ภาคธุรกิจขนาดเล็กและกลางในประเทศไทย หรือกลุ่ม SME เป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ทำให้หลายๆ ฝ่ายให้ความสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมองค์ความรู้ การเข้าถึงแหล่งทุน หรือการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดให้ธุรกิจเติบโต
โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่เครื่องมือดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก สอดคล้องกับกระแสการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ซึ่งข้อมูลจากกูเกิลระบุว่า ดิจิทัลจะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตได้ถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 โดยในส่วนนี้จะเป็นมูลค่าเศรษฐกิจของไทยราว 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากความแข็งแรงด้านโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยที่สูงถึง 45 ล้านคน
คุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจอย่างมาก และมีส่วนช่วยในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระดับประเทศและในแต่ละธุรกิจเอง ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาจะพบว่า ธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลจะมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงกว่าธุรกิจที่ไม่ใช้ถึง 9% มีกำไรโดยเฉลี่ยมากกว่า 16% และหากเป็นบริษัทจดทะเบียนจะมี Market Value มากกว่าถึง 12%
แต่หากพิจารณาเฉพาะประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SME ที่มีการจดทะเบียนธุรกิจไว้เกือบ 3 ล้านราย ซึ่ง 71% ของกลุ่ม SME นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจในกลุ่มธุรกิจ Retail อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจบริการต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง แต่กลับพบว่ามีธุรกิจมากกว่า 80% ที่ยังไม่ได้นำประโยชน์ของดิจิทัลมาใช้กับธุรกิจที่ทำอยู่ ส่วนใหญ่ยังเลือกใช้วิธีการทำตลาดแบบเดิมๆ รอให้ลูกค้าเข้ามาหาด้วยตัวเอง รวมทั้งมีเพียง 13% หรือราว 5 แสนรายเท่านั้น ที่มีเว็บไซต์ของตัวเองและสามารถค้นหาได้พบบนโลกออนไลน์
“เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่มองว่าการสร้างเว็บไซต์มีราคาสูง มีความซับซ้อนในการใช้งาน และต้องใช้เวลาในการพัฒนานาน ทำให้ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำตลาดด้วยวิธีเดิมๆ เป็นหลัก ขณะที่ในมุมของลูกค้า แม้พฤติกรรมส่วนใหญ่จะ Go Digital แต่ก็ไม่สามารถใช้ E-Commerce ได้ทั้งหมด เพราะบางส่วนยังต้องการ Experience จาก Physical Store และไปรับบริการต่างๆ ด้วยตัวเอง การพบข้อมูลของร้านค้าที่ตัวเองต้องการ จากการเสิร์ชและสามารถนำทางไปได้ถูกต้องจึงมีความสำคัญ โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การค้นหาคำว่า “ร้าน” มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว Google จึงพัฒนาเครื่องมือใหม่บนแพลตฟอร์ม Google My Business (GMB) เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้ใช้งานมากขึ้น”
GMB ช่วยสร้างเว็บไซต์ฟรี พร้อมเป็นที่ปรึกษา
Google My Business เริ่มเปิดตัวในประเทศไทยพร้อมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2014 พร้อมด้วย Key Benefit ทั้งการทำให้ธุรกิจสามารถถูกค้นพบจาก Google Search และนำทางไปโดย Google Map ซึ่งเข้าถึงผู้ใช้งานทั่วโลกได้มากกว่า 1 พันล้านคน รวมทั้งผู้ประกอบการสามารถสร้าง Engage ต่างๆ กับผู้บริโภค รวมทั้งนำข้อมูลอินไซต์หรือฟีดแบคต่างๆ ที่ได้จากลูกค้ามาใช้ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากเปิดตัวก็มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้งานเติบโตได้ถึง 120%
ส่วนฟีเจอร์ใหม่ที่พัฒนาขึ้น คือ ผู้ประกอบการที่สมัครใช้งานสามารถสร้างเว็บไซต์ของร้านค้าได้ด้วยตัวเอง จากระบบที่มีให้ จึงสามารถสร้างหน้าเว็บไซต์ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที และสามารถรับโดเมนฟรีได้จาก Google หรือเลือกซื้อโดเมนที่ต้องการได้ โดยสามารถเข้าไปจัดการอัพเดท หรือแก้ไขข้อมูลต่างๆ ได้ทั้งจากสมาร์ทโฟน และเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งมีส่วนที่เป็น Promotion Post ที่สามารถใส่รูปและข้อความเพื่อกระตุ้นลูกค้าได้มากขึ้น รวมทั้งยังมี Call Center 1800-012-722 เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีปัญหาในการใช้งาน
“ทุกฟังก์ชั่นที่พัฒนาเพิ่มขึ้นใน GMB เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเจ้าของธุรกิจรวมทั้งลูกค้า โดยทุกอย่างเป็นบริการฟรี และช่วยให้ผู้ประกอบการมีเครื่องมือในการทำ Digital Marketing ที่มีศักยภาพ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและอัพเดทอยู่เสมอจากเจ้าของร้าน พร้อมทั้งเพิ่มการ Engage กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง Google จะกระตุ้นให้มีผู้เข้ามาใช้งาน GMB มากขึ้น ผ่านการใช้ Influencer ที่ได้ใช้งานจริง”