“LINE Corporation” รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2017 พบว่า 4 ตลาดสำคัญของ LINE ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย มียอดผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน (Monthly Active Users : MAU) โดยรวมอยู่ที่ 168 ล้านคน ลดลงจากไตรมาส 2/2017 มีผู้ใช้งาน 169 ล้านคน และไตรมาส 1/2017 มีผู้ใช้งาน 171 ล้านคน
เมื่อเจาะลึก 3 ตลาด ได้แก่ ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย มียอดผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน อยู่ที่ 97 ล้านคน ลดลง 2 ล้านคนจาก99 ล้านคน ในไตรมาส 2/2017
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น แม้จะมียอดผู้ใช้งาน (Monthly Active Users) เพิ่มขึ้นเป็น 71 ล้านคน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนๆ จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ส่วนยอดผู้ใช้งานทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ที่ 203 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้แอปพลิเคชัน “LINE” มียอดผู้ใช้งานเป็นประจำลดลงนั้น คาดการณ์ว่าส่วนหนึ่เป็นเพราะผู้บริโภคหันไปใช้โปรแกรมแชทอื่น เช่น “Facebook Messenger” ที่ขณะนี้ Facebook หันมาบุกทำตลาดแอปพลิเคชันแชทมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยการพัฒนาทั้งการออกแบบหน้าตาแอปพลิเคชัน และฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น โดยปัจจุบัน Facebook Messenger มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากถึง 1,300 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน “Snapchat” มียอดผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (Daily Active Users : DAU) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส โดยในไตรมาส 2/2017 อยู่ที่ 173 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2017 ซึ่งมีผู้ใช้งาน 166 ล้านคน
ผ่ายุทธศาสตร์ “LINE” ยกระดับเป็นมากกว่าแอปพลิเคชันแชท
ถึงแม้ยอดผู้ใช้งานของ “LINE” ลดลง แต่เมื่อดูผลประกอบการด้านรายได้ในไตรมาส 3/2017 เติบโต 18.4% อยู่ที่ 42,537 ล้านเยน ซึ่งรายได้ที่เติบโตขึ้น โดยหลักมาจากรายได้จากโฆษณา ประมาณกว่า 20,000 ล้านเยน
ขณะเดียวกันยังพบว่า “LINE Pay” เป็นบริการดาวรุ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะในปีนี้ มียอดการทำธุรกรรมเติบโตอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่ไตรมาส 1 มียอดธุรกรรม 21,000 ล้านเยน จากนั้นในช่วง2/2017 ที่มียอดธุรกรรม 105 ล้านเยน และไตรมาส 3 มียอดการทำธุรกรรมเติบโตขึ้น แตะระดับ 115,000 ล้านเยน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “LINE” ยังคงมีผลประกอบการธุรกิจเติบโต มาจากพัฒนาการของ “LINE” ทุกวันนี้ที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงแอปพลิเคชันแชทเท่านั้น หากแต่เป็น Smart Portal ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านคอนเทนต์ เช่น LINE TV และ LINE Today ส่วนด้านบริการ เช่น ดิลิเวอรี่ แพลตฟอร์มอีคอนเมิร์ซ เป็นต้น
เพื่อดึงผู้บริโภคเข้ามาอยู่ใน Business Ecosystem ของ LINE และสร้างรายได้จากหลากหลายทาง ซึ่งช่วยในแง่ของการบริหารความเสี่ยง ไม่พึ่งพาอันใดอันหนึ่งมากเกินไป เพราะหากบริการใดมียอดผู้ใช้ และรายได้ลดลง ก็ยังมีรายได้จากบริการอื่น เช่น บริการ LINE News มีผู้ใช้มากกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก หรือ LINE Music มีรายได้มากกว่า 892 ล้านเยน ขณะที่ LINE Manga มีรายได้กว่า 3,000 ล้านเยน !!!
นอกจากนี้เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา “LINE Corporation” ได้ประกาศวิสัยทัศน์ 5 ปีข้างหน้า ที่ประกอบด้วย 3 แนวคิดในการยกระดับ “LINE” ให้ก้าวไปอีกขั้น ได้แก่
– การเชื่อมต่อทุกบริการเข้าหากัน (Everything Connected) เช่น เพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ในแอปฯ LINE เพื่อสร้างความสนุกสนาน และสีสันในบทสนทนา อีกทั้งยังเป็นเกตเวย์สำหรับการช้อปปิ้ง และจ่ายเงิน ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เช่น LINE Pay อีกไม่นานผู้ใช้จะสามารถส่งเงินให้เพื่อนผ่าน LINE Pay โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนก่อนด้วยบัญชีธนาคาร หรือบัตรประชาชน สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้มากขึ้น
– นำพาบริการเข้าสู่ยุคที่เป็นวิดีโอคอนเทนต์ (Everything Videolized) นอกจากแอปพลิเคชั่นถ่ายรูป B12 และ SNOW LINE ได้เปิดบริการวีดีโอ เช่น LINE LIVE และ LINE TV นอกจากนี้มีบริการ LIVE Video Ads เป็นการให้บริการโฆษณาผ่าน LINE LIVE สำหรับแบรนด์ต่างๆ หรือผู้ไลฟ์ที่ต้องการสร้างรายได้ โดยรายได้มาจากหลายปัจจัย เช่น จำนวนผู้เข้าชม จำนวนการโต้ตอบคอมเม้นท์ และฟังก์ชันอย่างการให้ของขวัญแก่ผู้ไลฟ์ด้วย
– ผู้ช่วยอัจฉริยะในทุกบริการ (Everywhere AI) พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ชื่อว่า “Clova” เป็นผู้ช่วยเสมือนจริงผ่านระบบคลาวด์ (Cloud Virtual Assistant) และเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ชุดแรกของ Clova คือ “Clova App” และ “Smart Speaker Wave” จากนั้นในช่วงหน้าหนาวของปีนี้ เตรียมพบกับอีกหนึ่งลำโพงอัจฉริยะ ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ Clova “Clova Champ” ที่นำสองคาแรกเตอร์ยอดนิยมของ LINE อย่างหมี Brown และเป็ด Sally มาออกแบบเป็นตัวเครื่อง
“AI ถือเป็นโครงการที่สำคัญของ LINE และจะเป็นการพลิกโฉมที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการเกิดของสมาร์ทโฟนที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ระบบ Clova จะเชื่อมต่อบริการของ LINE ทุกอย่างเข้าด้วยกัน และนำพาผู้ใช้งานก้าวไปสู่อนาคตใหม่ ก้าวไกลไปกว่าระบบสัมผัส แสดงภาพ หรือการสืบค้นข้อมูลแบบอัจฉริยะ เราตั้งเป้าที่จะทำให้ Clova ผงาดขึ้นในฐานะ AI ชั้นนำของเอเชีย” คุณทาเคชิ อิเดซาว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LINE Corporation กล่าวถึงยุทธศาสตร์ธุรกิจของ LINE นับจากนี้
ยุทธศาสตร์ใหม่ของ “LINE” เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การสื่อสารในยุคหลังของสมาร์ทโฟน (Post Smartphone Era)