ด้วยความเชื่อที่ว่าการลุกขึ้นมาทำธุรกิจสักอย่างหนึ่งนั้น ต้องมองข้ามจากเรื่องของตัวเอง มาสู่การสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคม ทำให้แบรนด์วันซ์ (ONCE) ถือกำเนิดขึ้น โดยมีแก่นของ Sharing เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ และเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ก่อตั้งจึงได้น้อมนำหลักทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางสำคัญในการนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแข็งแรงและมีความยั่งยืน
“น้องจุ้ย – จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย” ด้วยวัยเพียง 19 ปี กำลังศึกษาปีที่ 3 คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ หรือ BUSEM มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์วันซ์ (ONCE) เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการสร้างความเท่าเทียมทั้งในเรื่องของการเข้าถึงแฟชั่น และการสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ
แบรนด์ ONCE มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จาก 2 ปีก่อน เมื่อทางศูนย์ครีเอทีฟและมหาวิทยาลัยจัดโครงการไอเดียแลกล้าน เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของนักศึกษา โดยที่น้องจุ้ยได้นำแบรนด์ ONCE ส่งเข้าประกวดจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ และได้ทุนสนับสนุนจากโครงการพร้อมทั้งทุนจากมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจจริง
ใช้แฟชั่นเป็นจุดตั้งต้นการแบ่งปัน
ONCE เป็นแบรนด์เสื้อผ้า ภายใต้คอนเซ็ปต์ Fashion for Sharing ด้วยการเพิ่มนวัตกรรมการพิมพ์อักษรเบลล์ ไว้ที่บริเวณด้านหลังของเสื้อ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้ถึงสีและขนาดของเสื้อผ้าแต่ละตัว ทำให้เลือกเสื้อผ้าที่ต้องการจะใส่ได้อย่างถูกต้อง เป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงแฟชั่นได้เหมือนคนทั่วไป และยังต่อยอดไปถึงการสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการทางสายตาให้ได้รับการยอมรับ มีโอกาสได้ทำงานที่ใช้ทักษะความรู้ ความสามารถ เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปด้วย
“คอนเซ็ปต์ในการพัฒนาธุรกิจมาจากปัญหาใกล้ตัวที่เกิดขึ้น เพราะเรามีคุณลุงและคุณป้าเป็นผู้พิการทางสายตา ทำให้ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องการเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับท่านทั้งสอง รวมทั้งมีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดกับเพื่อนๆ ของคุณลุงคุณป้า จึงรับรู้ปัญหาที่เป็นอินไซต์ของผู้พิการทางสายตาจริงๆ เพื่อนำมาเป็นโจทย์ตั้งต้น ประกอบกับความชื่นชอบในเรื่องของแฟชั่นและการออกแบบ นำมาสู่การสร้างแบรนด์ONCE ขึ้นมา โดยมีนวัตกรรมเป็นจุดเด่น เพราะมีการพิมพ์อักษรเบลล์เพื่อสื่อสารกับผู้พิการทางสายตา ที่จะบอกชื่อแบรนด์ สี และขนาดเสื้อ อยู่บริเวณด้านหลังคอเสื้อ”
นอกจากความเท่าเทียมในเรื่องของการเข้าถึงแฟชั่นได้แล้ว โมเดลธุรกิจของ ONCE ยังช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตาได้ด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดสำคัญที่สังคมยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะต่างๆ ทำให้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องประกอบอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ทั้งที่ผู้พิการบางรายมีความรู้ ความสามารถ และมีความรับผิดชอบกับการทำงานได้ดีไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไป ซึ่งเราต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่าเขาสามารถทำงานเหล่านี้ได้
ปัจจุบันแบรนด์ ONCE มีเครือข่ายพนักงานที่เป็นผู้พิการทางสายตาประมาณ 15 คน โดยมี 1 คน ที่เป็นพนักงานประจำ และมีความสามารถถึงระดับผู้จัดการที่ดูแลเกี่ยวกับงานด้าน HR ในการดูแลจัดการบริหารเครือข่าย ทั้งในส่วนของผู้พิการทางสายตา รวมทั้งการดูแลผู้ที่มีสายตาปกติด้วย ขณะที่คนอื่นๆ จะดูแลเกี่ยวกับงานด้านการเป็นพนักงานขายประจำบูธ และในอนาคตถ้ามีการขยายเป็นช็อปที่ถาวร ก็จะให้พนักงานเหล่านี้ไปประจำตามสาขาต่างๆ เพิ่มเติม
บริหารตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากใช้ Passion ในการขับเคลื่อนธุรกิจแล้ว ด้วยแก่นของธุรกิจที่เน้นเรื่องของการ Sharing จึงทำให้น้องจุ้ยอยากเรียนรู้เรื่องของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างให้ธุรกิจให้เติบโตและแข็งแรงอย่างยั่งยืน เพื่อสามารถสานต่อเจตนาในการสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการทางสายตาได้อย่างต่อเนื่อง
“ถ้าธุรกิจของเรามีความแข็งแรง ก็จะสามารถส่งต่อความช่วยเหลือและมอบโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตาได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราวางเป้าหมายในการส่งต่อความช่วยเหลือให้กระจายไปทั่วทั้งประเทศที่มีจำนวนผู้พิการทางสายตาไม่น้อยกว่า 2 แสนคน ทำให้เราอยากเรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำมาปรับใช้กับการบริหารธุรกิจ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างให้ธุรกิจมีความยั่งยืน”
น้องจุ้ยจึงได้นำแบรนด์สมัครเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี เพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจภายใต้ศาสตร์พระราชา โดยนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการคิด Business Plan หรือการวาง Business Model ที่จะต้องมาจากพื้นฐานของการรู้จักตัวเอง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ และดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ผสมผสานกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเป็นหลักในการต่อยอดธุรกิจให้มีความแตกต่าง และได้รับการยอมรับจากตลาด และเป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมได้ด้วย
“การที่เราทำธุรกิจตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ถือเป็นการช่วยสานต่อในสิ่งที่พระองค์ท่านทำไว้ ช่วยสืบสานเจตนารมณ์ของพระองค์ท่านในการสร้างความเข้มแข็งให้สังคม ตามแนวทางของความพอดีที่ภาคธุรกิจจะใช้เพื่อสร้างความแข็งแรงในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง เมื่อเราแข็งแรงมากพอแล้วก็จะสามารถแบ่งปันความช่วยเหลือไปสู่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่มีใครรักแบรนด์ที่เห็นแก่ตัว การทำธุรกิจต้องมองข้ามจากแค่เรื่องของตัวเอง หรือแค่การทำมาค้าขาย ไปสู่การมองว่าธุรกิจของเราให้คุณค่าอะไรกับสังคมนี้ได้บ้าง”
ปัจจุบันธุรกิจของ ONCE ถือได้ว่าอยู่ในช่วงบ่มเพาะและเรียนรู้ตลาด ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของทุนในการขยายธุรกิจ ทำให้ทั้งกำลังผลิต และกำลังในการขยายธุรกิจยังไปได้ไม่ไกลนัก แต่ตามแผนที่วางไว้ภายในปีหน้าONCE จะรุกธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการจดทะเบียนธุรกิจอย่างจริงจัง และขยายช็อปเพื่อจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ และจุดสำคัญๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่เข้าใจและมีทัศนคติที่ดีในเรื่องของการ Sharing เช่น ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต, สยามพารากอน และออฟฟิศสำนักงานต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปผ่าน Facebook : theonceproject
ทุกมิติคือเรื่องราวและสัญลักษณ์
สำหรับแบรนด์ ONCE นั้น น้องจุ้ยเล่าว่า มาจากคำว่า “Once upon a time” ซึ่งมักจะใช้เป็นคำขึ้นต้นของนิทานทุกๆ เรื่อง และตามธรรมชาติที่เรามักจะได้ยินนิทานมาจากคนที่เรารัก จึงให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ความรู้สึกแบบ Feel Good ในทุกครั้งที่ได้ยิน เช่นเดียวกับสิ่งที่ ONCE ต้องการจะบอกกับสังคมถึงเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการเล่าในมิติที่ฟังแล้วมีความสุข ชื่นชมและยอมรับกับความสามารถและพร้อมที่จะแบ่งปันความช่วยเหลือให้แก่คนเหล่านี้
