HomeStartupSCB ผนึก ธนาคารทั่วไทย สร้างมาตรฐานใหม่ “จ่ายเงินผ่าน QR Code” ดันไทย “ไร้เงินสด”

SCB ผนึก ธนาคารทั่วไทย สร้างมาตรฐานใหม่ “จ่ายเงินผ่าน QR Code” ดันไทย “ไร้เงินสด”

แชร์ :

ถือเป็นอีกหนึ่ง Big Move  ในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ Cashless Society โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบาย National e-Payment  ซึ่งเป็นการสร้างความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นกับ Ecosystem เพื่อช่วยยกระดับรวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้นกับระบบการรับชำระเงินของประเทศไทย เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกับสากล รวมทั้งมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงทุกๆ การชำระเงินได้โดยไม่มีข้อจำกัด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยแต่ละก้าวจากนี้ จะไปได้ยาว และเร็วมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อหน่วยงานสำคัญอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เป็นคนกลางเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ 5 เครือข่ายบัตรหลักของโลก ที่มีให้บริการอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ทั้งกลุ่ม Regulator  ธนาคารพาณิชย์ทุกราย รวมทั้งกลุ่ม Non Bank ผู้ให้บริการ e-Wallet ทั่วประเทศ เพื่อแสดงความร่วมมือและร่วมกันผลักดันการใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินร่วมกัน (Standard QR Code)

การสร้าง Standard QR Code จะเพิ่มความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ต่อระบบการรับชำระเงินของประเทศใน 4 เรื่องใหญ่ๆ  ต่อไปนี้

1. มีมาตรฐานกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายทั้งผู้รับ ผู้จ่าย ใช้งานร่วมกันได้ รวมทั้งมาตรฐานที่เป็นสากล ทำให้ชำระได้ทั้งรายการในประเทศและต่างประเทศ และยังลดความซ้ำซ้อนในการออก QR Code ของแต่ละธนาคารลงด้วย

2. เพิ่มช่องทางที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำทั้งกับประชาชนและร้านค้า เพราะไม่ต้องติดตั้งเครื่องรูดบัตร รวมทั้งสามารถใช้ได้ทั้งการใช้จ่ายผ่าน Physical Store หรือ E-Commerce และยังสะดวกต่อการจัดทำรายละเอียดบัญชีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

3. สะดวกและปลอดภัยมากกว่าเดิม เพราะไม่ต้องยื่นบัตรให้แก่ร้านค้า ลดความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลบนบัตร หรือการกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันการชำระเงิน

4. เป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดบริการทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต เช่น การขอสินเชื่อของกลุ่ม SME ก็สามารถนำรายการ Payment จากระบบไปเป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อได้ เป็นต้น

ความร่วมมือของทุกภาคส่วนและการผลักดันอย่างเข้มข้นจากทางแบงก์ชาติ  ทำให้คาดว่า ระบบ QR Payment จะเริ่มใช้อย่างแพร่หลายและเริ่มกระจายการใช้งานไปสู่ผู้คนทั่วไปได้ ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้  รวมทั้งมองเห็นการขานรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพราะทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมที่จะเกิดขึ้นจากการกระโดดไปสู่มาตรฐานใหม่ใน Payment Field ครั้งนี้ ทั้งความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน และช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศได้อีกด้วย ประกอบกับความพร้อมในฟากของผู้ใช้บริการที่เริ่มคุ้นเคยกับ Mobile Banking  เห็นได้จากการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากกว่าเท่าตัวในปีที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการ Transformation เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและเป็น Turning Point สำคัญของระบบ Payment  ในประเทศไทย ทางแบงก์ชาติจึงได้นำหลักการ Regulatory Sandbox เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งสถาบันการเงิน รวมทั้งกลุ่ม Non Bank และ FinTech ต่างๆ นำเสนอโครงการเข้ามาในระบบทดสอบ เพื่อศึกษาข้อจำกัด และขอบเขตการใช้งาน เพื่อต่อยอดการใช้งานไปสู่วงกว้างในอนาคตต่อไป ซึ่งมีหลายโครงการจากหลายสถาบันต้องการเข้าร่วมใน Sandbox สะท้อนถึงความตื่นตัวและให้ความร่วมมือต่อการขับเคลื่อนร่วมกันครั้งนี้

SCB ปูพรมทั้ง Life Style และ Daily Use   

ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นหนึ่งในธนาคารแรกๆ ที่ประกาศความพร้อมเข้าร่วมทดลองระบบ QR Payment  พร้อมๆ กับ Sandbox  โดยพยายามมองหา Use Case ที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ทั้งความสะดวกในการใช้จ่ายได้มากขึ้น รวมทั้งลด Pain Point ต่างๆ ที่เป็นปัญหาจากการใช้จ่ายผ่านเงินสดของผู้บริโภค

