HomeBrand Move !!10 เรื่องของ IKEA บางใหญ่ สโตร์ที่ใหญ่ที่สุดใน SEA และเป็นสโตร์แรกของโลกที่มีเคาน์เตอร์จ่ายตังค์ทุกชั้น

10 เรื่องของ IKEA บางใหญ่ สโตร์ที่ใหญ่ที่สุดใน SEA และเป็นสโตร์แรกของโลกที่มีเคาน์เตอร์จ่ายตังค์ทุกชั้น

แชร์ :

วันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา IKEA สาขาบางใหญ่ ทำพิธี “ปิดหลังคา”(Roof Capping Ceremony) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเสร็จสิ้นงานก่อสร้างบ้านหรืออาคารของชาวสวีดิช พร้อมกันนี้เป็นการประกาศความพร้อมว่า เดือนมีนาคมปี 2561 คนบางใหญ่และกรุงเทพโซนตะวันตก จะได้พบกับอิเกีย สโตร์ที่ 2 ในประเทศไทยอย่างแน่นอน และนี่คือ  10 เรื่องของ  IKEA บางใหญ่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อิเกียเพิ่งเปิดสาขาใหม่ที่ยะโฮร์บาห์รู ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ซึ่งนับว่าเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนนี้ แต่สาขาแห่งนี้จะใหญ่สุดได้เพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น เพราะเมื่ออิเกีย บางใหญ่เปิดในเดือนมีนาคม 2561 ก็จะกลายเป็นอิเกียที่ใหญ่ที่สุดแทนที่ทันที

2. อิเกีย บางใหญ่จะเป็น IKEA Store ที่ 423 และเป็นสาขาที่พิเศษสุด ด้วยการออกแบบให้ที่จุดชำระเงินทุกชั้น (ที่อิเกีย จะเรียกเคาน์เตอร์จ่ายเงินว่า check-point) แทนที่จะเป็นจุดเดียว ซึ่งลูกค้าต้องเดินทางโชว์รูม และ Market Hall ยาวววววววววว กว่าจะได้จ่ายเงิน ซึ่ง IKEA บางใหญ่จะเป็นสาขาแรกของโลกที่มีเคาน์เตอร์จ่ายเงินทุกชั้น เมื่อครั้งที่ คุณโทมัส สปิวท อิริคสัน หัวหน้าฝ่ายจัดจ้างและบริหารจัด อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินทางมาประเทศไทยเมื่อต้นปี 2560 ได้ให้สัมภษษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เพื่อนร่วมงาน(พนักงาน) ของอิเกีย จะมีส่วนในการออกแบบสาขา เพราะเราเชื่อว่าคนท้องถิ่นมีความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากกว่า ทั้งนี้ต้องมีคาแร็กเตอร์ และรูปแบบของอิเกียอยู่”  รวมทั้งก่อนที่อิเกียจะเปิดสาขาก็มีการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานห้องครัว ห้องน้ำ ไปจนกระทั่งพฤติกรรมการมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อนที่จะดีไซน์โชว์รูมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกค้า

ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงดีไซน์ขนานใหญ่ในครั้งนี้ก็คงเป็นผลมาจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย ว่าอยากจะเดินแบบสั้นๆ มากกว่า ใช้เวลาในสโตร์นานๆ

คุณโทมัส ไฟรเบิร์ก ผู้จัดการสโตร์อิเกีย บางใหญ่ กล่าวว่า “เราต้องการให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพิ่มความสะดวกสบาย เพราะเราเองก็เป็นแบรนด์ที่สร้างสรรค์โปรดักท์ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้คน รูปแบบสโตร์แบบนี้จะเพิ่มการเข้ามาของลูกค้าที่รู้อยู่แล้วว่าต้องการสินค้าอะไร เข้ามาหยิบสินค้าจ่ายเงินและกลับออกไป หรือแม้แต่ไปทานอาหาร”

3. โดยเฉลี่ยลูกค้าอิเกียทั่วโลก จะใช้เวลาในอิเกีย 61 นาที แต่การออกแบบสโตร์ในลักษณะนี้ น่าจะทำให้ระยะเวลาสั้นลง

4. นอกเหนือจากการที่จุดจ่ายเงินเยอะกว่าที่ไหนๆ แล้ว “อาหาร” เป็นอีก 1 ไฮไลต์ของสาขานี้ ที่ดีไซน์มาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ เพราะมีร้านอาหาร 2 ร้าน เพิ่มขึ้นจากบางนาที่จุดเดียว และยังมีจุดที่ขายเครื่องดื่ม Soft Drink ทุกชั้น

5.  อิเกีย บางใหญ่ ใช้เวลาก่อสร้างนาน 21 เดือน มีพื้นที่ทั้งหมด 50,278 ตร.ม. / ที่จอดรถ 1,900 คัน/ ห้องตัวอย่าง(Showroom) 41 ห้อง/ มีเคาน์เตอร์จ่ายเงินทั้งหมด 29 เคาน์เตอร์ ในทุกชั้น จากเดิม อิเกีย บางนา มี 26 เคาน์เตอร์ที่จุดเดียว / มีทางเข้าทั้งหมด 6 จุด 3 จุดเชื่อมมาจากเซ็นทรัล เวสเกต 3 ชั้น ที่เหลือเป็นทางเข้าจากจุดจอดรถและจุด Drop-off สำหรับคนที่เดินทางมาด้วยรถสาธารณะ/ ประชากรโดยรอบที่เดินทางมาถึง อิเกียภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงด้วยรถยนต์ส่วนตัวมีถึง 7.3 ล้านคน 

