หลังจากเปิดตัว “คุณวุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ล่าสุดได้เผยวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ “โรบินสัน” นับจากนี้ ยังคงยืนอยู่บน 3 เสาธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ธุรกิจศูนย์การค้า และกลุ่มธุรกิจ Brand Management ที่ประกอบด้วยไพรเวทแบรนด์ แฟรนไชส์แบรนด์ และแบรนด์ที่ซื้อเข้ามาไว้ในพอร์ตโฟลิโอ
โดยทั้ง 3 เสาธุรกิจนี้มีความเชื่อมโยงกัน และแสดงให้เห็นถึงพลัง Synergy ของบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล เพราะในจังหวัดหลัก หรือโลเคชันที่เป็น Prime Area “ซีพีเอ็น” บริษัทในเครือเซ็นทรัล ไปเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล บางโลเคชันจะเลือก “ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน” เข้าไปด้วย ขณะที่จังหวัดรอง หรือโลเคชันรอง จะใช้โมเดล “ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์” เป็นตัวรุกขยายสาขา
นอกจากนี้ในทุกสาขาของโรบินสัน ไม่ว่าเป็นห้างฯ หรือศูนย์การค้าโรบินสัน จะต้องผนึกแบรนด์ของตนเองเข้าไป ทั้งไพรเวทแบรนด์ แฟรนไชส์แบรนด์ และแบรนด์ที่ซื้อมา เป็นหนึ่งในสินค้าและบริการหลักของโรบินสันทุกสาขา ทุกสโตร์ ฟอร์แมต เพราะแบรนด์ในกลุ่มสินค้าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของโรบินสัน เป็นกลยุทธ์ในการสร้าง “Store Loyalty” ในกลุ่มลูกค้า และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
9 เดือน รายได้-กำไรโตจากค่าเช่า ทั้งสาขาเดิม และสาขาใหม่
คุณวุฒิเกียรติ ฉายภาพผลประกอบการไตรมาส 3 “บมจ.โรบินสัน” ว่ามีรายได้รวม เพิ่มขึ้น 4.2% รวมทั้งมีกำไรสุทธิ เติบโต 19.8% ส่งผลให้ผลประกอบการรวมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 1.3% และมีกำไรสุทธิโต 6.4% โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รายได้ และกำไรเติบโต มาจากการเติบโตของรายได้ค่าเช่า ทั้งจากสาขาเดิม และการขยายสาขาล่าสุดอย่างศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งปรับปรุงสาขา ในรูปแบบศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ 2 สาขา คือ สาขาสระบุรี และราชบุรี
ประกอบกับการปรับเปลี่ยนกลุ่มสินค้า โดยมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเติม เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคของกลุ่มลูกค้ามีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ตอกย้ำเจ้าแห่ง “ดีพาร์ทเมนต์สโตร์” เมืองไทย
“โรบินสัน” วางแผนเปิดสาขาต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจรีเทลทั่วโลก ค้าปลีกเซ็กเมนต์ “ดีพาร์ทเมนต์สโตร์” จะอยู่ในช่วงถดถอย โดยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นห้างสรรพสินค้าทยอยปิดตัวกันเป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจากการบูมของอีคอมเมิร์ซ ส่งผลต่อพฤติกรรมการชอปปิงของผู้บริโภค
แต่สำหรับทิศทางธุรกิจดีพาร์ทเมนต์สโตร์ในไทย ยังไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหมือนกับสหรัฐฯ เพราะด้วยภาพรวมค้าปลีกไทย Dominate โดยยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งมีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ที่มีกลุ่มธุรกิจ “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล” และ “บมจ.โรบินสัน” รวมทั้ง “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ที่มีส่วนธุรกิจห้างสรรพสินค้า ทำให้ “ดีพาร์ทเมนต์สโตร์” ในไทย ยังเดินหน้าขยายสาขา
