HomeBrand Move !!15 ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจาก ‘Golden Place’ ตู้เย็นชุมชนที่ “พ่อ” สร้างเพื่อคนไทยอยู่ดี กินดี

15 ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจาก ‘Golden Place’ ตู้เย็นชุมชนที่ “พ่อ” สร้างเพื่อคนไทยอยู่ดี กินดี

แชร์ :

เมื่อเข้าไปใน “โกลเด้น เพลซ” (Golden Place) ไม่ว่ามองไปทางไหนก็จะเห็นของกินของใช้ที่คัดสรรมาแล้วเพื่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากโครงการตามพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษตามมาตรฐานสากล สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าในท้องถิ่นที่มีคุณภาพ สินค้าในโครงการอื่นๆ ที่สนับสนุนเกษตรกรกลุ่มแม่บ้านต่างๆ ทำให้ภายใน “โกลเด้น เพลซ” มีสินค้าหลากหลาย ได้คุณภาพมาตรฐาน และจำหน่ายในราคายุติธรรม จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากย้อนกลับไปถึงที่มาของร้าน “โกลเด้น เพลซ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2544 เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นต้นแบบร้านค้าปลีกเพื่อคนไทย และเปรียบได้กับเป็น “ตู้เย็น” ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้คนไทยมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต มีความหลากหลาย และราคาสมเหตุสมผล

ขณะเดียวกันโมเดล “โกลเด้น เพลซ” เป็นการทำธุรกิจค้าปลีกแบบยั่งยืนเกี่ยวกับสินค้าการเกษตร ด้วยการส่งเสริมด้านการผลิตให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพเกษตรกร ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรในรูปแบบเกษตรอุตสาหกรรม และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารเคมีตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และเป็นช่องทางให้สินค้าทางการเกษตรทั้งสด-แปรรูปได้มีโอกาสพบผู้บริโภคที่แท้จริง

ปัจจุบันสินค้าใน “โกลเด้น เพลซ” ประกอบด้วย 9 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผัก, ผลไม้, เนื้อสัตว์, อาหารทะเล, ผลิตภัณฑ์ชา, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม, เครื่องดื่มประเภทต่างๆ, ผลิตภัณฑ์อาหาร และ กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ฯลฯ

คราวนี้เรามาดูผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และสินค้าเกษตรที่ได้การตอบรับจากลูกค้ากันว่ามีอะไรบ้าง ?!? ว่าแล้วก็หยิบตะกร้ามาช้อปปิ้งด้วยกันเลย…

ผลิตภัณฑ์จากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

เป็นโครงการตัวอย่าง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร โดยสืบเนื่องมาจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ทรงประจักษ์ชัดถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง “โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา” ขึ้น โดยทรงใช้พื้นที่บางส่วนของสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ถูกต้องตรงจุดด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นโครงการตัวอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 1. โครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่สนองแนว พระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร และ 2. โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรที่มีการบริหารการเงินครบวงจร โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่ไม่หวังผลกำไร และนำรายได้จากการจำหน่ายมาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาต่อไป โดยแบ่งการผลิตเป็นโรงผลิตต่างๆ อาทิ โรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงนมผงสวนดุสิต, โรงสีข้าวตัวอย่างจิตรลดา, งานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง, งานผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋อง ซึ่งผลิตภัณฑ์จาก โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่ได้รับความนิยมมีมากมาย เช่น

1. นมอัดเม็ดจิตรลดา ผลิตโดยโรงนมอัดเม็ด เป็นส่วนหนึ่งของโรงนมผงสวนดุสิตที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2512 เป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งทุกวันนี้ “นมอัดเม็ดจิตรลดา” เป็นที่ชื่นชอบทั้งคนไทย และคนต่างประเทศ

2. ผลิตภัณฑ์นมโครสชาติต่างๆ ผลิตโดยโรงโคนมสวนจิตรลดา ก่อตั้งเมื่อปี 2505 ได้มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายโคเพศเมีย 5 ตัว เพศผู้ 1 ตัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการ ส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จัดการเลี้ยงโคนมร่วม กับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งโคนมส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมโฮลสโตน์-ฟรีส์เซี่ยน มีการจำหน่ายนมสดที่รีดให้แก่สมาชิกของโรงโคนม สวนจิตรลดา และพระราชทานลูกโคเพศผู้เป็นโคพันธุ์แก่เกษตรกรที่ทำหนังสือขอพระราชทาน

3. โยเกิร์ตรสชาติต่างๆ เป็นการต่อยอดมาจากผลิตภัณฑ์นมวัว

4. ไอศกรีมนม รสชาติหอม หวาน ชื่นใจ

5. น้ำผึ้งสวนจิตรลดา โดยส่วนงานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 เป็นโครงการผลิตน้ำผึ้งบรรจุหลอดพลาสติก และบรรจุขวดขนาดต่าง ๆ โดยได้รับซื้อน้ำผึ้งจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิโครงการหลวง และดอยคำ

