การเติบโตการใช้งานมือถือที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมมากับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานโซเชียลมีเดีย บริการสตรีมมิ่ง ดูทีวีผ่านมือถือ ดีแทคได้เร่งขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเร่งขยายโครงข่ายที่สูงที่สุดตั้งแต่ดีแทคดำเนินธุรกิจมายาวนาน
นอกจากสัญญาณที่ต้องครอบคลุมพื้นที่แล้ว ดีแทคยังเพิ่มความหนาแน่นของเสาสัญญาณในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานสูง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
ดิจิทัลเปลี่ยนโฉมการขยายเสาสัญญาณ
จากรูปแบบเดิมในการหาพื้นที่ติดตั้งเสาสัญญาณจะทำจากฝ่ายผู้ให้บริการฝ่ายเดียว โดยจัดทีมงานลงพื้นที่ เพื่อหาสถานที่และบริเวณที่เหมาะสม กำหนดเป็นจุดตั้งเสาเพื่อรองรับการใช้บริการ ซึ่งบางพื้นที่จะประสบปัญหา (pain point) คือ ที่ดินบริเวณเหมาะสมในการติดตั้งเสา หรืออาคารสถานที่นั้นจะไม่สามารถหาผู้ที่เป็นกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและมีอำนาจตามกฎหมายที่จะเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่ติดตั้งเสาได้ ดังนั้นภารกิจการขยายเสาสัญญาณให้ตรงกับความต้องการใช้งานและการหาพื้นที่ติดตั้งอย่างเร่งด่วน ทำให้พนักงานดีแทคมองเห็นจุดที่แตกต่างจากเดิม และนำเสนอด้วยการพลิกกลยุทธ์สู่รูปแบบแนวคิดของความร่วมมือจากลุ่มคนจำนวนมาก (Crowdsourcing) มาลดปัญหาหรืออุปสรรคในการหาพื้นที่ติดตั้งเสาสัญญาณ ด้วยวิธีการที่นำโจทย์คือการหาพื้นที่ส่งผ่านไปยังกลุ่มคนจำนวนมากที่เปิดโอกาสร่วมสร้างสรรค์คำตอบหรือแก้ปัญหาร่วมกัน
โครงการ Flip for Site จึงได้เกิดขึ้น โดยนำเทคโนโลยีแจ้งพิกัด (Location-based) มาเชื่อมโยงให้ผู้ใช้งานหรือเจ้าของสถานที่ สามารถนำเสนอพื้นที่ของตนมายังดีแทค เพื่อแจ้งให้ดีแทคสามารถทราบพิกัดที่แน่นอนของพื้นที่ที่สามารถขยายเสาสัญญาณได้ โดยผู้แจ้งสามารถทำรายการผ่านเว็บไซต์ด้วยโปรแกรมง่ายๆ ทำให้การส่งพิกัดตำแหน่งสถานที่สามารถทำได้แบบแม่นยำ โดยทีมงานดีแทคจะนำพิกัดที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกับแผนขยายโครงข่าย วิเคราะห์จุดขยายสัญญาณร่วมกับบริเวณที่เป็นโซลูชั่นส์ของแผนงาน จากนั้นจึงมุ่งสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่จริง จึงทำให้การติดตั้งเสารวดเร็วขึ้นอย่างมาก
เสียงจากทุกคนพลิกเป็นเสียงที่มีส่วนร่วมขยายเสาสัญญาณ
โครงการ Flip for Site ประสบความสำเร็จและพลิกความท้าทายในการวางแผนขยายเสาสัญญาณจำนวนมากของดีแทค โดยทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้นถึง 3 เท่า ในการหาพื้นที่ขยายสัญญาณ และทุกจุดที่มีผู้เสนอเข้ามาจะถูกนำไปจะพิจารณาประกอบกับแผนพัฒนาโครงข่ายดีแทคในทันที และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลพื้นที่ติดตั้งเสา (Land Bank Database) ขนาดใหญ่ เพื่อจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการหาสถานที่ตั้งโครงข่ายต่อไปอย่างรวดเร็ว
นายบุญชัย ตันติวุฒิพงศ์ พนักงานดีแทค หนึ่งในทีมที่คิดริเริ่มโครงการ Flip for Site กล่าวว่า “โครงการ Flip for Site พลิกไอเดียใหม่นี้เป็นครั้งแรกของการใช้แนวคิดความร่วมมือจากลุ่มคนจำนวนมาก (Crowdsourcing) มาช่วยในการหาพื้นที่ติดตั้งเสาของวงการโทรคมนาคม ทำให้ผู้ใช้งานหรือประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) โดยดีแทคสามารถดำเนินการขยายเสาสัญญาณได้เพิ่มขึ้น เร็วขึ้น เพื่อรองรับบริการในจุดต่างๆ โดยวันนี้มีผู้เสนอจุดติดตั้งเสาสัญญาณเกือบ 8,000 แห่ง โดยผู้ที่เสนอพื้นที่ยังได้รับเงิน 10,000 บาท เมื่อพื้นที่นั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของการติดตั้งเสาสัญญาณดีแทคอีกด้วย”
นายนท นิ่มสมบุญ ประชาชนทั่วไป หนึ่งในผู้สนใจที่เข้าร่วมโครงการและเป็นเจ้าของผู้ให้เช่าที่ดินตั้งเสา Flip for Site พูดถึงโครงการนี้ว่า “ดีแทคได้จัดโครงการแบบนี้ขึ้นมา ทำให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการขยายสัญญาณของดีแทคสู่ผู้ใช้งาน โดยพื้นที่ที่นำเสนอดีแทคในการตั้งเสาคือพื้นที่แถวรังสิต คลอง 7 ซึ่งเป็นย่านโรงงาน และชุมชนต่างๆ นอกจากพื้นที่ติดตั้งเสาที่เสนอไปจะได้ใช้ประโยชน์โดยมีรายได้จากค่าเช่าแล้ว ชุมชนแถวนี้ก็ได้ใช้สัญญาณมือถือที่ดีขึ้นอีกด้วย”
โดยล่าสุดดีแทคได้ติดตั้งเสาสัญญาณจากโครงการ Flip for Site บนอาคารที่ตั้งซอยอิสรภาพ 33 ย่านฝั่งธนบุรี เพื่อขยายสัญญาณทั้ง 4G และ 3G สู่ชุมชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งสัญญาณที่เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ผู้ใช้งานเส้นทางจราจรโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้มีประสบการณ์ใช้งานบนมือถือได้ดียิ่งขึ้น
จากโครงการนี้ จะเห็นได้ว่าดีแทคได้เร่งขยายสัญญาณอย่างต่อเนื่อง และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างเสาสัญญาณของดีแทคที่ได้รับการเสนอพื้นที่ติดตั้งจากผู้ใช้งานหรือประชาชนทั่วไปในโครงการ Flip for Site เพื่อขยายสัญญาณสู่การใช้งานจริง