ปัจจุบัน “โรบินสัน” มีสาขาในรูปแบบ “ดีพาร์ทเมนต์สโตร์” 25 สาขา จากทั้งหมด 44 สาขา ถือเป็น Retailer ที่มีสาขาห้างฯ มากที่สุดในไทย นอกจากนี้ในพฤศจิกายนจะเปิดสาขาในเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย ด้วยงบลงทุน 600 ล้านบาท บนพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร เหตุผลที่เลือกเปิดที่มหาชัย เพราะเป็นเมืองใหญ่ มีศักยภาพสูง เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจประมง และห้องเย็น ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อีกทั้งในโซนนี้ยังไม่มีดีพาร์ทเมนต์สโตร์ และชอปปิงมอลล์ จึงเป็นโอกาสทางการลงทุน
ความน่าสนใจของ “โรบินสัน สาขามหาชัย” คือ การปรับโฉมร้าน Multi-brand เครื่องสำอาง “HELLO BEAUTY” สู่การเป็น “Multi-Brands Store 360°” บนพื้นที่ 900 ตารางเมตร เพื่อต้องการให้เป็น Beauty Destination ที่ครบวงจรแบบ One Stop Service ทั้งสินค้าสุขภาพ และความงามกว่า 500 แบรนด์
“ธุรกิจดีพาร์ทเมนต์สโตร์ในไทย ยังอยู่ในทิศทางที่มีโอกาส และแม้อีคอมเมิร์ซจะเติบโต แต่สำหรับดีพาร์ทเมนต์สโตร์ในไทย ยังมีเวลาในการปรับตัว ซึ่งก่อนหน้านั้นเราจะเห็นแบรนด์สินค้าต่างๆ ออกจากพื้นที่ห้างฯ เพื่อไปเปิดแบรนด์ ช้อป แต่เวลานี้แบรนด์ที่ออกไปเปิดช้อป เริ่มกลับมาเปิดคอร์เนอร์ขายในห้างฯ เพราะต้นทุนการขายในพื้นที่ห้างฯ ถูกกว่าการเปิดช้อป”
เปิด 3 ฟอร์แมต “ไลฟ์สไตล์ มอลล์” ไปที่ไหน ต้องใหญ่กว่าผู้เล่นที่อยู่มาก่อน
นอกจากเปิดห้างสรรพสินค้าแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของ “โรบินสัน” คือ ชอปปิงมอลล์ ภายใต้ชื่อ “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ มอลล์” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “EAT SHOP PLAY” ปัจจุบันมี 19 สาขา
ปัจจุบัน Store Format ของศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ มี 3 รูปแบบ คือ
1. รูปแบบใหญ่ (Size L) พื้นที่ 37,000 ตารางเมตรขึ้นไป เช่น สาขาสระบุรี ศรีสมาน ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ
2. รูปแบบกลาง (Size M) พื้นที่ 35,000 ตารางเมตร เช่น สาขาสกลนคร ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร
3. รูปแบบ Compact Size พื้นที่ 28,000 – 30,000 ตารางเมตร โดยเป็นโมเดลใหม่ที่นำมาใช้พัฒนากับสาขา “กำแพงเพชร” ที่จะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นโรบินสันสาขา 46 สาขา และเป็นสาขาลำดับที่ 20 ในรูปแบบศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ โดยสาขานี้มีงบลงทุนการ 800 ล้านบาท บนพื้นที่ 28,000 ตารางเมตร
“วันนี้เรามี Store Format 3 รูปแบบ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการขยายสาขา โดยสามารถนำ Store Format ที่มีไปลงให้เหมาะสมกับแต่ละโลเคชัน ซึ่งกลยุทธ์การขยายสาขาของโรบินสัน เราต้องไปใหญ่กว่าคนที่อยู่มาก่อน เพราะเวลาเราไปเปิดสาขาที่ไหน เราต้องการให้ผู้บริโภคเกิดการ Switching ให้มาเดินที่โรบินสัน
ทิศทางการขยาย “ไลฟ์สไตล์มอลล์” เน้นต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ และเรากำลังศึกษาว่าบางจังหวัดสามารถมีโรบินสันได้ 2 แห่ง โดยเมืองใหญ่ อาจนำรูปแบบ Compact Size ไปเปิดในอำเภอ เพราะบางอำเภอของประเทศไทย ก็มีขนาดใหญ่กว่าบางจังหวัด ทำให้จังหวัดนั้นๆ มีโรบินสัน 2 แห่ง และต่อไปคาดว่ารูปแบบ Compact Size จะเปิดเพิ่มมากขึ้น”
โดยในปี 2561 เตรียมขยายไลฟ์สไตล์มอลล์เพิ่มในต่างจังหวัดอีก 2 สาขา หนึ่งในนั้นคือ ชลบุรี เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรหนาแน่น และมีกำลังซื้อ ซึ่งทั้ง 2 สาขา จะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2 และ 4
รุกสร้าง 4 กลุ่มสินค้าไพรเวทแบรนด์
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ “โรบินสัน” มีแผนการรุกตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ธุรกิจ โดยชู “4 กลุ่มสินค้าไพรเวทแบรนด์” เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคอนเซ็ปต์โดนใจที่เน้นในเรื่องของคุณภาพ และความคุ้มค่า คุ้มราคาเป็นหลัก ได้แก่
