สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA จัดเวที Women’s Leadership Forum 2017 – Thailand โดยร่วมกับสถาบัน International Association of Exhibitions and Events (IAEE) ประเทศสหรัฐอเมริกา เชิญผู้หญิงประสบความสำเร็จจากหลากหลายสาขาอาชีพ เผยมุมมอง และแนวคิดจากประสบการณ์ ทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต เพื่อช่วยเปิดมุมมองให้ได้เข้าใจแนวคิดของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ที่มีความมั่นใจ มีความสามารถ โดยจะช่วยสะท้อนให้เกิดการตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการเดินทางก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ และประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหน้าที่ใดก็ตาม
วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง PwC ว่า จากที่องค์การสหประชาชาติมีโปรแกรม He for She Bob Moritz Global เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในแนวคิดปฏิบัติไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ โดยจะใช้พลังเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันให้มากขึ้น พบว่าประเทศที่ยอมให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานและสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้คือไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ ส่วนอีก 2 ประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทำงานน้อยคือเกาหลีและเยอรมนี ทั้งนี้จากการสำรวจผู้บริหารทั่วโลก 6.3 หมื่นคน จาก 170 ประเทศ แนวโน้มองค์กรต่างๆ เปิดรับสมัครผู้หญิงเข้าทำงานมากขึ้น
ซีอีโอของบริษัทฯได้ตอบสนองโปรแกรม โดยส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงที่ร่วมงานกับองค์กร เริ่มจากการเปิดรับสมัครพนักงานหญิงเพิ่มมากขึ้น และบริษัทฯทุกประเทศจะให้โอกาสผู้หญิงได้ทำงานเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเพิ่มความยืดหยุ่นเวลาทำงานให้กับผู้หญิงที่เป็นคุณแม่ที่ต้องแบ่งเวลาให้กับการดูแลครอบครัว ไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานเมื่อมีลูก โดยเปิดโอกาสให้สามารถเลือกเวลาและสถานที่ทำงาน จะเป็นเวลาไหน ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติงานที่ออฟฟิศ โปรแกรมนี้ช่วยให้คุณแม่ที่จำเป็นต้องใช้เวลารับผิดชอบหน้าที่และการงานนอกบ้าน สามารถบริหารจัดการได้อย่างลงตัว ไร้ปัญหาชีวิต จุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มระดับความสุขแก่พนักงาน จะนำพามาซึ่งประสิทธิภาพในการทำงาน ขึ้นกับเงื่อนไขที่ตกลงไว้ ถือเป็นแรงจูงใจที่ดีต่อทุกคน
ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยผลักดันให้ผู้หญิงก้าวขึ้นเป็นผู้นำในองค์กรได้นั้น คือ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดคอนเนกชั่นในการทำงานเพิ่มมากขึ้น หลังเลิกงานผู้หญิงควรได้มีโอกาสใช้เวลาสังสรรค์นอกบ้านบ้าง เพื่อพบปะพูดคุย เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง สำหรับแนวคิดดังกล่าวประเทศในแถบอาเซียนยังมีน้อย เนื่องจากหลังเลิกงานผู้หญิงจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวมากกว่า
Women’s Journey in a Changing World
กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการและกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการธุรกิจมีความหลากหลายมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ได้เปิดแนวคิดว่าการเรียนหนังสือไม่เก่งก็สามารถก้าวหน้าได้ ความก้าวหน้าของผู้หญิงอยู่ที่ตัวเองเป็นที่ตั้ง หากต้องการก้าวหน้าเหมือนผู้ชาย อะไรที่ผู้ชายทำได้เราก็จะต้องพยายามทำให้ได้เช่นกัน ผู้หญิงต้องทำให้ได้ทุกอย่างแบบไร้ข้อจำกัดในการทำงาน ส่วนบทบาทผู้หญิงในตำแหน่งหัวหน้างานนั้น ต้องแสดงความเป็นผู้นำให้ชัดเจน หากมีเรื่องให้ตัดสินใจก็ควรต้องตัดสินใจ อาทิเช่น การเป็นหัวหน้างาน การบริหารบุคคลในทีม หากมีความจำเป็นต้องให้คนในองค์กรโยกย้าย หรือปรับเปลี่ยน แม้จะเป็นเรื่องยากทำให้เกิดภาวะเครียด กังวล หรือลำบากใจก็ตาม ก็ต้องทำให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ การตัดสินใจผิดพลาดนั้น อาจต้องพบเจออยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ให้มองเป็นเรื่องปกติ แต่ควรเกิดการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่กลับไปทำซ้ำ และแก้ไขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทุกคนต้องปรับตัวและไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เรามักจะได้ยินกันเสมอว่า” ทัศนคติการทำงานของคนรุ่นใหม่คนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายไม่มี ความเชื่อมั่นและภักดี (Loyalty) ต่อองค์กรนั้น” มองว่าเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันเร็วขึ้น และมากขึ้น ดังนั้นในฐานะผู้นำองค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดย ต้องทำให้คนทำงานมีความสุข มีอิสระในการทำงาน มีความท้าทายในการทำงาน และมอบอำนาจให้คิดและตัดสินใจ จะทำให้คนทำงานอยู่ในองค์กรนานขึ้น ข้อแนะนำในการทำงานให้ก้าวหน้าคือ 1) ต้องเข้าใจความต้องการของตัวเอง จะเลือกความก้าวหน้าในอาชีพหรือครอบครัว ถ้าเลือกครอบครัวก็ทำงานไปเรื่อยๆ ก้าวหน้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่เป็นไร 2) ต้องถามตัวเองถึงความต้องการว่าอยากได้อะไร แล้วแสดงตัวตนให้ชัดเจนในบางครั้งหากมีโอกาสที่เหมาะสม อย่าทำตัวเป็นวอลล์เปเปอร์ และจำเป็นต้องมีเครือข่าย หัวหน้างานต้องส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ การทำงานจำเป็นต้องพิจารณาจากขีดความสามารถในปัจจุบัน และอนาคต ไม่ควรพิจารณาจากเรื่องเพศชายเพศหญิง เพราะชายกับหญิงมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มากจนเกินไป
หลักการทำงานคือจริงจังกับการทำงาน เต็มที่กับการทำงานเมื่ออยู่ออฟฟิศ ทำงานกี่ชั่วโมงก็ได้ในออฟฟิศ แต่จะไม่เอางานกลับมาทำที่บ้านเพราะจะให้เพิ่มความเครียด วันหยุดจะไม่ทำงาน ลืมงานให้หมด ซึ่ง 99%จะปล่อยให้จิตใจสบายแล้วกลับมาอีกครั้งในวันถัดไป ทำให้ทุกเช้าวันจันทร์อยากกลับมาทำงาน ที่สำคัญ การทำงานอย่าทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อให้องค์กรดี แล้วเราจะได้เอง อะไรที่ไม่ดีต่อองค์กร แต่ดีต่อตัวเองจะไม่ทำ การทำงานมีความท้าทายตลอดไม่อยากแพ้คู่แข่ง ซึ่งบางทีแพ้ แต่จะลุกขึ้นสู้ใหม่ตลอด ทำธุรกิจจะทำให้ดี อะไรปรับปรุงได้จะปรับ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา งานและครอบครัวจะต้องสมดุลกัน แม้ในความเป็นจริง ผู้ที่เป็นผู้นำองค์กรจะมีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง แต่ต้องพยายามใช้เวลาทีมีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด