หลังจาก Twitter เผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างหนัก จากการขาดทุน 116 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2 ของปีนี้ รวมทั้งการที่จำนวนผู้ใช้งานไม่เติบโตขึ้นเลย ทำให้มี User อยู่ประมาณ 328 เท่าๆ กับจำนวนเดิม ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Facebook มีผู้ใช้งานถึง 2 พันล้านแอคเคานท์เข้าไปแล้ว ทวิตเตอร์จึงต้องเพิ่มความดึงดูดของตัวเองได้มากขึ้น ล่าสุดจึงมาพร้อมกับการปรับตัวครั้งสำคัญ 2 เรื่อง โดยทางทวิตเตอร์จะเน้นไปในเรื่องการเป็นเครื่องมือติดตามกระแสข่าวและคอนเทนท์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มจากการเปิดตัวเมนู “Popular Articles” เลือกข่าวเด่นเป็นกระแส และบทความยอดนิยม ณ ช่วงนั้นๆ มาแนะนำให้อ่าน ซึ่ง “ความนิยม” นี้วัดจากยอดการถูก Re-Tweet (คล้ายการแชร์) และการกดหัวใจ (คล้ายการกดไลค์) จากเฟซบุ๊ก
“Popular Articles” นี้ จะโชว์ใต้ช่องค้นหาเมื่อมีการเสิร์ช โดยอิงกับเรื่องที่เราเสิร์ชนั่นเอง โดยจะเป็นโพสต์ที่มีลิงค์บทความให้อ่านต่อด้วย
แน่นอนว่าฟีเจอร์นี้ช่วยให้ทวิตเตอร์ใช้เสิร์ชหาข่าวต่างๆ ได้มากขึ้น มีคอนเทนท์น่าอ่านมากขึ้น
แต่ในระยะยาว ไม่แน่ว่าอาจมีการเพิ่มพื้นที่โฆษณามาแทรกระหว่างข่าวต่างๆ โดยเป็นโฆษณาซึ่งเกี่ยวกับคำที่เราเสิร์ช คล้ายกับระบบในกูเกิลก็เป็นได้
ฟีเจอร์ “Popular Articles” นี้ทยอยมีแล้วในแอปพลิเคชั่น ทวิตเตอร์ทั้งบน iOS และ Android ที่อัพเดตล่าสุด
อีกการอัพเดตใหญ่ที่สร้างความฮือฮาก็คือ เริ่มขยายโควตาจากเดิมไม่เกิน 140 ตัวอักษรต่อการโพสต์(ทวีต)เพิ่มเท่าตัวมาเป็น 280 ตัวอักษร
แต่ทั้งนี้จะทยอยทดลอง เปิดให้ใช้ทีละกลุ่มก่อน จึงยังมีอีกหลายคนและหลายธุรกิจ ที่ยังต้องทนจำกัดจำเขี่ยกันต่อไปการเปลี่ยนแปลงตัวเองในครั้งนี้ของทวิตเตอร์เกิดจากการใช้ตัวอักษรในภาษาจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งการทวีตในภาษาเหล่านี้ มีความแตกต่างจากการทวีตด้วยภาษาในกลุ่มตระกูล Roman Character (ถ้าเป็นเหตุผลนี้ก็คงรวมถึงภาษาไทยด้วย) การเปลี่ยนแปลงนี้ น่าจะช่วยดึงดูดผู้ใช้งานให้หันมาใช้ได้มากขึ้น แต่หลายคนก็ชอบที่ทวิตเตอร์จำกัดความสั้นแบบนี้ เพราะช่วยให้อ่านง่าย และกวาดตาเก็บข้อความทวีตได้ครั้งละมากๆ รวมทั้งทำให้สูญเสียคาแร็กเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของทวิตเตอร์ไปหรือเปล่า
นอกจากฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดใช้แล้ว ก็ยังมีข่าวการซุ่มทดลองอื่นๆ ของทางทีมงานทวิตเตอร์ด้วย เช่น มีรายงานพบว่าทีมงานทวิตเตอร์กำลังทดลองอนุญาตให้โพสต์ทวีตได้ยาวไม่จำกัด แต่จะมีระบบอัตโนมัติมาช่วย “หั่น” แบ่งข้อความยาวๆนั้นเป็น (1), (2), (3), … เรื่อยไปจนจบ
…อย่างไรก็ตามระบบตัดแบ่งข้อความนี้ยังเป็นแค่การทดลองภายใน และยังไม่แน่ว่าจะใช้จริง ต่างจาก 2 อัพเดตแรกในข่าวนี้ที่ทยอยใช้จริงแล้ว
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าความพยายามขนาดนี้จะช่วยให้ธุรกิจของทวิตเตอร์รุ่งเรืองมีโฆษณาเข้ามาได้มากขึ้นหรือไม่
แปลและเรียบเรียงโดย: Somkid Anektaweepon