บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สนับสนุนผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยทั้ง ถาดจักสานกระจูด ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และกระเป๋าผ้าเย็บมือ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เราจะทำให้งานคราฟต์มีชีวิต และร่วมสมัยกับไลฟ์สไตล์” สู่ลูกค้าชาวไทยผ่านร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขาทั่วประเทศ
“สตาร์บัคส์ มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนและให้โอกาสชาวไทยในภูมิภาค ในอาชีพงานฝีมือ เพื่อสร้างรายได้ และเปิดโอกาสให้หัตถศิลป์ของไทยเป็นที่รู้จัก ผ่านกลุ่มลูกค้าสตาร์บัคส์ที่หลากหลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยลูกค้าสามารถซื้อสินค้าเหล่านี้ ได้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทั้ง 303 สาขาในประเทศไทย อาทิ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จากชุมชน
หัตถกรรมผ้าฝ้ายหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกนำมาสร้างสรรค์ตัดเย็บเป็นชุดตุ๊กตาหมีสตาร์บัคส์ หรือ งานกระเป๋าผ้าเย็บมือ ซึ่ง SACICT ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ ต่อยอดการฝึกอาชีพงานเย็บผ้าของผู้ด้อยโอกาสจากทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้ใช้เวลาพัฒนาตัวเอง สามารถกลับมาดำรงชีวิต มีอาชีพและเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข” คุณเมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวว่า “ครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ในการเข้ามาร่วมส่งเสริมผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์จากสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศจากจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์จากชุมชนฯ สู่ช่องทางการจัดจำหน่ายระดับสากล ซึ่ง SACICT เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นแล้ว ยังช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์งานศิลปหัตถกรรมของไทยไปสู่สังคมปัจจุบันในวงกว้างอีกด้วย”
งานศิลปหัตกรรมเพื่อการผลิ
กระเป๋าผ้าเย็บมือ ในโครงการความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ระหว่าง SACICT กับ กรมราชทัณฑ์ พัฒนาทักษะงานฝีมือแก่ผู้ด้อยโอกาสจากทัณฑสถานหญิงกลางใน “โครงการกำลังใจ” ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงจัดตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจกับกลุ่มผู้ที่ก้าวพลาด ขาดโอกาส ใช้เวลาในการพัฒนาตัวเอง ให้กลับมาดำรงชีวิต มีอาชีพและเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข
ชุดตุ๊กตาผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ โดยฝีมือครูช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT จากกลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบธรรมชาติพื้นถิ่น อาทิ สีฟ้า ได้จากครามซึ่งเป็นพืชไม้พุ่มขนาดเล็ก สีเหลืองได้จากแก่นขนุนและแห้ม พืชเมืองร้อนแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดน้ำเสียจากการย้อมก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกผลิตภัณฑ์ของเราเป็นการเสริมสร้างพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ถาดจักสานกระจูด วัตถุพื้นบ้านผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝีมือทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT จากกลุ่มกระจูดวรรณี จ.พัทลุง
ผู้สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้าหัตกรรมที่มีคุณค่าเหล่านี้ได้ ณ ร้านสตาร์บัคส์ใกล้บ้านคุณ โดยกระเป๋าผ้าเย็บมือพร้อมวางขายตั้งแต่วันที่ 16ตุลาคม ศกนี้ ในขณะที่ถาดจักสานกระจูด และตุ๊กตาหมีผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจะวางขายเป็นลำดับถัดไปเร็วๆนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.starbucks.co.th
*ตัวอย่างการย้อมสีธรรมชาติ
1.ครามให้สีฟ้า เป็นพืชประเภทไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-6 ฟุต หรือสูงประมาณ 1-2 เมตร ชอบแสงแดด ทนทานต่ออากาศและดินเค็มได้ดี การทำสีจากคราม ใช้ต้นสดนำมาหมักในน้ำด่าง จนมีเนื้อเป็นโคลน โดยสารที่มีสีน้ำเงิน คือสาร Indigo-blue และถือกันว่าครามคือ “ราชาแห่งสีย้อม” (King of the dyes)
2.แก่นขนุนและแห้มให้สีเหลือง เป็นพืชเมืองร้อนพบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่แถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร ใบเรียบ ผิวมัน สีเขียวเข้ม การย้อมใช้เปลือกต้นแห้ง ต้มกับน้ำแล้ว กรองนำมาย้อมเส้นฝ้าย
3.ใบสบู่เลือดให้สีเขียว สบู่เลือดเป็นพรรณไม้เถาชอบพาดพันไปตามไม้ต้นคล้ายบอระเพ็ดเถากลม มียางสีแดงจึงเรียก สบู่เลือด ใช้ใบส่วนยอดเป็นวัตถุดิบให้สีสกัดสี โดยต้มใบสดกับน้ำย้อมด้วยวิธีย้อมร้อน
4.ผลตะโกนาให้สีดำ ไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 15 เมตร สกัดสีจากผลสดตากแห้งต้มกับน้ำ นำน้ำสีที่ได้มาย้อมเส้นฝ้าย แห อวน
5.ครั่งให้สีแดง ครั่งเป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีตัวสีแดง ขนาดเล็กมาก ซึ่งอาศัยอยู่ตามกิ่งของต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง ต้นไม้ที่เลี้ยงครั่งมีหลายชนิด แต่มีสามารถเลี้ยงครั่งได้ผลดี คือต้นจามจุรี ต้นพุทรา สีที่ย้อมได้จะขึ้นอยู่กับอายุของครั่ง อายุของการเก็บรักษาครั่ง และชนิดของพืชอาศัย สีที่ได้จะมีความแตกต่างกันไปตั้งแต่สีแดงอมม่วง จนถึงสีแดงสด
6. เปลือกประดู่ให้สีน้ำตาล ใช้เปลือกและแก่นต้นมาใช้ในการย้อมสี ปัจจุบันแก่นประดู่ค่อนข้างจะหายากจึงนิยมใช้เฉพาะส่วนของเปลือกต้นด้านในมาใช้ในการย้อมสีแทน โดยลอกเอาเฉพาะเปลือกต้นด้านในนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากให้แห้ง ต้มสกัดสีกรองใช้เฉพาะน้ำนำไปย้อมสี