เมื่อพืชผักและผลไม้ของเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวง ที่ได้รับการแนะนำให้ทดลองปลูกเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น เริ่มให้ผลผลิต และมีส่วนหนึ่งเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ทาง “โครงการหลวง” จึงได้นำผลผลิตดังกล่าวออกจำหน่ายในจังหวัดเชียงใหม่ และส่งรายได้กลับคืนให้แก่ครัวเรือนชาวเขา

ต่อมาผัก-ผลไม้เขตหนาวจากโครงการหลวงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จึงได้นำผัก-ผลไม้เขตหนาวเหล่านั้นไปจำหน่ายในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันชนิดสินค้าต่างๆของโครงการหลวงก็มีมากขึ้น ปริมาณผลผลิตก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงการหลวงนำเทคโนโลยีการจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวมาใช้อย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่บนดอยจนถึงการวางจำหน่าย

ขณะที่การถือกำเนิดขึ้นของตราสินค้า “ดอยคำ” ในปี 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” เพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบ “ธุรกิจเพื่อสังคม” (Social Business) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสุขให้สังคม ด้วยการพัฒนาอย่างสมดุล และความยั่งยืน

ปัจจุบันโครงการหลวงจึงมีสินค้า “ตราโครงการหลวงและตราดอยคำ” ทั้งที่เป็นผลผลิตสดจากดอย สินค้าแปรรูป สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอื่นๆ มากกว่า 1,700 รายการ วางจำหน่ายในจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทย เช่น

6. ผัก และผลไม้สดจากไร่เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง นอกจากนี้ภายในร้าน “โกลเด้น เพลซ” ยังจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรที่ได้คุณภาพและมาตรฐานจากเกษตรกรพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

7. ผลิตภัณฑ์ชา ของมูลนิธิโครงการหลวง

8. ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ของมูลนิธิโครงการหลวง

9. น้ำผลไม้ดอยคำ

10. ผลไม้อบแห้งดอยคำ

11. ผลิตภัณฑ์ทาขนมปังดอยคำ

ผลิตภัณฑ์จากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ

12. ผลิตภัณฑ์นมโค สเตอริไลส์ จากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” มีจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล แล้วมีชาวบ้านนำมันเทศมาถวาย เมื่อต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เลยรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงาน ต่อมาเมื่อพระองค์ฯ เสด็จกลับมาหัวหิน ทรงพบว่ามันเทศนั้นได้แตกใบ เลยตรัสว่า “มัน อยู่ที่ไหนก็ขึ้น” จึงมีพระราชดำริให้จัดหาที่ดิน เพื่อทำโครงการด้านการเกษตร และทรงพระราชทานพันธุ์มันเทศที่งอกออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานที่ ให้นำมาปลูกไว้ที่ที่ดินแปลงนี้ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” ซึ่งพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งของอำเภอท่ายาง ให้กลายเป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจนานาชนิด เพื่อเป็นแนวทางให้กับเกษตรกร

ปัจจุบันภายในพื้นที่ “โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” มีแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด และมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ พร้อมด้วยพื้นที่ทางการเกษตรที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาศึกษา เยี่ยมชม

ผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ จากมูลนิธิชัยพัฒนา

13. สบู่สมุนไพรภัทรพัฒน์ ผลิตโดยศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชน ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ

ที่มาของแบรนด์ “ภัทรพัฒน์” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ “ภัทรพัฒน์” (PatPat) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 เพื่อให้เป็นตราผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตผลจากการพัฒนา เนื่องจากสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตามพระราชดำริในพื้นที่ทั่วประเทศ จึงมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากและหลากหลาย ยากที่จะดำเนินการทำการตลาดของแต่ละพื้นที่เอง จึงเห็นควรน่าจะมีการทำตราสินค้า เพื่อสร้างแนวทางการดำเนินนโยบายทางการตลาดให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน

ผลิตภัณฑ์ดอยตุง

14. แมคคาเดเมีย นัท จากต้นแมคคาเดเมีย ที่ปลูกบนพื้นที่กว่า 3,600 ไร่บนพื้นที่สูงดอยตุง

15. กาแฟอาราบิก้า ที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ที่ความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

สำหรับ “โครงการพัฒนาดอยตุง” เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี

หลังจาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยตุงครั้งแรก เมื่อปี 2530 ทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหาว่าเกิดจากความยากจน ความไม่รู้ และการขาดโอกาสในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ต้องหยุดวงจรแห่งความทุกข์ยาก โดยพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์

กระทั่งในปี 2531 โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ก่อตั้งขึ้น บนพื้นที่ดำเนินงาน 93,615 ไร่ ในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 29 หมู่บ้านของชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ ประมาณ 11,000 คน

ภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ประกอบด้วยการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ, คาเฟ่ดอยตุง, ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือของดอยตุง และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร-ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปดอยตุงที่หลากหลาย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โกลเด้น เพลซ 

มูลนิธิมั่นพัฒนา (โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา) 

มูลนิธิโครงการหลวง 

ดอยคำ

ภัทรพัฒน์

ดอยตุง

http://www.paiduaykan.com โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ


แชร์ :

You may also like