– Just Buy สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ชอปราคาเดียวของโรบินสัน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวของแบรนด์ที่สำคัญ คือ การขยายสาขาในรูปแบบช็อป Stand Alone ในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นแห่งแรกที่สาขาบางใหญ่ โดยกลุ่มสินค้ามีความหลากหลายขึ้น อาทิ กลุ่มสินค้าของใช้ในบ้าน กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าเครื่องเขียนและของขวัญ และกลุ่มสินค้าสำหรับจัดงานปาร์ตี้รื่นเริง
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประเภทสินค้าที่มีราคามากกว่า 60 บาท เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าอีกด้วย โดยจะมีสาขาของ Just Buy เปิดให้บริการในปลายปีนี้ รวมเป็น 45 สาขา
– Great Value อีกหนึ่งสินค้าไพรเวทแบรนด์ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘365 วันราคาเดียว’ ที่มียอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 มีแผนจะเพิ่มประเภทกลุ่มสินค้าให้มีความหลากลายมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน เอาท์ดอร์ลีฟวิ่ง และโฮมออฟฟิศ รวมทั้งขยายพื้นที่การให้บริการของร้านเป็น 1,000 ตารางเมตรที่โรบินสัน ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ เป็นที่แรก ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้
รวมทั้งตั้งเป้าที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 10 สาขา ในโรบินสัน รวมเป็น 30 สาขา ในปลายปี 2560 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้ากลุ่มโฮม โดยการผนึกกำลังระหว่างแบรนด์ Great Value และ Cuizimate ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าของใช้ในบ้านของโรบินสันที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำของ ‘โฮม เดสติเนชั่น’ อย่างแท้จริง
– Payless ShoeSource ร้านรองเท้ามัลติแบรนด์ สินค้าที่วางจำหน่ายจะเน้นกลุ่มสินค้า Sneaker ที่ผ่านมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะในต่างจังหวัด โดยตั้งเป้าในปีนี้ จะมีสาขา 41 สาขา
– Baby shop ร้านสินค้าแฟชั่นสำหรับเด็ก มีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต โดยในปลายปีนี้ตั้งเป้ามีสาขารวมเป็น 9 สาขา
“ในปี 2017 โรบินสันจะมี 46 สาขา แบ่งเป็นโมเดลศูนย์การค้า 20 สาขา และดีพาร์ทเมนต์สโตร์ 26 สาขา ส่วนในปี 2018 จะมีสาขาทั้งหมด 48 สาขา ขณะที่ปี 2019 – 2020 จะเปิดสาขาใหม่ไม่ต่ำกว่า 2 – 3 สาขาต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ โดยต่อไปจะเน้นขยาย “ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์” เป็นหลัก โดยเฉพาะ Store Format ขนาดกลาง และขนาดเล็ก (Compact Size) เพราะฉะนั้นคาดว่าเมื่อถึงปี 2020 โรบินสันจะมีสาขารวมกัน 55 สาขา โดยในจำนวนนี้เป็นโมเดลศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ 25 สาขา
ช่วงเวลานี้นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาแห่งการแข่งขันในตลาดค้าปลีกที่สำคัญของโรบินสัน ซึ่งเราจะเดินหน้ารุกตลาดค้าปลีกอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแง่ของการขยายสาขา การบริหารจัดการแบรนด์สินค้า และการวางกลยุทธ์แผนการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ขององค์กรให้เหมาะสม รวดเร็วกับสภาวการณ์แข่งขันในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันได้อย่างตรงจุด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของโรบินสัน” คุณวุฒิเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
FYI
จำนวนสาขา “โรบินสัน” ทั่วประเทศ
ปี 2011 25 สาขา
ปี 2012 30 สาขา
ปี 2013 34 สาขา
ปี 2014 39 สาขา
ปี 2015 42 สาขา
ปี 2016 44 สาขา
ปี 2017 46 สาขา
ปี 2018 48 สาขา
จำนวนสาขาของ Brand Management ปี 2017
– Payless Shoesource 41 สาขา
– Babyshop 9 สาขา
– Just buy 45 สาขา
– Great Value 30 สาขา