“การพูดถึงคนที่พิการทางสายตาเราไม่จำเป็นต้องเล่าด้วยความน่าสงสาร ความเวทนา หรือเน้นขายดราม่า แต่เป็นการชื่นชมความสามารถที่คนเหล่านี้ทำได้ และช่วยสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นกับพวกเขาในแบบที่จับต้องได้ ผ่านแบรนด์ของเรา เพราะนอกจากช่วยสร้างอาชีพแล้ว เรายังนำรายได้ 30% ไปต่อยอดโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้พิการทางสายตาในด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อส่งต่อโอกาสและความช่วยเหลือให้ขยายออกไปได้มากยิ่งขึ้น”
ธุรกิจของเราพยายามให้ผู้พิการทางสายตาเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ กระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการรับฟังความคิดเห็น หรือมองหาความต้องการมาต่อยอดในทางธุรกิจ การพัฒนารูปแบบอักษรเบลล์ที่อยู่ด้านหลังเสื้อให้มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับการสื่อสาร ทำให้สามารถอ่านได้อย่างชัดเจนภายในนิ้วเดียว หรือการนำรายได้จากธุรกิจไปทำกิจกรรมหรือซื้อของที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้พิการทางสายตา เป็นต้น
ในส่วนของคอลเลคชั่นต่างๆ จะเน้นความเรียบง่ายแต่มีความหมาย และช่วยสื่อสาร Purpose ของแบรนด์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เช่น คอลเลคชั่นแรกที่ทำจะเป็นเครื่องหมายเท่ากับ (=) เพื่อต้องการสะท้อนถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับผู้พิการทางสายตา หรือคอลเลคชั่นรูปไม้เท้า ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ช่วยนำพาคนเหล่านี้ไปได้ในทุกๆ ที่ที่ต้องการ ส่วนสีที่ใช้จะเน้นสีที่เป็นโมโนโทน เช่น ดำ เทา ขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการมองเห็นอีกด้วย
“ในอนาคตจะพัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับดีไซน์ให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้งขยายทาร์เก็ตไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น เช่น ปัจจุบันเน้นขายเสื้อยืด ราคาตัวละ 490 บาท ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเสื้อโปโล หรือใช้เนื้อผ้าในการตัดเย็บที่คุณภาพสูงขึ้น เพื่อขยับไปสู่ตลาดที่พรีเมียมมากขึ้น เพราะเสื้อของเราไม่ได้จำกัดให้ผู้พิการทางสายตาใส่เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถใส่ได้อย่างภูมิใจด้วยเช่นกัน”
ขณะที่ช่องทางจำหน่ายปัจจุบันมีทั้งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และจากการไปออกบูธตามงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยรายได้ 30% มาจากช่องทางออนไลน์ และ 70% จากการออกบูธ แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของทุนทำให้กำลังผลิตยังไม่สามารถขยายได้เต็มที่มากนัก โดยที่ผ่านมา น้องจุ้ยพยายามนำแบรนด์ไปนำเสนอในโครงการสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจ เพื่อนำทุนที่ได้มาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
แม้ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี บนเส้นทางของการปลุกปั้นธุรกิจ จะมีปัญหาและอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเรื่องของเงินทุน รวมทั้งสถานะที่ยังคงเป็นนักศึกษาอยู่ ทำให้ต้องแบ่งและจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด แต่เพราะเป็นธุรกิจที่เกิดจาก Passion จริงๆ รวมทั้งมีเป้าหมายใหญ่ที่ไม่ได้ต้องการทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน แต่เป็นการสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการทางสายตาที่มีอยู่เป็นหลักแสนคนที่รออยู่ทั่วประเทศ ทำให้น้องจุ้ยต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่า “เราหยุดไม่ได้”
“สิ่งที่เราบอกกับตัวเองคือ เราไม่ได้สร้างแค่เสื้อผ้า แต่เรากำลังสร้างคน และสร้างให้คนอื่นๆ เข้าใจผู้พิการทางสายตามากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นมาได้ โดยอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของ ONCE คือ การสร้างให้คนมีทัศนคติที่ดีในเรื่องของการ Sharing และเปิดใจยอมรับความสามารถของผู้พิการ โดยมีแบรนด์ของเราเป็นสื่อกลางและคอยเชื่อมโยงโอกาสต่างๆ ให้ไปถึงผู้พิการทางสายตาได้อย่างเท่าเทียมกัน”