            คุณอารักษ์  สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส  Chief Strategy Officer  และ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ  Chief Marketing Officer  ธนาคารไทยพาณิชย์  กล่าวถึงความพร้อมในการเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็น New Normal ในระบบการชำระเงินครั้งนี้ว่า  โอกาสในการผลักดันการใช้จ่ายผ่าน QR Code ในประเทศไทย ให้ไปสู่ความเป็น Mass มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขคนใช้สมาร์ทโฟน รวมทั้งจำนวนการใช้งาน Mobile Banking ที่ล้วนเติบโตได้สูงอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่ทำให้ SCB ค่อนข้างมั่นใจ เมื่อมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่มีการใช้ QR อย่างแพร่หลายในกลุ่มประชาชน แม้แต่ผู้สูงอายุ หรือร้านค้าทั่วไป ซึ่งพฤติกรรมและโครงสร้างประชากรต่างๆ ไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายยังต้องมาตกลงเพื่อให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จะเป็นเรื่องของรายละเอียดต่างๆ เช่น วิธีการเก็บค่าธรรมเนียม การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Business Rule ต่างๆ  รวมทั้งแนวทางในการเชื่อมต่อระบบหลังบ้านของแต่ละแห่งเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเบื้องต้นได้เห็นการดำเนินการไปแล้วในส่วนของพร้อมเพย์ และจะขยับมาสู่การจ่ายผ่านบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ด้วย QR ต่อไปในอนาคต”

ขณะที่การรุกคืบของ SCB ค่อนข้างทำอย่างจริงจัง มีการส่งโปรเจ็กต์ให้ Sandbox ทั้งในกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ตลาดนัดเจเจ รวมทั้งการขยายเพิ่มเติมไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ตลาดรถไฟ รวมทั้งการใช้จ่ายที่เป็น Daily Use ต่างๆ เช่น ซื้อลอตเตอรี่  ซื้อพวงมาลัย หรือแม้แต่การซื้อของผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่ในอนาคตก็สามารถใช้ QR Code ได้เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสะดวกขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสช่วยผลักดันการเติบโตในหลายธุรกิจ ที่สามารถเพิ่มช่องทางจำหน่ายมาสู่การใช้ตู้อัตโนมัติได้มากขึ้น  เพราะในหลายประเทศ Vending Machine ได้รับความนิยมในวงกว้าง แต่ประเทศไทยยังมีการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัด จากหลายๆ ปัจจัยที่ยังไม่เอื้อให้ผู้บริโภคมีความสะดวกเท่าที่ควร โดยขณะนี้ SCB อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับ Sun 108 ผู้ผลิตเครื่องหยอดเหรียญรายใหญ่ของประเทศ  ถ้าผ่าน Sandbox ได้แล้ว ก็จะสามารถวางตู้กระจายไปทั่วประเทศได้ต่อไป

“หากมองเป็น 2 ฟาก แบบ “ไก่” กับ “ไข่” เราไม่ต้องมาเถียงกันว่าใครเกิดก่อน เราเดินหน้าปูพรมฟักไข่ให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ก่อน เมื่อไหร่ที่ไก่พร้อมแล้ว โตแล้ว ก็จะยิ่งขยายการใช้งานในสเกลที่ Mass ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในสนามทดลองอย่างตลาดนัดเจเจ ที่ต้องถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ SCB เพราะมีระบบนิเวศน์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์  มีร้านค้าหลากหลายประเภท หลายรูปแบบ รวมถึงกลุ่มผู้ค้าบนทางเท้า และกลุ่มผู้ซื้อที่มีหลากหลายกำลังซื้อ ทำให้มีรูปแบบและแนวทางในการศึกษาค่อนข้างกว้าง เพื่อนำมาต่อยอดในอนาคต ซึ่งขณะนี้ในตลาดนัดเจเจมีจุดที่สามารถรับชำระ QR Code ของ SCB ได้มากกว่า 1 พันร้านค้าแล้ว ขณะที่มีวินมอเตอร์ไซค์สามารถรับชำระได้แล้วรวม 50 วิน ตามพื้นที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ โดยหลังการเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบช่วงปลายปี SCB ตั้งเป้าจะมีร้านค้าหรือจุดรับชำระได้อย่างน้อย 1 แสนจุด หรือมีส่วนแบ่งประมาณ 20-25% ของความสามารถในชำระผ่าน QR Code ได้ทั้งหมด”

สิ่งที่ SCB คิดและเดินกลยุทธ์ในขณะนี้  สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวทางที่ Beyond Payment ไม่ได้โฟกัสอยู่แค่เรื่องของการจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว เพราะมองว่าการจ่ายเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งและอยู่ในจุดสุดท้ายของไลฟ์สไตล์ ทำให้เดินหน้าพัฒนา SCB EASY ให้เป็นมากกว่าแค่ Mobile Banking แต่พัฒนาให้เป็น Digital Lifestyle Platform  ที่ครอบคลุมทั้ง Dining Traveling และ Entertain

“สิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องการคือ การใช้ชีวิตตามแบบที่ตัวเองต้องการ SCB จึงพยายามเดินกลยุทธ์ผ่านภาพใหญ่ มองสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เช่น ลูกค้าต้องการไปทานอาหารไม่ใช่ต้องการจ่ายค่าอาหาร ลูกค้าต้องการเดินทาง ลูกค้าต้องการ Entertain ขณะที่เรื่องของเพย์เม้นต์เป็นสิ่งที่จะตามมาทีหลัง และ SCB ก็มีหน้าที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากที่สุด และด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงและใกล้ชิดลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น แม้ในขณะที่ลูกค้ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายอะไรก็ตาม”


แชร์ :

You may also like