HomeBrand Move !!เมื่อใครๆ ก็อยากทำโรงพยาบาล รายเดิมต้องสู้อย่างไร? พร้อมกลยุทธ์ขับเคลื่อนพญาไท 2

เมื่อใครๆ ก็อยากทำโรงพยาบาล รายเดิมต้องสู้อย่างไร? พร้อมกลยุทธ์ขับเคลื่อนพญาไท 2

แชร์ :

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของปี 2560 เนื่องจากโอกาสที่มาพร้อมกับแนวโน้มในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น บวกกับกระแสการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเองจึงได้รับอานิสสงส์ในการเติบโตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ด้วยจำนวนประชากรในประเทศที่อายุ 60 ปีขึ้นไปราว 20% ทั่วทั้งประเทศ ประกอบกับแรงสนับสนุนจากนโยบายผลักดันประเทศไปสู่การเป็น Medical Hub ในภูมิภาค เนื่องจากคุณภาพการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล แต่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าในสิงคโปร์หรือสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการให้บริการที่ดีกว่า ส่งผลไปสู่การต่อยอดการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism หรือ Wellness Tourism ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังคงอยู่ในทิศทางที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตัวเลขเม็ดเงินจาก Medical Hub ของปี 2560 เฉพาะที่เป็นส่วนของค่ารักษาพยาบาลโดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

และหากพิจารณาข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์จะพบว่า ปี 2559 ที่ผ่านมามูลค่าธุรกิจโดยรวมยังคงเติบโตได้มากกว่า 7%  ทำรายได้รวมได้กว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหากพิจารณาตัวเลขกำไรสุทธิจะพบว่า แต่ละรายมีกำไรในระดับ 2 หลักแทบทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีกระแสข่าวกลุ่มทุนขนาดใหญ่ชั้นนำของประเทศหลายรายเริ่มมีแผนที่จะขยับขยายธุรกิจมาทำโรงพยาบาลกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหา หรือธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งรูปแบบการลงทุนด้วยตัวเอง หรือการเข้าไปถือหุ้นหรือซื้อกิจการจากผู้ประกอบการรายเดิมก็ตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลที่ดุเดือดอยู่แล้วยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มธุรกิจเครือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่อยู่ในตลาดและยังมีแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่ต่อจากนี้จะเริ่มเห็นการทยอยเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลเดิมๆ ที่อยู่ในตลาดก็จะต้องหาวิธีตั้งรับและปรับตัว เพื่อให้ยังคงอยู่รอดให้ได้ ท่ามกลางคลื่นแห่งการแข่งขันที่น่าจะมีขนาดใหญ่และถาโถมรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

รพ. พญาไท 2 สู้ด้วย Patient Centric    

นายแพทย์อนันตศักดิ์  อภัยรัตน์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พญาไท 2 หนึ่งในเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่าง BDMS หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่รายได้จากทั้งเครือรวมกันเกือบ 50% ของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งประเทศ กล่าวถึงการที่มีกลุ่มทุนต่างๆ เข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเอกชนมากขึ้นว่า ในมุมหนึ่งถือว่าดีต่อผู้บริโภคเพราะมีทางเลือกในการรักษาให้เข้าถึงได้มากขึ้น และทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการรักษาคนไข้ได้มากขึ้น

แต่การเข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องดูแลสุขภาพและชีวิตของผู้คน ทำให้ต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพ ความมีมาตรฐาน และความสามารถในการรักษาโรค (Outcome) ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน ไม่ใช่แค่มีเงินมากพอสำหรับจัดซื้อเครื่องมือตรวจรักษา หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถพัฒนาองค์ประกอบที่เป็น Internal  ของแต่ละแห่ง เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานที่เป็นสากล

“บริบทในการรักษาทุกวันนี้แตกต่างไปจากเดิม ความท้าทายในการทำธุรกิจโรงพยาบาลมีหลายเรื่องที่ต้องคำนึงถึง คนไข้ที่เข้ามารักษาจะมองหลายๆ อย่างประกอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพการรักษา การให้บริการ การมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากที่ก่อนหน้านี้หลายๆ โรงพยาบาลมักจะโฆษณาเพื่อบอกถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่สิ่งเหล่านี้ทุกโรงพยาบาลที่มีเงินก็สามารถหาซื้อได้เช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้ชี้วัดได้ว่าจะสามารถทำธุรกิจโรงพยาบาลให้ประสบความสำเร็จได้ หรือแม้แต่การซื้อตัวคุณหมอมา แต่ความพร้อมในการรักษาและประสบการณ์ต่างๆ อาจจะไม่ทัดเทียมกับโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการมานานกว่า”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พญาไท 2  กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญในการรับมือการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วยการยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง หรือ Patient Centric  เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่เน้นการใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง  แต่ Customer ของโรงพยาบาลคือ คนไข้ ซึ่งจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวกว่าธุรกิจอื่นๆ เนื่องจาก ลูกค้าจะมีความเปราะบางทั้งทางร่างกายและจิตใจ  อ่อนไหวง่ายกว่าลูกค้าในธุรกิจอื่น การสร้างความมั่นใจ และเข้าใจลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากการมาโรงพยาบาลคือ คุณภาพและมาตรฐานในการรักษาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ควบคู่ไปกับเรื่องการให้บริการด้วยความเข้าใจ ธุรกิจโรงพยาบาลจึงมีเรื่องของชีวิตและสุขภาพของคนไข้ที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา ขณะที่ผู้เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยหรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ต่างจากธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าไปใช้บริการด้วยความสุข คุณภาพและมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ประกอบกับประสบการณ์ในการรักษามากว่า 30 ปี  ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น รวมทั้งการไม่หยุดพัฒนา ทำให้คนไข้เกิดความให้ความไว้วางใจและมั่นใจที่จะเข้ามาใช้บริการ”

ทุ่ม 600 ล้าน มุ่งสู่ Center of Excellence  

อีกหนึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนโรงพยาบาลพญาไท 2 คือ การโฟกัสการรักษาในเชิง Vertical หรือให้ความสำคัญกับการรักษาโรคที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น หรือต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงลึกในการรักษา เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือการเป็น Center of Excellence รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานโรงพยาบาลให้ได้รับการยอมรับเทียบชั้นระดับโลก โดยเฉพาะการเป็นโรงพยาบาลเพียงรายเดียวได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI ฉบับที่ 6 จากสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยตอกย้ำประสิทธิภาพของกระบวนการในการรักษา รวมทั้งทีมแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

ตามเป้าหมาย รพ. พญาไท 2 จะขับเคลื่อนโรงพยาบาลไปสู่ Center of Excellence ภายในปี 2020 เพื่อยกระดับโรงพยาบาลให้เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์ คำนึงถึงสิทธิ์ของผู้ป่วย คุณภาพการรักษาและบริการที่ดี ตามมาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงพยาบาลนานาชาติระดับโลก ภายใต้งบประมาณตั้งแต่ปี 2016 -2020 จำนวน 600 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาในส่วนของ Facility รวมทั้งการปรับปรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 50% งบสำหรับการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 30%  รวมทั้งงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะแลความเชี่ยวชาญรองรับทิศทางที่โรงพยาบาลจะมุ่งไป 20%

“การมีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งมากขึ้น การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานในการรักษาจะมีบทบาทมากขึ้น โดยขณะนี้พญาไท 2 ได้พัฒนาจนมีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ สมอง อุบัติเหตุ อาชีวอนามัย โดยตามแผนจะพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติมภายในปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาของทั้งเครือ ขณะที่ในส่วนของโรงพยาบาลเองจะเพิ่มการพัฒนาเกี่ยวกับโรคทางด้านกระดูก และศูนย์สุขภาพเด็กเพิ่มเติมด้วย”

ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างชาติ   

หลังการปรับตัวของโรงพยาบาลพญาไท 2 ให้มีภาพความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น ทำให้มีกลุ่มลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 17% โดยเฉพาะฐานลูกค้าที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดจากพม่า และบังคลาเทศ ที่เติบโตถึง 70% จากเดิมที่รายได้ของสองประเทศนี้อยู่ที่ราว 60-70 ล้านบาท โดยทางโรงพยาบาลตั้งเป้ามีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 20% จากยอดรายได้สิ้นปีนี้ 4 พันล้านบาท และคาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาท พร้อมมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2020

“จุดเด่นของเราคือมาตรฐานในการให้บริการที่เทียบชั้นสิงคโปร์  แต่ค่ารักษาถูกกว่าถึง 30% เมื่อเทียบกับการรักษาในโรคประเภทเดียวกัน รวมทั้งจุดเด่นในเรื่องของการให้บริการแบบไทย ที่เน้นดูแลผู้ป่วยเหมือนญาติพี่น้องในครอบครัว ทำให้เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ โดยกลุ่มที่เป็นเป้าหมายหลักของทางโรงพยาบาลคือ CLMV และจีน”

แผนการโฟกัสลูกค้าต่างชาติมากขึ้นของโรงพยาบาลพญาไท 2 สอดคล้องกับข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปี 2559 ที่พบว่าชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการการแพทย์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเป็นกลุ่มผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีน จำนวนกว่า 12 ล้านคน รวมทั้งการขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกลุ่มที่เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล ทำให้สถานพยาบาลระดับโลกต่างๆ ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่รักษาโรคเท่านั้น แต่ขยายไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และฟื้นฟูสภาพ กลายเป็นโอกาสของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งในเรื่องของบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีและการจัดการที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งบริการที่ครบวงจร ในราคาสมเหตุผล

อย่างไรก็ตาม  หนึ่งปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ยังไม่สามารถแก้ได้มาจนถึงปัจจุบัน คือ การขาดแคลนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์เฉพาะทาง แม้ว่าปัจจุบันจะสามารถผลิตแพทย์ได้มากขึ้นเป็นปีละประมาณ 3 พันกว่าคน จากเมื่อหลายสิบปีก่อนผลิตได้เพียง 500 กว่าคน แต่เนื่องจากการขยายตัวที่มากขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาล รวมทั้งความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ในธุรกิจอื่น ทำให้มีบางส่วนออกไปสู่สายงานอื่นๆ ด้วย ทำให้อัตราหมอต่อคนไข้อยู่ที่ราว 1 ต่อ 7-8 พันคน ขณะที่พยาบาลอยู่ที่ 1 ต่อ 1 พันคน และยังไม่สามารถผลิตให้เพิ่มมากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการได้ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายในการผลักดันประเทศไปสู่  Medical Hub  ของภูมิภาค


แชร์ :

You may also like