่ได้รับความนิยมสำหรับชาวโซเชียลฯ แล้ว แสดงให้เห็นว่าหมดช่วงกระแสฮอตฮิตแล้ว และกำลังเข้าสู่สเต็ปคงที่ ไม่ได้หวือหวาเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าตลาดคลีนฟู้ดจะไม่โต หรือหดหายไป เพียงแต่ผู้บริโภคในตลาดอาหารคลีน จะเป็นกลุ่มคนที่บริโภคเป็นประจำ ไม่ได้บริโภคตามกระแสมาแล้วก็ไปอย่างในช่วงบูมแรกๆ
ส่วนปัจจัยในการพิจารณาเลือกอาหาร/ร้านอาหาร แน่นอนว่า “อร่อย” นำมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย “หอม” แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงปัจจัยอันดับที่ 3 คือ “อ้วน” สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงจะชื่นชอบการกินชาบู เค้ก ไอติม บิงซู พิซซ่า (ตามข้อมูล Search Trends ข้างต้น) แต่ในใจลึกๆ ยังรู้สึกกังวลเรื่องอ้วน ขณะที่อันดับ 4 คือ เรื่องราคา ตามมาด้วย ยี่ห้อ, คุ้มค่า, สะอาด, ประทับใจ, ปลอดภัย
ข้อมูล Search Trends ดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจาก Food Review บนแพลตฟอร์ม Facebook ทั้งเพจรีวิว และผู้บริโภครีวิว
สำหรับ Page Review ได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล 7 เพจ เช่น Wongnai, น้าอ้วนชวนหิว, พบว่าอาหารสุดฮิตที่นิยมรีวิวคือ ไอศกรีม, ของหวาน, ก๋วยเตี๋ยว, เค้ก, ซีฟู้ด, บะหมี่, สุขภาพ, อาหารไทย, อาหารญี่ปุ่น
ขณะที่ Consumer Review พบว่ารีวิวยอดนิยมจากฝั่งผู้บริโภค คือ ชาบู ตามมาด้วยก๋วยเตี๋ยว, ของหวาน, ลดความอ้วน ข้อมูลนี้ตอกย้ำให้เห็นว่าคนเราชื่นชอบการกิน แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกกังวลต่อเรื่องอ้วน เพราะฉะนั้นเพื่อขจัดความรู้สึกกังวลนี้ ผู้บริโภคจะค้นหาข้อมูลวิธีลดความอ้วนด้วยเช่นกัน
และถ้าหาข้อมูลจากแฮชแท็กมาแรง #อร่อยไปแดก พบว่าอาหารที่ชาวโซเชียลฯ นิยมรีวิวพร้อมแฮชแท็กนี้ อันดับแรก ไอติม รองลงมาคือ เค้ก, ก๋วยเตี๋ยว, บิงซู, ของหวาน, ชาบู, บะหมี่, สเต๊ก และอาหารไทย
นอกจากนี้ใน Twitter พบแฮชแท็ก #รีวิวเซเว่น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเซเว่น อีเลฟเว่นกลายเป็น Retail Food ไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันเซเว่น อีเลฟเว่นในไทยมีเครือข่าย 10,000 สาขา ถือเป็นผู้ให้บริหาร Retail Food รายใหญ่
ส่วน Pantip.com อีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เห็นเทรนด์ Retail Food ได้เป็นอย่างดี โดยมี Tags ที่เกี่ยวกับ “ร้านอาหาร” อันดับหนึ่งคือ Tag ร้านอาหารไทย ตามมาด้วยอาหารบุฟเฟต์, อาหารญี่ปุ่น, อาหารซีฟู้ด, อาหารฝรั่ง, อาหารปิ้งย่าง, อาหารจีน, อาหารเด็ก, อาหารคลีน, อาหารเกาหลี
ความน่าสนใจยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะยังมี Tag ที่เกี่ยวโยงกับร้านอาหาร คือ ลดความอ้วน มีมากถึง 3,802 Topics ซึ่งมากกว่ายอด Tag ร้านอาหารไทย
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เห็น Consumer Insight ได้ว่าในยุค Healthy Lifestyle มาแรง แต่ถึงอย่างไรผู้บริโภคยังคงชื่นชอบของอร่อยเสมอ แม้จะรู้ว่าอาหารเหล่านั้นมีปริมาณแคลอรี่สูงก็ตาม ซึ่งโดยลึกๆ ในใจก็รู้สึกเป็นกังวลเรื่องความอ้วนเช่นกัน เพราะฉะนั้นแบรนด์ธุรกิจอาหาร นำ Insight นี้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านความอร่อย และด้านสุขภาพไปพร้อมกัน