Homeตามรอยเท้าพ่อตามรอยในหลวง ร.9 เสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นครั้งแรก จุดเริ่มต้นยุคทองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

ตามรอยในหลวง ร.9 เสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นครั้งแรก จุดเริ่มต้นยุคทองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

แชร์ :

การแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับประเทศญี่ปุ่น มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เริ่มต้นทำการค้าขายระหว่างกัน และมีรากฐานสำคัญมาจากพระราชไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่น โดยในปี 2430 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้ว ประเทศไทย และญี่ปุ่น ได้มีการลงนามใน “หนังสือปฏิญญาณว่าด้วยพระราชไมตรีแลการค้าในรหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น” ถือเป็นการเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนทางการทูตอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในปี 2560 เป็นปีครบรอบ 130 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย กับประเทศญี่ปุ่น และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ตลอดทั้งปีนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ “นิทรรศการวิเทศไมตรี 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น” จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Japan Foundation ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน

Brand Buffet ได้มีโอกาสได้เดินชมงานนิทรรศการดังกล่าว จึงอยากนำเรื่องราวบางส่วนของนิทรรศการครั้งนี้ มาแชร์ให้กับผู้อ่านได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทย กับประเทศญี่ปุ่น

ยุคทองแห่งความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

ยุคทองแห่งความสัมพันธ์ไทย และญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ ทรงให้การต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2506

จากภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่บันทึกภาพการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนั้น ทำให้ชาวไทยได้เห็นถึงไมตรีจิตอันงดงามยิ่งของพระราชวงศ์ทั้งสองประเทศ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ ทรงให้การต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อย่างอบอุ่น

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงนำเสด็จมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ และเจ้าหญิงมิชิโกะ เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีบางส่วนเป็นพื้นที่กันดาร พระองค์ทรงมีพระราชกระแสถึงปัญหาภาวะทุพโภชนาการของประชาชนแก่มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้การต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2534

พระจริยวัตรอันงดงามของเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ในระหว่างเสด็จเยือนประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2507

ในปีถัดมา มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ ทรงนำลูกปลาสายพันธุ์แอฟริกา ต้นกำเนิดจากแม่น้ำไนล์ จำนวน 50 ตัว ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เหมาะแก่สภาพแวดล้อมของไทย และมีโปรตีนสูง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงนำมาทดลองเลี้ยงในวังสวนจิตรลดา เพื่อทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนได้ผลดี แล้วทรงให้ขยายพันธุ์ และพระราชทานให้กรมประมงนำไปเลี้ยงตามสถานีทดลอง พร้อมกับพระราชทานชื่อปลาว่า “ปลานิล” อันมาจากลักษณะของปลาที่มีสีดำ และทรงแจกจ่ายให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนเนื้อสัตว์ราคาย่อมเยา

“ปลานิล” จึงเปรียบเสมือนหลักฐานทางพระราชไมตรี และความปรารถนาดีระหว่างไทย และญี่ปุ่นที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังกลายเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่คนไทยคุ้นเคย

ต่อมาเมื่อมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี 2534 และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พระองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีนับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในปี พ.ศ. 2549 อันเป็นโอกาสที่ทำให้ชาวไทยได้ชื่นชมในพระจริยวัตรอันงดงามยิ่งของพระประมุขแห่งญี่ปุ่น

งานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อปี พ.ศ. 2534

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานพระราชไมตรี และความสัมพันธ์ของสองประเทศ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสืบสานพระราชไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ไทย กับพระราชวงศ์ญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้คงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2530 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น หลังจากจบพิธีฉลอง 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

ในปีพ.ศ. 2532 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น

ถวายความอาลัยในหลวง รัชกาลที่ 9

หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชสาสน์แสดงความเสียพระราชหฤทัย พร้อมทั้งทรงไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน และเมื่อวันที่ 5 – 6 มีนาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ขณะที่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าชายอากิชิโน พร้อมด้วยเจ้าหญิงคิโกะ พระชายา จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ และจะเสด็จกลับญี่ปุ่นวันที่ 27 ตุลาคม

การเสด็จฯ เยือนระหว่างราชวงศ์ไทย และราชวงศ์ญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีมายาวนานของสองราชวงศ์

ความสัมพันธ์สู่การค้าการลงทุน – ประชาชน

ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์เท่านั้น ประเทศไทย กับญี่ปุ่นได้พัฒนาความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ เช่นกัน ทั้งในระดับรัฐบาล ด้านการค้าการลงทุน ที่มีทั้งบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย และบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่น ด้านเทคโนโลยี ด้านการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน และระหว่างประชาชนชาวญี่ปุ่น กับชาวไทย

ญี่ปุ่น เป็นคู่ค้า และเป็นนักลงทุนต่างชาติสำคัญของไทยมายาวนาน โดยในปี 2559 การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในไทย มีมูลค่า 71,527 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยธุรกิจที่ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ การผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และการผลิตเหล็กรูปพรรณ

ขณะเดียวกันมีภาคเอกชนไทย เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นเช่นกัน โดยในปี 2559 มูลค่าการลงทุนของเอกชนไทยในญี่ปุ่น อยู่ที่ 7.52 แสนล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 225,600 ล้านบาท นับเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 11 ของโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ พลังงานทางเลือก อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต และการบริหาร

ทางด้านภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และในเวลาเดียวกันมีคนไทย เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2559 คนญี่ปุ่นเดินทางมาไทย ไม่ต่ำกว่า 1,439,629 คน ขณะที่คนไทยเดินทางไปญี่ปุ่น 901,525 คน

ขณะที่ยอดคนญี่ปุ่น อยู่อาศัยในประเทศไทย (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2559) 70,337 คน ส่วนยอดคนไทย อยู่อาศัยในญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2559) 47,647 คน

นอกจากนี้ปัจจุบันมีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดในไทยเกิดขึ้นมากมาย โดยสถิติเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ 2,713 ร้านค้า ใกล้เคียงกับร้านอาหารไทยเปิดในญี่ปุ่น 1,349 ร้านค้า

ในส่วนภาคการศึกษา ที่ผ่านมามีนักเรียน-นักศึกษาไทย บินไปศึกษาที่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเมื่อปีที่แล้ว มียอดอยู่ที่ 3,842 คน ขณะที่นักเรียน-นักศึกษาญี่ปุ่น เดินทางมาเรียนที่สถาบันการศึกษาในไทย ไม่ต่ำกว่า 286 คน

การเสด็จฯ เยือนระหว่างกันของสองราชวงศ์ และตัวเลขการค้าการลงทุน รวมไปถึงสถิติที่น่าสนใจด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร การศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างประเทศไทย กับประเทศญี่ปุ่น ที่หยั่งรากลึกในทุกภาคส่วน ทั้งระดับราชวงศ์ ระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน

 

ขอขอบคุณข้อมูล และภาพ : งานนิทรรศการ “วิเทศไมตรี 130 ปี ไทย – ญี่ปุ่น” จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Japan Foundation

Credit Photo (ภาพพื้นหลัง) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like