6. คุณโทมัส ไฟรเบิร์ก ผู้จัดการสโตร์คนแรกของอิเกีย บางใหญ่ ก่อนหน้าที่เขาจะมาเป็นผู้จัดการสโตร์ที่นี่ เขามีประสบการณ์เป็นผู้จัดการที่สาขาในสวีเดน และญีปุ่นมาก่อน

7. คุณแยป ดูร์นบวส รองผู้อำนวยการธุรกิจค้าปลีก อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า “กรุงเทพเป็นเมืองใหญ่ เรายังคงมองหาพื้นที่เปิดสโตร์แห่งใหม่รองรับคนกรุงเทพ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าที่ไหน และเมื่อไหร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเล ขนาดของที่ๆ เราได้มา  ที่ผ่านมาเพื่อเราลงทุน เรามองไปที่การลงทุนระยะยาวไม่แค่แค่ 1-3   ปี และแนวโน้มการแข่งขันในประเทศไทยเรามองเห็นเทรนด์ที่ดี การซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่ซื้อชิ้นเดียวแล้วใช้ตลอดไป แต่มีการซื้อเพื่อทำให้การใช้ชีวิตดีขึ้น ส่วนเทรนด์รีเทลก็เป็นไปตามเทรนด์ของโลก ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ผู้นำ แต่ก็เกาะกระแสเหล่านั้น ทั้งเรื่องการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ที่น่าจะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เราพร้อมที่จะประยุกต์เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในตลาดเมืองไทย และข้อดีก็คือ เรามีเวลาที่จะศึกษา”

โทมัส ไฟรเบิร์ก ผู้จัดการสโตร์คนแรกของอิเกีย บางใหญ่ (ซ้าย) แยป ดูร์นบวส รองผู้อำนวยการธุรกิจค้าปลีก อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ขวา)

8.สาขาแห่งนี้สร้างงาน 450 ตำแหน่ง และที่ BrandBuffet เคยนำเสนอนโยบายการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน (อ่านต่อคลิกที่นี่) สรุปว่าสาขานี้มีพนักงานอายุ 60+ เข้ามาทำงานด้วย 2 ท่าน

9. จุดเด่นอีกอย่างของ IKEA สาขานี้ คือ เรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการติดตั้ง Solar Cell ซึ่งให้พลังงานถึง 1.5 MW ซึ่งเท่ากับ 13% ของพลังงานที่ใช้ในสโตร์ เป็นห้างค้าปลีกแห่งแรกในไทยที่ได้รับการรับรองขั้นสูงสุดด้านมาตรฐานอาคารเขียว จาก LEED (เกณฑ์การประเมินสิ่งก่อสร้างด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม)

10. หลังจาก อิเกีย บางใหญ่เปิดอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปีหน้า IKEA  คาดหวังว่าจะมียอด Visitor รวมทั้งหมด 7.8 ล้านราย ในปี 2561 และหลังจากนั้น IKEA จะเดินหน้าลุยเรื่อง E-Commerce ซึ่งตอนนี้ทดลองแล้วที่สิงคโปร์และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงเตรียมพร้อมเปิดบริการนี้ในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 หลังจากนั้นในปี 2562 ก็คาดว่าจะมี Visitor ทั้งปี 10 ล้านคน แบ่งเป็นจาก บางนา 4 ล้านคน บางใหญ่ 4 ล้านคน และจากช่องทางออนไลน์ 2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม รูปแบบอีคอมเมิร์ซของอิเกียเป็นการสั่งซื้อ แล้วอิเกียจะจัดส่งสินค้าขนาดเล็กผ่านทางไปรษณีย์ ส่วนสินค้าชิ้นใหญ่จะใช้บริการส่งของที่อิเกียมีอยู่แล้ว โดยคิดค่าบริการจัดส่งตามระยะทาง จึงเป็นที่น่าสังเกตุว่าโมเดลแบบนี้อาจจะเหมาะกับสิงคโปร์ซึ่งมีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก และอิเกียก็มีสโตร์อยู่ 2 แห่งที่นั้น ส่วนในประเทศไทย นอกจากอีคอมเมิรซ์ที่จะเดินหน้าไปแล้ว อิเกียยังวางแผนเปิดจุด Pick-Up สินค้าแบบเดียวกับที่ภูเก็ต (อ่านต่อคิลกที่นี่) ซึ่งเน้นจุดที่เชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้า ให้มีทั้งหมด 5 จุดตามหัวเมืองใหญ่ภายใน 5 ปี เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องติดตามกันว่า E-Commerce ของอิเกีย จะรุ่งไหม ในประเทศไทย


แชร์ :

You may also like