HomeBrand Move !!“ReTuna Återbruksgalleria” ห้างขายสินค้ารีไซเคิลแรกของโลก ปฏิวัติชอปปิงสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ReTuna Återbruksgalleria” ห้างขายสินค้ารีไซเคิลแรกของโลก ปฏิวัติชอปปิงสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน

แชร์ :

ในประเทศสวีเดน ที่เมือง Eskilstuna มีห้างสรรพสินค้าใหม่เกิดขึ้น ชื่อว่า “ReTuna Återbruksgalleria” เป็นที่สนใจของชาวเมือง ที่เข้ามาดูและซื้อสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ดูเผินๆ ก็ไม่น่าแตกต่างจากห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าในเมืองไทย หรือประเทศอื่น แต่ถ้าเจาะลึกที่มาที่ไป และเมื่อเดินเข้าไป จะพบว่า “ReTuna Återbruksgalleria” มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าที่ไหนๆ ในโลก นั่นเพราะ “ReTuna Återbruksgalleria” เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของโลก ที่ขายแต่ “สินค้ารีไซเคิล” (Recycle) และ “อัพไซเคิล” (Upcycle) เท่านั้น !!

ปฏิวัติการช้อปปิ้ง! ห้างฯ ที่มีแต่สินค้ารีไซเคิล-อัพไซเคิล

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“ReTuna Återbruksgalleria” เปิดให้บริการเมื่อสิงหาคม 2015 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าแรกของโลกที่จำหน่ายแต่สินค้ารีไซเคิล และอัพไซเคิลเท่านั้น (รีไซเคิล คือ กระบวนการจัดการสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว หรือขยะ นำไปแปรสภาพเป็นวัสดุใหม่ที่สามารถนำไปผลิตเป็นของใช้อื่นๆ เช่น ขวดพลาสติก PET นำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อทำเป็นเส้นใยพลาสติก สำหรับนำไปทำเป็นรองเท้า ส่วนอัพไซเคิล คือ การนำสิ่งของ-เศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาซ่อมแซมให้กลับไปใช้งานได้เหมือนเดิม หรือนำไปดัดแปลงกลายเป็นของใช้รูปแบบใหม่)

ภายในประกอบด้วย 14 ร้านค้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น และช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญด้านรีไซเคิล-อัพไซเคิล ร้านอาหาร โซนนิทรรศการ ห้องประชุมสัมมนา พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ขณะที่สินค้ารีไซเคิล และอัพไซเคิลที่ขายใน “ReTuna Återbruksgalleria” มาจากการที่ประชาชนนำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว และต้องการทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น นำไปไว้ที่คลังของห้างสรรพสินค้า จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดแยกสิ่งของต่างๆ ที่ประชาชนนำมาทิ้งไว้ เพื่อตรวจสอบดูว่าสิ่งของชิ้นไหนสามารถนำไปรีไซเคิล และชิ้นไหนนำไปทำอัพไซเคิลได้

หลังจากผ่านกระบวนการคัดแยกในครั้งแรกแล้ว สิ่งของรายการต่างๆ จะถูกกระจายไปยังร้านค้าภายในห้างฯ เพื่อพนักงานร้านจะทำการคัดแยกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งพนักงานจะเลือกสิ่งของที่ยังคงสามารถรีไซเคิล หรือซ่อมแซม ดัดแปลง เพื่อชุบชีวิตสิ่งของจากที่เคยเป็นขยะ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก แล้วจึงวางจำหน่ายภายในร้าน

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา “ReTuna Återbruksgalleria” สามารถทำยอดขายจากสินค้ารีไซเคิล และอัพไซเคิลเหล่านี้ มากถึง 8,100 ล้านโครนสวีเดน !!

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการตั้ง “ReTuna Återbruksgalleria” ต้องการให้เป็น “มากกว่า” มาร์เก็ตเพลสที่ขายสินค้าต่างๆ หากแต่ต้องการเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านความยั่งยืน” เพื่อเป็นต้นแบบด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านสินค้าทำมาจากรีไซเคิล และอัพไซเคิล การจัดสัมมนา จัดอีเว้นท์ และเรียนรู้การทำรีไซเคิล และอัพไซเคิลสิ่งของต่างๆ รวมทั้งมีบริการร้านอาหารกลางวันที่เสิร์ฟแต่อาหารทำจากวัตถุดิบออแกนิก

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” ลดการสิ้นเปลืองด้านทรัพยากร-สร้างความยั่งยืนให้โลก

คอนเซ็ปต์ของ “ReTuna Återbruksgalleria” ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) และทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ และคุ้มค่าในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อรู้สึกดีว่าตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ปัจจุบันระบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) เป็นโมเดลที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เช่น ประเทศในฝั่งยุโรป เป็นต้น โดยหน่วยงาน “Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์” เผยแพร่บทความ “Circular Economy : พลิกวิกฤติทรัพยากรด้วยระบบเศรษฐกิจใหม่” อธิบายจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจระบบนี้ มาจากการเล็งเห็นถึงท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม ทำให้แนวคิดระบบ Circular Economy ถูกกล่าวถึงอีกครั้ง

เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภคด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) และสนับสนุนการใช้ซ้ำ (reuse) ซึ่งต่างจาก “Linear Economy” ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำไรของระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่านั้น

แนวคิด Circular Economy ตั้งอยู่บนหลักการ 3 ข้อ ได้แก่
1. การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ
2. การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์
3. การรักษาประสิทธิภาพของระบบด้วยการระบุและลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุด

หลักการทั้ง 3 ข้อ ทำให้เกิดลักษณะสำคัญของ Circular Economy คือ การทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีขยะ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการที่ราคาสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง

โดยเมื่อวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต (manufacturing) และกระจายไปยังผู้บริโภคแล้ว (distribution) สิ่งที่เหลือจากการบริโภค (use and disposal) จะถูกนำกลับไปจัดสรรใหม่ (reuse/redistribution) หรือนำกลับสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง (re-manufacturing/Recycle) เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ

 

(อ่านบทความ Circular Economy: พลิกวิกฤติทรัพยากรด้วยระบบเศรษฐกิจใหม่เพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

Source

Source

Photo Credit : ReTuna Återbruksgalleria


แชร์ :

You may also like